ระนอง - จัดหางานระนองสนธิกำลังตรวจสอบแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ในโรงงานผลิตอาหารทะเลแช่แข็งรายใหญ่ที่สุดของจังหวัดระนอง แต่ไม่พบแรงงานผิดกฎหมาย
เมื่อเวลา 09.30 น.วันนี้ (3 ส.ค.) เจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดระนองได้สนธิกำลังร่วมกับทหารหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 25 กองกำลังเทพสตรี ตำรวจตระเวนชายแดน หน่วยปฏิบัติการพิเศษตำรวจภูธรจังหวัด เจ้าหน้าที่อาสารักษาดินแดน หรือ อส.จังหวัดระนอง และเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองระนอง รวมประมาณ 50 นาย แบ่งเป็น 3 ชุด ชุดที่ 1 นำโดยนายสมคิด เพชรประสมกุล นักวิชาการแรงงานชำนาญการ ชุดที่ 2 นำโดยนายวิน ดวงแข นักวิชาการแรงงานชำนาญการ และนายสันติ นันตสุวรรณ นักวิชาการแรงงานชำนาญการ นำกำลังเข้าตรวจสอบแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ที่บริษัท สยามชัยอาหารสากล จำกัด หรือซิปโก้ หมู่ที่ 2 ต.บางริ้น อ.เมืองระนอง ซึ่งเป็นโรงงานผลิตอาหารทะเลแช่แข็งส่งออกรายใหญ่ที่สุดในจังหวัดระนอง
ทันทีที่เจ้าหน้าที่ไปถึงหน้าประตูโรงงานที่ 2 ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ รปภ.ของโรงงานไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปในบริเวณโรงงาน โดยให้ส่งตัวแทนไปชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้บริหารของโรงงานก่อน ต่อมานายอรเทพ อินทรสกุล จัดหางานจังหวัดระนองได้เดินทางไปเจรจาและทำความเข้าใจกับผู้บริหารของโรงงานถึงความจำเป็นในการขอตรวจสอบแรงงานต่างด้าวหลังจากสิ้นสุดการจดทะเบียนและยื่นขออนุญาตทำงานเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2554 เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย
จนในที่สุดทางโรงงานได้อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบแรงงานต่างด้าวได้ แต่ไม่อนุญาตให้เข้าไปในตัวโรงงานซึ่งเป็นไลน์การผลิต แต่ให้แรงงานต่างด้าวออกมาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายนอกอาคารแทน โดยแบ่งเป็นชุดๆ เพื่อไม่ให้ระบบการผลิตเสียหาย ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงจึงเสร็จสิ้น ปรากฏว่าไม่พบแรงงานผิดกฎหมายแต่อย่างใด
สำหรับบริษัท สยามชัยอาหารสากล จำกัด หรือซิปโก้ มีพนักงานประมาณ 3,400 คน แรงงานไทยประมาณ 500 คน และแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่าประมาณ 2,900 คน ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งทางบริษัทยืนยันว่าได้จดทะเบียนครบ 100 % และพร้อมให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ตลอดเวลา
นายอรเทพ อินทรสกุล จัดหางานจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า การเข้าตรวจสอบแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในสถานประกอบการ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของเจ้าพนักงาน ไม่มีเจตนากลั่นแกล้งใคร ซึ่งหลังสิ้นสุดการจดทะเบียนและยื่นขอใบอนุญาตทำงานแล้ว นับจากนี้ไปเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องจัดชุดปฏิบัติการ ออกสุ่มตรวจสอบแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายตามสถานประกอบการต่างๆ โดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่หรือรายย่อย เพื่อให้เห็นความแตกต่างระหว่างผู้ใช้แรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย กับผู้ใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย
นายอรเทพกล่าวว่า นายจ้าง และแรงงานต่างด้าวเพิกเฉยไม่ดำเนินการยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานภายในระยะเวลาที่กำหนด ย่อมมีความผิดและต้องระวางโทษตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 กล่าวคือ ผู้ใดรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงานมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวหนึ่งคน, ผู้ใดรับคนต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงานแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานกับตนเอง ให้คนต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงานอื่นนอกเหนือจากประเภทหรือลักษณะงานที่ระบุไว้ในใบอนุญาต ณ ท้องที่ หรือสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
คนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, คนต่างด้าวไม่ทำงานตามประเภทหรือลักษณะงานและกับนายจ้าง ณ ท้องที่หรือสถานที่และเงื่อนไขตามที่ได้รับอนุญาตมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522
กล่าวคือ ผู้ใดนำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการอุปการะหรือช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่คนต่างด้าวให้เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท, ผู้ใดให้คนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองเข้าพักอาศัย ซ่อนเร้นหรือช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุม มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 50,000 บาท และเป็นบุคคลต่างด้าวเดินทางเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือการอนุญาตสิ้นสุดหรือถูกเพิกถอน มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 20,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงขอให้นายจ้าง/ผู้ประกอบการและแรงงานต่างด้าวปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วย