วุฒิฯ เรียกร้อง มท.คืนปืนให้หมู่บ้าน อพป. อ้างเพื่อนำไปปราบยาเสพติด ขณะที่ “สมชาย” แฉรัฐบาลไม่ดำเนินการตามนโยบายแทรกแซงสื่อ ปิดรายการฝ่ายตรงข้าม เตรียมปลดบอร์ด อสมท ขณะเดียวกัน รมต.ยังหารือกับวิทยุชุมชนแดงเล่นงานสื่อที่ไม่อยู่ข้างเดียวกัน “คำนูณ” จี้รัฐบาลแจ้งที่มากองทุนความมั่นคงแห่งชาติ เกรงต้องแก้ พ.ร.บ.เงินตราหากจะเอาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้
การประชุมวุฒิสภา วันนี้ (22 ส.ค.) ซึ่งมี พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุม ประธานได้เปิดโอกาสให้สมาชิกหารือ โดยนายนายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร กล่าวว่า หมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.) จำนวนมากได้ร้องขอให้คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน (วุฒิสภา) ดำเนินการกรณีกระทรวงมหาดไทยได้เรียกคืนปืน อพป.มาไว้ทีส่วนกลางโดยอ้างว่าเอามาซ่อมแซม และตรวจสอบเป็นเวลายังไม่จัดส่งคืนให้หมู่บ้าน เนื่องจากมีหมู่บ้านมีความจำเป็นในการรักษาความปลอดภัย โดยเฉพาะปัจจุบันมีความจำเป็นเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากนโยบายปราบปรามยาเสพติดจึงขอให้ประธานฯ ประสานไปยังกระทรวงมหาดไทยให้เร่งส่งคืนปืน อคป.ยังหมู่บ้านทั่วประเทศโดยด่วน
ด้าน นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวหารือว่า จากการพิจารณาคำแถลงนโยบายของรัฐบาลข้อ 8.3 ส่งเสริมให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากข้าราชการ สื่อมวลชน อย่างกว้างขวาง รวดเร็ว ถูกต้องและเป็นธรรม และข้อ 8.3.3 ส่งเสริมให้สื่อมวลชนทุกประเภทมีอิสระและเสรีภาพในการเสนอข้อมูลข่าวสารโดยมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยตระหนักถึงจรรยาบรรณ มีเรื่องที่ต้องกราบเรียนผ่านไปยังรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคนใหม่ว่าได้เกิดปรากฎการณ์แทรกแซงที่กระทบกับสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนแล้ว แม้จะไม่ปรากฎหลักฐานชัดเจน แต่มีกรณีที่เกิดขึ้นแล้วทั้งกรณีอีเมลเรื่องการดูแลสื่อของรองโฆษกพรรคการเมืองหนึ่ง กรณีดังกล่วาแม้จะไม่พบหลักฐานชัดเจนแต่พบว่ามีการเสนอข่าวที่มีความโน้มเอียงเกิดขึ้นแล้ว
นายสมชายกล่าวว่า มีการยกเลิกรายการของสถานีโทรทัศน์กรมประชาสัมพันธ์ ช่อง 11 ไปแล้วหลายรายการ อาทิ รายการคลายปม ของนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และจะมีรายการที่เตรียมยกเลิกด้วยการไม่ต่อสัญญาหลังสิ้นสุดเดือนกันยายนอีกหลายรายการ เนื่องจากเป็นรายการที่รัฐบาลเห็นว่าไม่ประสงค์ดีต่อรัฐบาล
นอกจากนี้ยังมีการเชิญกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ไปพบเพื่อแจ้งว่าจะมีการปลดกรรมการบริหารของ อสมท และยังมีการประสานของสถานีวิทยุชุมชนของ นปช. กับรัฐมนตรีแล้วว่าจะดำเนินการกับสื่อที่ไม่อยู่ข้างเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการเคเบิ้ลทีวีรายหนึ่งเชิญผู้จัดรายการไปแจ้งว่าห้ามจัดรายการพาดพิงอดีตนายกรัฐมนนตรีในทางเสือหาย ตนจึงอยากได้คำตอบเรื่องนี้จากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ในฐานะคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค (วุฒิสภา) จะขอติดตามเรื่องนี้ต่อไป
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า 3.1.7 การจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่าจะนำเงินที่จัดตั้งมาจากส่วนเกินของกองทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ หากต้องดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวรัฐบาลยังไม่ชี้แจงให้ชัดเจนว่าจะทำอย่างไร ทั้งนี้เป็นไปได้ที่ต้อง แก้ไข พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ. 2501 ทั้งนี้การนำทุนสำรองเงินตราระหว่งประเทศมาตั้งเป็นกองทุนแสวงหาผลประโยชน์อาจต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงและความมั่นคงของทุนสำรองเงินตราระหว่งประเทศ ดังนั้นรัฐบาลต้องชี้แจ้งมีแนวคิดในการแก้ไข พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ. 2501 หากมีต้องทำเป็นพระราชบัญญัติเพื่อรับฟังความเห็นของประชาชนไม่ใช่ทำเป็นพระราชกำหนดเหมือนปี 2545-2516
น.ส.สุมนต์ สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี กล่าวว่า หลังการเลือกตั้งนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองที่ได้มาเป็นรัฐบาลได้รับการจัดตามมอง เพราะหากทำได้จริงถือเป็นเรื่องถูกใจของประชาชน หากทำไม่ได้หรือเป็นแค่การโฆษณาชวนเชื่อจะถือเป็นการโกหกหลอกลวงให้ได้รับเลือกตั้ง ในระยะยาวกรณีดังกล่าวควรมีมาตรการหรือกฎหมายให้พรรคการเมืองกำหนดนโยบายหาเสียงที่ทำได้จริงไม่ใช่เข้ามาเป็นรัฐบาลแล้วทั้งผลักทั้งดันให้เป็นนโยบายของรัฐแล้วกระทบกับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ตนเห็นว่าหากรัฐบาลทำไม่ได้พรรคที่ได้รับเสียงข้างมาสมควรพิจารณาตัวเองด้วยการลาออกจากการเป็นรัฐบาล
นายมณเฑียร บุญตัน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ข้อความในคำแถลงนโยบายปรากฎมีนโยบายด้านสังคมที่เกี่ยวข้องกับคนพิการหลายข้อ สิ่งที่รัฐบาลสมควรทำอย่างต่อเนื่องคือการพิจารณาร่างกฎหมายที่ค้างการพิจารณาอยู่ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ... ยกร่างตั้งแต่สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แสดงให้เห็นว่ากฎหมายดังกล่าวไม่ให้โทษกับใคร และไม่เกี่ยวกับขั้วการเมืองใด แต่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการ
ทั้งนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าวหลังจากบังคับใช้มาแล้ว 3-4 ปี เห็นควรมีการปรับปรุง โดยได้รับการพิจารณารัฐบาลที่ผ่านมาแล้ว จึงขอให้รัฐบาลยืนยันร่างแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่อจะแสดงให้เห็นความก้าวหน้าที่ชัดของประเทศไทยในประชาคมอาเซียน ที่ผ่านมาประเทศไทยมีกฎหมายสำหรับผู้พิการที่ดี หากได้รับการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นจะทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในด้านนี้