“ดร.ณรงค์” ชี้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท สามารถทำได้ ส่งผลต้นทุนรวมเพิ่มแค่ 3% แจงแต่ที่ผ่านมาก่อนขึ้นค่าจ้าง ราคาสินค้าพุ่งนำก่อนเสมอซ้ำยังสูงเกินจริง จี้รัฐต้องลดอำนาจเหนือตลาดนี้ให้ได้ พร้อมหวั่นปัญหา ศก.อเมริกากระทบไทยหนัก เหตุผู้เกี่ยวข้องคิดไม่ไกล ถึงขณะนี้ยังไร้มาตรการรับมือ ด้าน “ดร.ไพโรจน์” ฝากถึงรัฐบาลใหม่อย่าใช้การเมืองนำหน้าความรู้พื้นฐานทางเศรษฐกิจ
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายการ “คนเคาะข่าว”
วันที่ 10 ส.ค. เวลา 20.30 น. รศ.ดร.ณรงค์ เพชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรศ.ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ สถาบันวิจัยสังคมและเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้ร่วมพูดคุยในรายการ “คนเคาะข่าว”
ดร.ณรงค์กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในยุโรป และอเมริกา จะมีผลต่อไทยค่อนข้างมาก เพราะขณะนี้การส่งออกของไทยไปยังอเมริกาได้หดลงจากระดับเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ของอัตราการส่งออกของเรา เหลือประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ เมื่อรวมกับตลาดยุโรปยังไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์เลย จากเดิมมากถึง 33 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น เราก็จะหันมาทางจีน ทีนี้จีนก็เจอปัญหาเงินเฟ้อ จึงได้ตั้งเป้าไว้ว่าต้องกลับมาใช้ตลาดภายในประเทศถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้ก็ทำได้ 50 เปอร์เซ็นต์แล้ว การตั้งเป้าอย่างนี้เท่ากับว่าเขาเร่งค่าจ้างให้สูงขึ้น เพื่อให้มีการใช้จ่าย ฉะนั้นเศรษฐกิจไทยที่เคยบอกว่าขึ้นค่าจ้างแล้วจะย้ายไปจีนตอนนี้พูดไม่ออก
ขณะเดียวกัน เมื่อจีนต้องการสร้างตลาดภายใน อะไรที่เขาทำได้เขาก็จะไม่ซื้อ อะไรที่พึ่งต่างประเทศพอเขาแข่งขันได้ พรรคคอมมิวนิสต์ก็จะดันหลังคนงานให้เรียกร้องค่าจ้างเพิ่มขึ้นจากบริษัทต่างชาติ เพื่อทำให้บริษัทนั้นหนี รถยนต์ก็กำลังจะหนีมาไทย พอบริษัทต่างชาติหนีคนจีนก็ครอบครอง ฉะนั้นเราอย่าหวังว่าจะส่งออกไปจีนราบรื่นเหมือนที่ผ่านมา ตอนนี้จีนกำลังจะตั้งเมืองยางที่นิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก เขาถือว่ามาตั้งที่นี่เอายางผลิตเป็นยางรถยนต์แล้วส่งออกจีน เวลาซื้อผลไม้ก็เหมือนกัน เขาเอาพ่อค้ามาซื้อเหมาสวนแล้วส่งออกให้คนจีน เพราะกำไรดีกว่า ของเรามีช่องโหว่ตรงที่เราปล่อยให้สามารถขนกำไรออกได้โดยไม่จำกัด แต่คนไปหากินเมืองจีนจะถูกบล็อกว่าห้ามนำกำไรกลับ หรือกลับได้น้อยมากต้องลงทุนในจีนเท่านั้น
ข้อจำกัดเหล่านี้ ทำให้เราคิดว่ารัฐมนตรีที่จะมานั่งกระทรวงด้านเศรษฐกิจ ถ้าไม่เตรียมตัวที่จะรับมือกับวิกฤตการหดตัวของตลาดส่งออก ตรงนี้จะมีปัญหา
ดร.ณรงค์กล่าวอีกว่า ในเร็วๆ นี้การเปลี่ยนแปลงของตะกร้าเงินมันเร็วมาก ขณะที่ยังเปลี่ยนไม่ลงตัวมันจะมีการตุนต่อ ยกตัวอย่าง การที่มีปัญหาเศรษฐกิจในอเมริกา ทำให้ดอลลาร์คนเชื่อถือน้อยลง การที่อเมริกาต้องการชำระหนี้ ก็ขายพันธบัตร หรือไม่ก็ปั๊มเงินออกมา ตรงนี้ประเทศที่ถือครองดอลลาร์มากๆ โกรธมาก อย่างจีนถือครองเงินสำรองที่เป็นดอลลาร์ถึง 2 ล้านล้านกว่า ก็รู้สึกว่าเงินสำรองมีปัญหาจึงแอบผ่องถ่ายดอลลาร์ออกแล้วตุนทองคำและแร่หา ยากเข้า หลายๆประเทศก็ทำเช่นนี้ ทั้งๆที่ทั่วโลกเตรียมรับมือกันแล้ว แต่ตนยังมองไม่เห็นว่าคนของเราคิดไปถึงจุดนั้น ก็เลยห่วงว่าคนที่จะมานั่งตรงนี้ ยังคิดอยู่ในกรอบเดิมหรือเปล่า
ดร.ณรงค์กล่าวต่อว่า ซึ่งถ้าเรายอมรับแนวโน้มว่าต้องหันมาที่ตลาดภายในประเทศ สิ่งหนึ่งที่เราไม่มีเหมือนกับจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ก็คือความรู้สึกชาตินิยม เมื่อไหร่ก็ตามที่จะมองตลาดภายใน ความรู้สึกรักชาติต้องเกิดขึ้นก่อน โจทย์คือจะสร้างตลาดภายในจะต้องทำอย่างไร หากขึ้นค่าจ้างแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเงินที่ขึ้นจะไม่ไปซื้อสินค้าต่างชาติ การสร้างตลาดภายในจำเป็นต้องมีหลายสิ่งประกอบกัน
สำหรับประเทศไทยต้องการพึ่งการส่งออกแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ก็พอ แต่นี่ 70 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี มันมากไปหน่อย ทีนี้เมื่อหันมาตลาดภายในมี 3 อย่างที่ต้องทำ คือ ต้องปรับรายได้ ทรัพยากร และประสิทธิภาพ
เวลาพูดถึงการเพิ่มรายได้คนงานต้องมีประสิทธิภาพก่อน แต่ตนอยากจะบอกว่าในแถบนี้ประเทศที่มีประสิทธิภาพแรงงานสูงกว่าเรามีแต่ สิงคโปร์กับมาเลเซีย เราอันดับที่ 3 ผลผลิตของคนงานต่อชั่วโมงของเราแพ้แค่สิงคโปร์ กับมาเลเซีย แต่ดูค่าจ้างสิงคโปร์มากกว่าเราถึง 6 เท่า มาเลเซียมากกว่า 3 เท่า แต่ประสิทธิภาพของเราน้อยกกว่าแค่นิดเดียว
ลักษณะเช่นนี้เพิ่มรายได้กำลังซื้อดีขึ้นแน่นอน ภาคการผลิตค่าจ้างจะเพิ่ม 29 เปอร์เซ็นต์ ในภาคการผลิตที่ค่าจ้างจะเพิ่มขึ้นสูงสุดคือภาคการผลิตอาหารเครื่องดื่ม จะเพิ่มประมาณ 34 เปอร์เซ็นต์ ภาคการผลิตเฟอร์นิเจอร์เพิ่ม 32 เปอร์เซ็นต์
“การเพิ่มค้าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท กระทบต้นทุนรวม 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ถ้า SME ที่ใช้แรงงานมากหน่อยกระทบ 5 เปอร์เซ็นต์ นี่คือข้อมูลจากศูนย์กสิกรไทย ดังนั้น ต้นทุนเพิ่มแค่นี้ ค่าจ้างยังไม่เพิ่มเลย แต่ทำไมค่าครองชีพ ราคาสินค้าอาหารขึ้นนำไปหมดแล้ว เราพบว่าการอ้างว่าขึ้นเงินเดือนต้องเพิ่มราคาสินค้ามันเกินจริง อย่างต้นปีที่ผ่านมาเราขึ้นค่าแรงไป 9 บาท ปรากฎว่าก๋วยเตี๋ยวขึ้นไป 30 จาก 25 บาท หากแรงงานกินก๋วยเตี๋ยว 3 ชามต่อวัน ต้องใช้เงินเพิ่มวันละ 15 บาท แต่ค่าแรงได้เพิ่มแค่ 9 บาท ภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่าเพิ่มค่าจ้างแต่รายได้ลด” ดร.ณรงค์กล่าว
ดร.ณรงค์กล่าวอีกว่า ถามกลับกระทรวงการคลังและพาณิชย์ ทราบหรือไม่ว่าโครงสร้างเศรษฐกิจไทยมันมีอำนาจเหนือตลาด แปลว่า อุตสาหกรรมใดก็ตามที่เป็นผู้ผลิตต้นทาง แล้วเกิดมีอำนาจเหนือตลาดมันจะผลักภาระไปยังราคาสินค้าได้ง่ายมาก มีการวิเคราะห์ว่าการเพิ่มค่าจ้างเงินหมุนเวียนขึ้น อาจเพิ่มจีดีพีได้ 1 เปอร์เซ็นต์เลย แต่ทำไมทุกครั้งที่เพิ่มรายได้ ค่าครองชีพวิ่งเร็วกว่า เราคิดถึงวิธีการที่จะทำอย่างไรให้อำนาจเหนือตลาดลดลง ไม่อย่างนั้นการเพิ่มเป็นตัวเงิน กลับไปลดรายได้ที่แท้จริง รัฐบาลใหม่คิดตรงนี้หรือไม่
ภาษาเศรษฐศาสตร์การเมืองบอกว่า ถ้าเมื่อใดก็ตามถ้าอำนาจทุนและอำนาจรัฐเป็นหนึ่งเดียว การแก้ไขอำนาจเหนือตลาดยากมาก อันนี้เป็นโจทก์ใหญ่
อ.ณรงค์ ยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่อยากจะฝากถึงรัฐบาลใหม่ คือ 1.ต้องเน้นลดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม ต้องดูว่าจะเพิ่มภาษีอะไร ลดแล้วให้ใคร มีผลอย่างไร ถ้าจะหารายได้เพิ่มโดยไม่กระทบกระเทือน จะขึ้นภาษีอะไร ประการต่อมาลดภาษีควรเน้นที่ SME มีกองทุนให้สร้างสวัสดิการให้คนงาน 2.การค้าการพาณิชย์ ถ้าจะเน้นตลาดภายใน พาณิชย์ อุตสาหกรรม ต้องใช้กำไรให้สูงสุดในประเทศ ขณะนี้มีการขนเงินออกนอกประเทศมากมาย นโยบายต้องคิดถึงการใช้กำไรให้สุงสุดต่อคนในประเทศ แบบที่จีนทำ และควรเน้นให้ SME ได้สิทธิพิเศษ
3.ทรัพยากรธรรมชาติ เราต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนในชาติ ทรัพยากรธรรมชาติเป็นของคนไทยทุกคน ไม่ใช่ของรัฐ อย่าปล่อยให้ไปอยู่มือต่างชาติมากเกินไป 4.ต้องให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม ลดอำนาจเหนือตลาด เช่น การแข่งขันของโชว์ห่วย กับห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ 5.งานของคณะปฎิรูปบอกว่า เนื่องจากปัญหาหลักของประเทศคือไม่เป็นธรรมที่ได้มาจากอำนาจรัฐ และอำนาจทุน เป็นหลัก ดังนั้นต้องปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน อำนาจทุนกับประชาชน ให้ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น
ดร.ไพโรจน์กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เชื่อว่ารัฐสามารถคุมอำนาจตลาดได้ อย่างเช่นการจำนำข้าว แต่เมื่อลงไปศึกษาแล้วมันไม่ใช่ ตนแปลกใจอยู่เบื้องลึกว่าคนที่คิดนโยบายจำนำข้าว คิดได้อย่างไรว่าดีกว่าการประกันราคา ที่ใช้ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่คนมาเล่นการเมืองก็จะคิดแบบนี้ ทั้งที่ข้อมูลศึกษาก็เห็นชัด ทำไมต้องไปซื้อข้าวมากักเก็บไว้ แล้วนำผลประโยชน์ไปสู่โรงสี
การเมืองถึงหลอกประชาชนได้ง่าย ไม่เกิดสังคมที่ยอมรับความจริง หลอกแม้กระทั่งว่าจะขึ้นค่าแรงทันที 300 บาท สิ่งที่ตนอยากจะฝากถึงรัฐบาลใหม่ ไหนๆ ก็ชนะเลือกตั้งมาแล้ว ขอให้คิดถึงประเทศ อย่าใช้การเมืองนำหน้าความรู้ง่ายๆพื้นฐานทางเศรษฐกิจ หลักเศรษฐศาสตร์ เห็นได้ชัดอย่างสหรัฐแข็งแกร่งอย่างไร แต่ไม่มีวินัยการคลังก็ไปไม่รอด