ทีมนายกฯ ใหม่ เช็กทำเนียบ จัดห้องใหม่ให้ “ปู” เก็บเครื่องราง “มาร์ค” ออก - เอกอัครราชทูต 8 ชาติเข้าพบ “ยิ่งลักษณ์” แสดงความยินดี ทูตแขมร์โผล่หาคนแรก ขณะโผ ครม.ล่าสุด “ยงยุทธ” รองนายกฯ ควบ มท.1 “เหลิม-โกวิท” รองนายกฯ “กิตติรัตน์” รองนายกฯ ควบพาณิชย์ “ลูกเสธ.หนั่น” รมช.พาณิชย์ “ยุทธศักดิ์” กห. “ธีระชัย” คลัง “สุรพงษ์” บัวแก้ว “วรวัจน์” รมว.ศธ. “ประชา” ยธ. “วิทยา” สธ. ไร้ชื่อโจกแดงหลัง “อภิวันท์” ไม่นั่งรองนายกฯ
วันนี้ (9 ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภราดา เณรบำรุง และน.ส.เรณู ตังคจิวางกูร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นคณะทำงานของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล เพื่อสำรวจความเรียบร้อยในตึกไทยคู่ฟ้าและห้องทำงานของนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะมีการจัดเป็นห้องส่วนตัวใหม่สำหรับนายกฯ หญิงโดยเฉพาะ และจะมีการเตรียมพร้อมในเรื่องของอุปกรณ์สำนักงาน ระบบไอที ให้มีความพร้อมใช้งาน รวมถึงปรับเรื่องโทนสีของอุปกรณ์เครื่องใช้ให้สวยงามเหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และได้มีการเก็บเครื่องรางของขลังที่ใช้เสริมฮวงจุ้ยของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่นำมาติดไว้ในตึกไทยคู่ฟ้าออกด้วย
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ประจำทำเนียบรัฐบาลได้พาเดินสำรวจบริเวณโดยรอบตึกไทย จากนั้นคณะทำงานของนายกรัฐมนตรีได้ไปสักการะศาลพระภูมิ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำทำเนียบรัฐบาล ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับประตูทางออกด้านทิศตะวันออกของทำเนียบฯ และได้เดินต่อไปยังตึกสันติไมตรี เพื่อตรวจดูความเรียบร้อยภายในตึก
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของทำเนียบรัฐบาลได้มีการทำความสะอาดบริเวณตึกไทยคู่ฟ้าและขัดล้างพื้นโดยรอบตึก รวมถึงบริเวณทางเชื่อมระหว่างตึกไทยคู่ฟ้ากับตึกสันติไมตรี ส่วนบริเวณสวนรอบทำเนียบ ได้มีการตัดตกแต่งต้นไม้และเก็บกวาดทำความสะอาดเพื่อต้อนรับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ด้วย
ขณะที่พรรคเพื่อไทยได้มีเอกอัครราชทูตและอุปทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย 8 ประเทศ เดินทางเข้าพบหารือเพื่อแสดงความยินดีกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ห้องรับรอง หลังได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
โดย นางยู ออย เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย เข้าพบเป็นคนแรก ได้แสดงความยินดีในการเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ยื่นหนังสือแสดงความยินดีอย่างเป็นทางการจากนายฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา นายฮอร์ นัมฮง รัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชาฝากแสดงความยินดี พร้อมมองถึงความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดต่อไป เสนอให้แยกความขัดแย้งทางการเมืองกับเรื่องเศรษฐกิจออกจากกัน เพื่อให้การค้าการลงทุนระหว่างสองประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ส่วนปัญหาเรื่องแรงงานกัมพูชาที่เข้ามาทำงานในไทยกว่า 4 แสนคน แต่ยังมีปัญหาเรื่องแรงงานผิดกฎหมายซึ่งขอประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาต่อไป
· ทั้งนี้ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ได้กล่าวถึงการสร้างนโยบายที่เป็นการสร้างสันติสุขและความปรองดองระหว่างทั้งสองประเทศ เพราะจะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความร่วมมือกันในกรอบอาเซียน และการเข้าเป็นประชาคมอาเซียน (AEC) ในอีก 4 ปีข้างหน้า
ต่อมา นาย โมฮัมมัด ฮัตตา เอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย ได้เข้าพบนายกฯ ยิ่งลักษณ์ โดยได้แสดงความยินดีที่ได้รับโปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยท่านทูตได้อ่านคำกล่าวแสดงความยินดีจากประธานาธิบดีอินโดนีเซียให้นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ฟังด้วย พร้อมได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ไทย-อินโดนีเซียมีความแน่นแฟ้นมานาน ฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตครบ 60 ปี เมื่อปีที่แล้ว ปีที่แล้วการค้าสองฝ่ายไทย-อินโดนีเซีย อยู่ที่ 13,024.37 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมองว่าการค้าสองฝ่ายยังขยายตัวได้อีกมาก โดยในช่วงวันที่ 17-19 พฤศจิกายน 2554 อินโดนีเซียจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุม ASEAN Summit ที่บาหลี ซึ่งหวังว่า นายกฯ ยิ่งลักษณ์จะมีโอกาสได้พบปะกับประธานาธิบดีอินโดนีเซียในช่วงนั้น และหากมีเวลาอยากเชิญนายกฯ ยิ่งลักษณ์ไปเยือนอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการด้วย
· อย่างไรก็ตาม นายกฯ ยิ่งลักษณ์ได้กล่าวขอบคุณอินโดนีเซีย ที่สนับสนุนไทยในการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด และขอยืนยันที่จะให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดต่อไป
จากนั้นคณะเอกอัครราชและอุปทูตกลุ่มประเทศละตินอเมริกา 6 ประเทศ ประกอบด้วย อาร์เจนตินา, บราซิล, เปรู เม็กซิโก ชิลี และปานามา ได้มาเข้าพบแสดงความยินดีในการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้เอกอัครราชทูตเปรูได้มอบเหรียญที่ระลึก “Seal of Amazon” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดีให้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ด้วย
อย่างไรก็ตาม มีรายงานจากพรรคเพื่อไทยถึงโผคณะรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ 1 ล่าสุดที่ได้มีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ไปแล้ว โดยมีดังนี้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชูชาติ หาญสวัสดิ์ และนายฐานิสร์ เทียนทอง ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิ สาระผล และนายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายชุมพล ศิลปอาชา ดำรงตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ และนายนิวัตธำรง บุญทรงไพศาล ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ และนายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก และนายกิตติศักดิ์ หัตถสงเคราะห์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุรพงษ์ โตวิจักข์ชัยกุล ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายพิชัย นริพทะพันธ์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางบุญรื่น ศรีธเรศ และนายสุรพงษ์ อึ้งอำพรวิไล ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายวิทยา บูรณศิริ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายอนุดิษฐ์ นาครทรรพ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นางสุกุมล คุณปลื้ม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายสันติ พร้อมพัฒน์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายธีระ วงศ์สมุทร ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายปลอดประสพ สุรัสวดี ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี