ศาลปกครองเปิดแผนกคดีนสิ่งแวดล้อม สร้างทางด่วนให้การพิจารณาคดีเร็วขึ้น ตั้งองค์คณะเฉพาะ-ลดขั้นตอนธุรการ หวังให้การเยียวยา ปชช.ทันเวลา ผอ.เขตบางขุนเทียนถูกฟ้องประเดิมเป็นคดีแรกของแผนก ขณะที่ศาลปกครองจี้ อบต.ท่าทราย สมุทรสาคร ปฏิบัติตามคำสั่งศาลอย่างเคร่งครัด
นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ได้เปิดทำการแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองสูงสุด ศาลปกครองชั้นต้น รวมถึงศาลปกครองในภูมิภาคอีก 9 แห่งพร้อมกัน โดยนายหัสวุฒิกล่าวว่า ขณะนี้คดีสิ่งแวดล้อมเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยรัฐธรรมนูญก็ให้ความสำคัญจะเห็นได้ว่ามีการบัญญัติเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ ที่จะมีผลกระทบสิ่งแวดล้อมไว้ในมาตรา 67 มาตรา 68 และมาตรา จึงต้องถือว่าคดีดังกล่าวมีความสำคัญ เพราะมีผลกระทบต่อสังคมส่วนรวม การเยียวยาจึงต้องมีความรวดเร็ว เดือดร้อน เสียหายที่จะตามมา
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ศาลปกครองเปิดทำการมีคดีสิ่งแวดล้อมเข้าสู่การพิจารณารวม 4,634 คดี ศาลได้พิจารณาแล้วเสร็จ 3,657 คดี เหลือเรื่องที่ยังคงค้างการพิจารณาจำนวน 977 คดี โดยส่วนใหญ่คดีที่ฟ้องศาลปกครองมักเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายของรัฐ และการใช้อำนาจทางการปกครองในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม หลังศาลฯ เปิดแผนกคดีสิ่งแวดล้อมแล้ว ต่อไปหากมีการฟ้องดคีเข้ามาก็จะได้รับการพิจารณารวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะมีการจัดองค์คณะไว้รองรับเป็นพิเศษโดยในศาลปกครองสูงสุดมี 1 องค์คณะ ศาลปกครองชั้นต้นมี 2 องค์คณะ และในศาลปกครองภูมิภาคก็จะมีอย่างน้อยภูมิภาคละ 1 องค์คณะ และยังมีการลดขั้นตอนในงานด้านธุรการลง
“การที่เราจะดูแลคดีสิ่งแวดล้อมให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ไม่ใช่เราจะทำแบบลวกๆ แต่จะใช้วิธีการลัดขั้นตอนลง และในอนาคตเพื่อให้การพิจารณารวดเร็วยิ่งขึ้นเป็นไปได้ที่เราอาจจะให้ตุลาการฯมารับคำฟ้องด้วยตนเอง และรวมทั้งอาจจะเปิดให้ฟ้องคดีได้ทุกเวลา ดังนั้นอยากให้ประชาชนมั่นใจว่า คดีสิ่งแวดล้อมที่ฟ้องจะได้รับการดูแลอย่างรวดเร็ว เป็นธรรม”
ทั้งนี้ คดีสิ่งแวดล้อมที่ศาลปกครองรับไว้พิจารณาก่อนหน้านี้จะไม่มีการโอนมาอยู่ในแผนกคดีสิ่งแวดล้อม เพราะได้ผ่านขั้นตอนต่างๆ ไปมากแล้ว หากโอนมาก็อาจทำให้เกิดความล่าช้าได้ ประกอบกับตุลาการที่พิจารณาคดีอยู่เดิมก็มีความรู้เกี่ยวกับคดีสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว และในอนาคตก็เป็นไปได้ที่ศาลอาจจะเปิดแผนกคดีอื่นๆ เพิ่มเติมขึ้นอีก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากการเปิดแผนกคดีสิ่งแวดล้อมปรากฏว่า นางภัททิรา เกียวประสิทธิ์ ชาวบ้านเขตบางขุนเทียน กับพวกรวม 14 คน ได้ยื่นฟ้อง ผอ.สำนักงานเขตบางขุนเทียน กทม. พร้อมพวกรวม 2 คน เนื่องจากละเลยการปฏิบัติหน้าที่ปล่อยให้มีการบุกรุกลำรางสาธารณะจึงเกิดความเสียหาย ทำให้เป็นคดีแรกในแผนกคดีสิ่งแวดล้อม
นายไพโรจน์ มินเด็น โฆษกศาลปกครอง กล่าวถึงกรณีที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวสั่งระงับการดำเนินกิจการถ่านหินทุกกรณีในพื้นที่อบต.ท่าทราย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ว่า คำสั่งของศาลปกครองในคดีโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.สมุทรสาคร เป็นเพียงมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาตามคำร้องของชาวบ้านที่เป็นผู้ฟ้องคดี ซึ่งมีผลบังคับกับผู้ถูกฟ้อง คือ อบต.ท่าทราย สำนักงานอุตสาหกรรมจ.สมุทรสาคร สำนักงานขนส่งทางน้ำจ.สมุทรสาครให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองอย่างเคร่งครัดเท่านั้น
ส่วนกรณีบริษัท เทคนิคทีม (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ร้องสอดนั้น ศาลไม่สามารถไปบังคับคดีให้ปฏิบัติตามได้ ส่วนกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าบริษัทดังกล่าวมีการละเมิดคำพิพากษาของศาลยุติธรรมและคำสั่งของเจ้าพนักงานของรัฐหลายครั้งนั้นเป็นเรื่องของศาลยุติธรรมว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
ด้าน นายวิชัย ชื่นชมพูนุท รองประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวว่า สำหรับกรณีการคุ้มครองพยานที่มาร้องต่อศาลปกครองนั้น ศาลไม่สามารถจะปกป้องดูแลได้ หากอยู่นอกเขตพื้นที่อำนาจของศาล ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรม กรมคุ้มครองสิทธิ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีภาระหน้าที่โดยตรงตามกฎหมายในการคุ้มครองพยานหลักฐาน เพราะศาลปกครองมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคดีเท่านั้น