xs
xsm
sm
md
lg

อลงกรณ์ พลบุตร รักษากฎหมาย หรือ ทำตามใบสั่ง ??

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ท่าทีเอาจริงเอาจัง ของนายอลงกรณ์ พลบุตร รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่กดดันให้อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า นายบรรยงค์ ลิ้มประยูรวงศ์ ไปแจ้งความกล่าวโทษ บริษัทดีแทคว่า มีสถานะเป็นบริษัทต่างด้าว ถูกจับตามองว่า เป็นเจตนาดี ที่ต้องการรักษากฎหมาย หรือมีเจตนาแฝง เพื่อสนองทรูมูฟ คู่กรณีของดีแทค

เรื่องนี้ มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งของบริษัทเอกชนด้วยกันเองคือ ทรูมูฟ กับดีแทค ที่ทะเลาะกันด้วยเรื่อง ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3 จี ทรูมูฟ เซ็นสัญญากับ กสท. โทรคมนาคม ติดตั้งโครงข่าย และให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 จี โดยใช้เทคโนโลยี่ที่เรียกว่า HSPA ซึ่งจะให้บริการได้ทั่วประเทศ และจะเป็นรายแรกที่ให้บริการ 3 จี เต็มรูปแบบได้ก่อนผู้ให้บริการอีก 2 รายคือ เอไอเอส และ ดีแทค

ถ้าทรูมูฟดำเนินการได้ตามแผน กำจัดอุปสรรค ขวากหนาม ออกไปได้ทีละเปลาะๆ ก็มีโอกาสจะผงาดขึ้นเป็นเป็นผู้นำหมายเลข 1 ได้ หลังจากที่เป็นผู้ตามอันดับ 2 ในยุค 2 จี มาโดยตลอด

ไม่รู้ว่าเป็นเพราะ วัฒนธรรมการทำธุรกิจแบบผูกขาดตัดตอน ครบวงจร ในธุรกิจสัตว์ปีก - สัตว์น้ำถูกส่งทอดข้ามมายังธุรกิจสื่อสารด้วยหรือเปล่า จึงทำให้ ทรูมูฟ ยึดเอาคลื่นความถี่ 3 จี ของ กสท. ไปใช้เองถึง 80% เจียดให้รายอื่นๆไปเพียง 20 % เท่านั้น ซึ่งดีแทค อยู่ในกลุ่มที่จะต้องใช้คลื่นความถี่ที่มีเหลืออยู่แค่ 20 % นี้ด้วย เพราะสัมปทานในระบบ 2 จีของดีแทคเป็นสัมปทานที่ได้จาก กสท. หากจะยกระดับเป็น 3 จี ก็ต้องอาศัยคลื่นความถี่ของ กสท. ต่อไป

ดีแทคจึงอยู่เฉยๆ ไมได้ เพราะหมายถึง อนาคตที่ส่วนแบ่งตลาด และรายได้จะเหลือเพียงนิดเดียว ต้องขัดขวางไม่ให้ทรูมูฟ ยึดเอาคลื่น 3 จี ไปเกือบหมดอย่างง่ายๆ ต่อหน้าต่อตา ด้วยการฟ้องต่อศาลปกครองว่า สัญญาที่ ทรูมูฟ ทำกับ กสทฯ นั้น ไม่ชอบธรรม เพราะลักษณะของการดำเนินงาน เข้าข่าย พรบ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ หรือ พรบ. ร่วมทุน พ.ศ. 2535 แต่ทรูมูฟ ใช้ลูกเล่น แยกสัญญา ออกเป็นสํญญาย่อยๆ รวม 6 สัญญาด้วยกัน เพื่อจะได้ไม่ต้องดำเนินการตาม พรบ. ร่วมทุนฯ ซึ่งมีขั้นตอน มาก ใช้เวลานาน และต้องให้ ครม.อนุมัติ ดีแทคขอให้ศาลปกครองมีคำสั่ง ให้สัญญาระหว่างทรูมูฟ กับ กสท. ฯ เป็นโมฆะ และขอคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ระงับสัญญานี้ไว้ก่อน ในระหว่างที่ศาลปกครองยังไม่มีคำวินิจฉัยออกมา

ศาลปกครอง รับฟ้อง แต่ไม่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตาม คำขอของดีแทค ทรูมูฟจึงเดินหน้า ดำเนินการติดตั้งโครงข่าย 3 จี ตามสัญญาต่อไปได้ และเอาคืน ดีแทค โดยใช้กฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เป็นเครื่องมือ แจ้งความต่อกองปราบปรามเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ใ ห้ดำเนินคดี กับดีแทค ในข้อหากระทำผิดกฎหมาย ที่ห้ามคนต่างด้าว ประกอบธุรกิจโทรคมนาคม เพราะดีแทคมีสถานะเป็นบริษัทต่างชาติ

ถือว่า เป็นการตอบโต้อย่างรุนแรง เอากันให้ถึงตายไปเลย ของบริษัทเอกชนด้วยกันเอง ซึ่งไม่ค่อยจะเกิดขึ้นมากนักในบ้านเรา นอกจากจะแจ้งความกับกองปราบแล้ว ทรูมูฟยังร้องเรียนต่อ อธิบดี กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ให้ตรวจสอบ สถานะขอ องดีแทคด้วยว่า เป็นนอมินีของต่างชาติหรือไม่

นายบรรยงค์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีคำตอบให้ทรูมูฟว่า ดีแทคมีคนไทยถือหุ้น 51 % มีต่างชาติถือหุ้น 49 % จึงเป็นบริษัทไทย ส่วนที่ทรูมูฟอ้างว่า ดีแทคมีโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่เป็นนอมินีบงหน้า และจากการตรวจสอบเชิงลึก มีผู้ถือหุ้นเป็นต่างชาติถึง 71 % นั้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ไม่สามารถตรวจสอบไปถึงตรงนั้นได้เ เพราะกรมสนใจแต่ โครงสร้างการถือหุ้นที่ปรากฎตามเอกสารการจดทะเบียนเท่านั้น

นายสัญญา สถิรบุตร ที่ปรึกษาของนายอลงกรณ์ กลับเห็นว่า ต้องตรวจสอบเชิงลึก นายอลงกรณ์ จึง ตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบเชิงลึก โดยให้นายสัญญาเป็นประธาน นายบรรยงค์ค้านว่า คณะทำงานควรประกอบด้วยข้าราชการเท่านั้น ไม่ควรมีนักการเมือง ซึ่งนายอลงกรณ์ยืนยันว่า ต้องให้นายสัญญาเป็นประธานคณะทำงาน แต่แล้ว นายบรรยงค์ ก็ตั้งแท่นเสนอให้ นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ตั้งตนเป็นประธาน และคณะทำงานมีตัวแทน ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมสรรพากร กรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เข้าร่วม

ผลการ ตรวจสอบ ข้อเท็จจริง คณะทำงานเห็นว่า เอกสาร หลักฐานที่ปรากฎ ยังไม่ชัดเจนเพียงพอ ที่จะสามารถชี้ชัดว่า ดีแทค มีสถานะเป็นคนต่างด้าว ตาม พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2552 แต่มีเอกสารหลักฐาน ข้อมูล และข้อเท็จจริง รวมทั้งพฤติกรรมแวดล้อมต่างๆ ที่คณะทำงานเห็นว่า มีมูลอันน่าเชื่อได้ว่า นิติบุคคล ที่ถือหุ้นตามลำดับชั้นของดีแทค ที่ได้จดทะเบียนและแสดงสถานะเป็นนิติบุคคลไทยรวม 7 บริษัท น่าจะมีการถือหุ้นแทนคนต่างด้าว ซึ่งจะทำให้แต่ละบริษทดังกล่าว มีสัดส่วนของหุ้นที่ถือโดยคนต่างด้าว รวมกันได้ตั้งแต่ครึ่งหนึ่งขึ้นไปของหุ้นทั้งหมดของบริษัท อันจะส่งผลให้บริษัทดังกล่าวมีสถานะเป็นคนต่างด้าว และจะมีผลกระทบทำให้ ดีแทค มีสถานะเป็นคนต่างด้าวไปด้วย

สรุปคือ คณะทำงานที่มีนายบรรยงค์ เป็นประธาน เห็นว่า ดีแทคไม่ใช่คนต่างด้าว แต่เชื่อว่า ดีแทคเป็น คนต่างด้าว ???

ท้ายบันทึกรายงานการตรวจสอบนี้ บอกว่า ไหนๆ ทรูฟมูฟก็แจ้งความไว้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว จึงขอส่งเรื่องให้ กองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศราฐกิจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ซึ่งหมายความว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หมดหน้าที่เพียงนี้ จะไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งของทรูมูฟ กับดีแทค ปล่อยให้เป็นเรื่องของตำรวจ

ในขณะที่ นายอลงกรณ์เห็นว่า ในเมื่อคณะทำงานเห็นว่า มีมูลที่เชื่อได้ว่า ดีแทคเป็นคนต่างด้าว ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะผู้รักษากฎหมาย ต้องไปแจ้งความกล่าวโทษดีแทคกับตำรวจด้วย ไม่ใช่เขี้ยลูกให้พ้นกระทรวง ส่งเรื่องให้ตำรวจไปสืบสวนสอบสวนต่อ

เรื่อง คนต่างด้าว เข้ามาประกอบอาชีพที่สงวนไว้ให้เฉพาะคนไทยนั้น ในความเปนจริงที่รู้ๆกันอยู่ ก็ล้วนแต่ใช้นอมินีคนไทยเป็นฉากหน้า เพื่อเลี่ยงกฎหมายทั้งนั้น หากสอบสวนกันตรไงปตรงมาแล้ว ต้องถูกยกเลิกทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยในทางปฏิบัติ เพราะจะกระทบกระเทือนต่อการลงทุนและการค้ามาก

กรณีบริษัทดีแทค ถ้าผลการสอบสวนยืนยันว่า เป็นบริษัทต่างด้าวนั้น ผิดกฎหมาย การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวแน่ แต่ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายนี้คืออะไร

สมมติว่าพรรคประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้ง และนายอลงกรณ์ได้กลับมาเป็นรัฐมนตรีช่วย หรืออาจจะเป้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบรรยงค์ จะมีท่าทีแตกต่างไปจากนี้ไหม

สมมติว่าถ้าคู่กรณีกับดีแทค ไม่ใช่ทรูมูฟ นายอลงกรณ์ จะเอาจริง เอาจัง กับการรักษากฎหมายอย่างที่เป็นอยู่ขณะนี้หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น