xs
xsm
sm
md
lg

เอ็กซิตโพล เปิดกรุ ชวนสื่อสอบ “ชัวร์หรือมั่วนิ่ม” ผลเลือกตั้งเพี้ยน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพดล กรรณิกา
ผอ.เอแบคโพลล์ นั่งไม่ติด เชิญสื่อเข้าตรวจสอบงานประเมินผลการเลือกตั้ง หลังถูกหักปากกา ลดความน่าเชื่อถือกลายเป็นโพลเพี้ยน ยันได้รับการันตีจาก กกต.และ สตช.ใช้นักศึกษานับหมื่นคนทำการสำรวจ ยังตะแบงอ้างค่าคำนวณความคลาดเคลื่อนโดยรวมทั้งประเทศ เป็นรายเขตเลือกตั้ง บวกลบอยู่ที่ร้อยละ 7 เท่านั้น อ้อนขอความอนุเคราะห์นักศึกษาที่ทำงานด้านวิจัยเพื่อพัฒนาการทำหน้าที่ต่อไปในอนาคต

วันนี้ (8 ก.ค.) นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเวทีให้สื่อมวลชนเข้าตรวจสอบการทำเอ็กซิตโพลของเอแบค ว่า แท้หรือเทียม โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเป็นผู้วิพากษ์

นายนพดล กล่าวว่า การเปิดเวทีให้สื่อมวลชนเข้าตรวจสอบการทำเอ็กซิตโพลครั้งนี้ มีสาระสำคัญ 3 ประการคือ ประการแรก เปิดเผยให้เห็นเอกสารหลักฐานแสดงขั้นตอนการทำเอ็กซิตโพลของเอแบค ว่า มีที่มาที่ไป อย่างไร จนถึงขั้นตอนการประมวลผล ประการที่สอง ประเมินผลเอ็กซิตโพลตามหลักของการตรวจข้อสอบเป็นรายเขตเลือกตั้ง ประการที่สาม คือ การเปิดเผยสาเหตุของความคลาดเคลื่อนในผลโพล

“ขั้นตอนของการทำเอ็กซิตโพลของเอแบคเริ่ม จากการทำหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้รับการยืนยันจากหน่วยงานทั้งสองว่า “สามารถทำเอ็กซิตโพลได้” ขั้นตอนที่สอง ใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนรับสมัครและฝึกอบรมพนักงานเก็บข้อมูลกว่าหนึ่งหมื่นคนจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษา ที่ต้องการมีส่วนร่วมเรียนรู้ในระบอบประชาธิปไตยและการทำโพล ขั้นตอนที่สาม ติดต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัด และเขตเลือกตั้งทุกเขตเพื่อขอฐานข้อมูลหน่วยเลือกตั้ง ขั้นตอนที่สี่ สุ่มตัวอย่างหน่วยเลือกตั้งและคำนวณสูตรทางสถิติกำหนดจำนวนคนตอบแบบสอบถามและคัดเลือกตัวอย่าง ขั้นตอนที่ห้า เก็บรวบรวมข้อมูล และประมวลผลข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อสาธารณชนเป็นภาพรวมและรายเขตเลือกตั้ง” ดร.นพดล กล่าว

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า เอแบคโพลล์ได้รับมอบภารกิจให้ทำเอ็กซิตโพล 500 ที่นั่งทั่วประเทศ ซึ่งหลังการเลือกตั้งแล้วตรวจสอบเป็นรายเขตเลือกตั้ง พบว่า ประมาณร้อยละ 93 ที่มีความถูกต้องตรงกับผลการเลือกตั้งจริง เพราะการประเมินที่มองตัวเลขเฉพาะแค่ภาพรวม อาจเกิดความคลาดเคลื่อนได้ เช่น สำนักโพลแห่งหนึ่งทำนายว่า ปชป.จะได้ 5 ที่นั่ง หลายคนก็ให้คะแนนไปแล้วว่าสำนักโพลนั้นได้ 5 คะแนน แต่เมื่อไปตรวจสอบเป็นรายเขตเลือกตั้ง พบว่า สำนักโพลนั้นที่บอกว่า ปชป.ได้ 5 ที่นั่งกลับกลายเป็นพรรคเพื่อไทยได้ไปทั้งหมด ผลการตรวจสอบจึงถือว่าสำนักโพลนั้น ทำนายผิดทั้งหมดในเรื่องที่นั่งของพรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้นการประเมินผลเอ็กซิทโพล นอกจากมองตัวเลขโดยภาพรวมแล้วต้องทำการประเมินเป็นรายเขตเลือกตั้งเหมือนกับการตรวจข้อสอบทีละข้อ

“ในพื้นที่ กทม.ที่มีการวิจารณ์อย่างกว้างขวาง เพราะเอแบคโพลล์ พบว่า ปชป.จะได้ 9 ที่นั่ง แต่ ปชป.ได้ 23 ที่นั่ง หลังตรวจสอบเป็นรายเขตเลือกตั้งแล้ว พบว่า เอแบคโพลล์ทำนายได้ถูกต้อง 17 ที่นั่ง และผิด 16 ที่นั่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 3.2 ของจำนวนที่นั่ง 500 ที่ทั่วประเทศ แต่เมื่อคำนวณค่าความคลาดเคลื่อนโดยรวมทั้งประเทศเป็นรายเขตเลือกตั้งจะอยู่บวกลบร้อยละ 7 ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด” นายนพดล กล่าว

นายนพดล ในหลักของการประเมนผลเอ็กซิตโพล พบว่า มีการเอาตัวเลขภาพรวมของโพลไปบวกลบ กับผลเลือกตั้งจริง แล้วก็นำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์ ถึงความคลาดเคลื่อนสูง แต่โดยหลักของการทำเอ็กซิตโพล จะต้องลงมาดูในรายละเอียดเป็นรายเขตเลือกตั้ง ยกตัวอย่าง ผลการเลือกตั้งใน กทม.ที่สำนักโพลแห่งหนึ่ง รายงานว่า พรรคประชาธิปัตย์จะได้ 5 ที่นั่งในเขตต่างๆ แต่ปรากฏว่า คะแนนกลายเป็นของพรรคเพื่อไทย ทำให้สำนักโพลที่ระบุแบบนั้น กลับไม่ได้คะแนน สำหรับการสำรวจของเอ็กซิตโพล จะเป็นการลงพื้นที่แต่ละเขต ระบุว่า เอ็กซิตทำนายถูกต้อง 17 ที่นั่ง และคลาดเคลื่อนไป 16 ที่นั่ง แต่การทำสำรวจของเอ็กซิตโพลจะต้องสำรวจทั้ง 500 ที่นั่ง ซึ่งความคลาดเคลื่อน 16 ที่นั่ง คิดร้อยละ 3.2 จาก 500 ที่นั่ง ซึ่งถือว่าอยู่ในความคลาดเคลื่อนที่คณะผู้วิจัยได้กำหนดเอาไว้ ร้อยละ 7 แต่หากมองภาพรวมทั้งประเทศ พรรคเพื่อไทยได้เก้าอี้ 259 ที่นั่ง แต่ผลสำรวจทายไว้ 299 ที่นั่ง เท่ากับ ร้อยละ 59 จากที่นั่งทั้งหมด ลบความคาดเคลื่อนร้อยละ 7 ก็จะประเมินได้ร้อยละ 52 ซึ่งก็จะเท่ากับจำนวนที่นั่ง ส.ส.264-265 ที่นั่ง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์เมื่อบวกไปร้อยละ 7 จะได้คะแนนไม่เกินร้อย 160 ที่นั่ง ดังนั้น การทำเอ็กซิตโพล จึงอยู่ในความคาดเคลื่อนร้อยละ7 ความถูกต้องแม่นยำก็อยู่ที่ร้อยละ 93 จาก 500 ที่นั่งทั่วประเทศ

สำหรับการกำหนดความคลาดเคลื่อนเดิมคณะวิจัยกำหนดไว้ที่ร้อยละ 3 ซึ่งสาเหตุที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดความคลาดเคลื่อน เป็นเรื่องที่คณะวิจัยไม่สามารถควบคุมได้ คือความคลาดเคลื่อนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเลือกตัวอย่าง ได้แก่ การที่เจ้าหน้าที่รัฐประจำหน่วยเลือกตั้งที่นักเรียนนักศึกษาลงเก็บข้อมูลบอกให้นักเรียนนักศึกษาออกห่างไปจากหน่วยเลือกตั้ง 200 เมตร หรือขนาดความยาวพอๆ กับสนามฟุตบอล ส่งผลให้นักเรียนนักศึกษาไม่สามารถเก็บข้อมูลจากประชาชนได้ อันดับที่สอง เจ้าหน้าที่ตำรวจมาจับกุมนักเรียนนักศึกษาทั้งๆ ที่มีบัตรแสดงตน มีจดหมายจาก กกต. และจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อันดับที่สาม ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองที่สามารถอยู่ใกล้หน่วยเลือกตั้งได้มากกว่า นักเรียนนักศึกษาแต่ตามมากดดันนักเรียนนักศึกษาและผู้ตอบแบบสอบถาม

“นักเรียนนักศึกษาฝากคำถามถึงผู้ใหญ่ในสังคม ว่า เด็กมั่วสุมก็จับกุม เด็กทำงานด้านการศึกษาก็มาสกัดกั้นแล้วผู้ใหญ่ในสังคมจะให้พวกเราทำอะไร อย่างไรก็ตาม ผู้ใหญ่ในสังคมกว่าร้อยละ 90 ยังดีอยู่ คือ ให้ความอนุเคราะห์สนับสนุนนักเรียนนักศึกษาให้ทำงานได้ บางท่านนำอาหารและน้ำดื่ม พาให้หลบฝน จัดสถานที่ให้อย่างดี เป็นต้น ทั้งนี้ ในส่วนของเอแบคโพลล์ จะยังคงมุ่งมั่นเคร่งครัดต่อระเบียบวิธีวิจัยต่อไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ส่วนสาเหตุที่คณะผู้วิจัยและนักเรียนนักศึกษาไม่สามารถควบคุมได้ครั้งนี้ ก็จะขอความช่วยเหลือต่อผู้ใหญ่ในสังคมต่อไป โดยเบื้องต้นท่านเลขา กกต.ได้กล่าวไว้แล้วว่าในอนาคตจะทำหนังสือถึงเจ้าหน้าที่รัฐระดับเขตเลือกตั้งให้อำนวยความสะดวกในระดับหน่วยเลือกตั้งต่อไป ส่วนผู้ใหญ่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะทำหนังสือถึงสถานีตำรวจต่างๆ ทั่วประเทศให้อีกด้วย หากช่วยดูแลความปลอดภัยกับนักเรียนนักศึกษาที่ทำงานวิจัยด้วย คณะผู้วิจัยก็เชื่อว่าต่อไปการทำเอ็กซิตโพลจะมีคุณภาพใกล้เคียงผลการเลือกตั้งจริงมากยิ่งขึ้น”

อย่างไรก็ตาม คณะผู้วิจัย พึงพอใจต่อผลสำรวจเอ็กซิตโพลที่ออกมา แม้จะมีปัญหาอุปสรรคหลายประการ แต่ในการทำงานผู้ทำสำรวจได้เน้นย้ำในระเบียบวิธีวิจัยอย่างเคร่งครัดตามหลักวิชาการ ซึ่งในการแก้ปัญหาอุปสรรคของความคลาดเคลื่อน ในอนาคต จะต้องเข้มงวดในการประสานความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ โดยทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง จะทำหนังสือประสานไปยังประธานเขตเลือกตั้ง และหน่วยเลือกตั้งต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คณะผู้วิจัย เพื่อการรวบรวมข้อมูล และความแม่นยำสูงขึ้น ตลอดจนการดูแลความปลอดภัยให้แก่สมาชิกที่ทำการสำรวจ
กำลังโหลดความคิดเห็น