“จำลอง” ยื่นผู้ตรวจการฯ เพื่อส่งศาล รธน.วินิจฉัย จากการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของตนเองและภรรยา แต่ไม่สามารถใช้สิทธิ์ได้ ตาม รธน.ชี้บทบัญญัติมาตรา 97 มาตรา99 และมาตรา 101 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบ รธน.เลือกตั้ง ส.ส.-ส.ว.ปี 50 มีปัญหาไม่ชอบด้วย รธน.มาตรา 72 วรรค 3 เป็นการก่อภาระให้แก่ประชาชนและเป็นการตัดการใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยไม่ชอบด้วยหลักการตาม รธน.ส่งผลให้การดำเนินการของ กกต.ในจัดการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป ในวันที่ 3 ก.ค.54 ไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ขัดต่อเจนารมณ์แห่ง รธน.ไม่มีผลบังคับใช้
วันนี้(8 ก.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น.ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ถ.แจ้งวัฒนะ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พร้อมด้วยนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้พิจารณาดำเนินการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยบทบัญญัติของพระราชบัญญัติของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และการได้มาซึ่งส.ว. พ.ศ.2550 และการดำเนินการจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 3 ก.ค.54 โดยพล.ต.จำลอง กล่าวว่า ในการเลือกตั้งส.ส. เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา ตนพร้อมด้วยภรรยาได้เดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งที่ 14 แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต เขตเลือกตั้งที่ 5 กทม. แต่เจ้าหน้าที่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ได้แจ้งว่าตนและภรรยาไม่มีชื่อ เนื่องจากไม่ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงรายชื่อที่ได้เคยขอลงทะเบียนเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งไว้เมื่อปี 2550 จึงทำให้ชื่อของตนและภรรยายังมีชื่ออยู่ในทะเบียนรายชื่อนอกเขตเลือกตั้งที่จ.กาญจนบุรี ส่งผลให้ตนไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจึงถือว่าเป็นความบกพร่องของกกต.
ด้าน นายปานเทพ กล่าวว่า จากกรณีของพล.ต.จำลอง แล้วยังทราบอีกว่ามีประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยกว่า 2 ล้านคนทั่วประเทศ ในทุกหน่วยเลือกตั้งที่ประสบปัญหาการใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งปัญหานี้เกิดจากการที่กกต. กล่าวอ้างว่าปฏิบัติตามพ.ร.บ.การเลือกตั้ง มาตรา 97 วรรค 2 ที่ระบุว่า ให้ผู้ลงทะเบียนมีสิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งเมื่อได้ลงทะเบียนก่อนวันเลือกตั้ง 30 วัน โดยให้ใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในจังหวัดที่ตนลงทะเบียนไว้ และให้หมดสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งเดิมที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งนี้จนกว่าจะมีการลงทะเบียนเปลี่ยนแปลง จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณากรณีดังกล่าวส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่ากรณีดังกล่าวขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมถึงการเลือกตั้งที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2554 ที่มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนส.ส.แบบเขตเลือกตั้ง และแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งเท่ากับว่าจะต้องมีการแบ่งเขตใหม่ทั้งหมดทั่วประเทศ จึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเมื่อ 3 ปีที่แล้วจะกลับไปใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตเดิม
ขณะที่นายศรีราชา กล่าวว่า หลังจากนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินจะรับเรื่องไปพิจารณาในเบื้องต้น หากมีข้อมูลที่ชัดเจนและเห็นสมควรว่าไม่ใช่เรื่องที่มีปัญหา ยุ่งยากก็จะส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาต่อไป ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาประมาณ 1-2 สัปดาห์
เมื่อถามว่าจุดยืนของพันธมิตรจะเป็นอย่างไรต่อไป หลังพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล และผลจากการรณรงค์โหวตโนไม่เข้าเป้า พล.ต.จำลอง กล่าวว่า ไม่ถือว่าการรณรงค์โหวตโนไม่เข้าเป้า เพราะเป็นเรื่องใหม่ รวมถึงเจ้าหน้าที่ กปน. ก็ทำผิดพลาดกันเยอะ เนื่องจากนำบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนนไปรวมกับบัตรเสีย ซึ่งถือว่าการรณรงค์โหวตโนครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ พันธมิตรฯไม่ได้ต่อต้านพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่ต่อต้านทุกพรรคการเมืองที่ไม่เสนอนโยบายการแก้ไขปัญหาที่สำคัญของชาติ คือการจัดการปัญหาบริเวณชายแดนตามที่พันธมิตรเสนอไปก่อนหน้านี้ รวมถึงไม่มีการแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นอีกด้วย อย่างไรก็ตามพันธมิตรฯไม่เห็นด้วยกับการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าเหตุผลใดก็ตาม
รายละเอียดหนังสือ
วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๔
เรื่อง ขอให้พิจารณาดำเนินการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ และการดำเนินการจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔
เรียน ผู้ตรวจการแผ่นดิน
สิ่งที่ส่งมาด้วย
๑. แบบคำร้องและบันทึกถ้อยคำของพลตรีจำลอง ศรีเมือง
๒. แบบคำร้องและบันทึกถ้อยคำของนางศิริลักษณ์ ศรีเมือง
๓. บทความการเลือกตั้งนอกเขตล่วงหน้าตลอดชาติ
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ข้าพเจ้า พลตรีจำลอง ศรีเมือง และนางศิริลักษณ์ ศรีเมือง ภริยา ได้เดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ที่หน่วยเลือกตั้งที่ ๑๔ แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต เขตเลือกตั้งที่ ๕ กรุงเทพมหานคร แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำหน่วยเลือกตั้ง แจ้งว่าข้าพเจ้าและภริยาไม่ปรากฏชื่อ เนื่องจากข้าพเจ้าและภริยาไม่ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงรายชื่อที่ได้ขอลงทะเบียนเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งที่ข้าพเจ้ามีสิทธิเลือกตั้งอยู่เนื่องจากมีภารกิจสำคัญและขอไปใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งในจังหวัดกาญจนบุรี ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ จึงทำให้รายชื่อของข้าพเจ้าและภริยาอยู่ในทะเบียนรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งที่จังหวัดกาญจนบุรี ส่งผลให้ข้าพเจ้าและภริยาไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้เนื่องจากวันลงคะแนนเลือกตั้งกรณีการเลือกตั้งนอกเขต คณะกรรมการการเลือกตั้งได้จัดผ่านพ้นไปแล้วเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๔ รายละเอียดปรากฏตามเอกสารที่ส่งมาด้วยอันดับ ๑ และ ๒ นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังทราบมาอีกว่ามีประชาชนอีกจำนวนมากในทุกหน่วยเลือกตั้งประสบปัญหาการใช้สิทธิเลือกตั้งเช่นเดียวกับข้าพเจ้า ทำให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้จำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดจากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้กล่าวอ้างว่าได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา ๙๗ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งหากเป็นไปตามคณะกรรมการการเลือกตั้งกล่าวอ้าง ก็แสดงว่าบทบัญญัติมาตรา ๙๗ มาตรา ๙๙ และมาตรา ๑๐๑ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๗๒ วรรคสาม เพราะเป็นการก่อภาระให้แก่ประชาชนและเป็นการตัดการใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยไม่ชอบด้วยหลักการตามรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้การดำเนินการของคณะกรรมการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ในวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
ข้าพเจ้าขอเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเกี่ยวกับปัญหาความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติมาตรา ๙๗ มาตรา ๙๙ และมาตรา ๑๐๑ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
๑. ตามบทบัญญัติมาตรา ๗๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้กำหนดหลักการสำคัญให้การไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทย บทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่จะให้ประชาชนได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวนมากเพื่อแก้ไขปัญหาความชอบธรรมทางการเมืองตลอดจนอาจแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับทุจริตการเลือกตั้ง โดยกำหนดให้ประชาชนผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยไม่มีเหตุอันควรต้องเสียสิทธิบางประการตามที่กฎหมายบัญญัติซึ่งต่อมาได้มีบทบัญญัติมาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ กำหนดให้ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเสียสิทธิทางการเมืองบางประการ จะส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีเหตุจำเป็นอันสมควรต้องอาจเสียสิทธิได้ จึงต้องมีการกำหนดหลักการในการแจ้งการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยมีเหตุผลอันควร และยังได้กำหนดหลักการให้มีการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วย ซึ่งต่อมาเมื่อมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ก็ได้กำหนดหลักการอำนวยความสะดวกแก่ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ประสงค์จะไปใช้สิทธิเลือกตั้งให้สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีกิจธุระแต่ต้องไปแจ้งเพื่อขอลงทะเบียนการใช้สิทธิเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด และเพื่อให้การดำเนินการสามารถนำผลการลงคะแนนมารวมเพื่อให้ได้ผลเร็ว จึงมีการกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจจัดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าได้ โดยเป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา ๙๔- มาตรา ๑๐๒ ของส่วนที่ ๙การลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง หมวด ๑ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐
๒. เมื่อหลักการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการไปเลือกตั้งได้ถูกบัญญัติในมาตรา ๗๒ วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย การเลือกตั้งนอกเขตและการเลือกตั้งล่วงหน้าจึงเกิดขึ้นเพื่อคุ้มครองการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชน และเพื่อให้เกิดการป้องกันการทุจริตและคุ้มครองสิทธิเลือกตั้งของประชาชนไปพร้อมกัน จึงต้องมีการหลักการของการลงทะเบียนการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งและการเลือกตั้งล่วงหน้าไว้ แต่อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งโดยอ้างว่าเป็นผลมาจากความในมาตรา ๙๗ วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “...ให้ผู้ลงทะเบียนตามวรรคหนึ่งมีสิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งเมื่อได้ลงทะเบียนก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสามสิบวัน โดยให้ใช้สิทธิเลือกตั้งในจังหวัดที่ตนลงทะเบียนไว้และให้หมดสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งเดิมที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งนี้ จนกว่าจะมีการลงทะเบียนเปลี่ยนแปลง ในการนี้ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งบันทึกการลงทะเบียนขอใช้สิทธิดังกล่าวไว้ในทะเบียนรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อใช้ในการจัดทำรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วย...” จึงทำให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ มีผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวนมากไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เพราะไม่ได้ไปลงทะเบียนเปลี่ยนแปลงการไปใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตตามผลของบทบัญญัติมาตรา ๙๗ วรรคสองดังกล่าว
๓. บทบัญญัติมาตรา ๙๗ วรรคสอง ดังกล่าวมีการเลือกการบังคับใช้ที่ไม่สอดคล้องกับหลัก ความเสมอภาค ตามมาตรา ๓๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพราะการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งดังกล่าว มีลักษณะการเลือกปฏิบัติที่แตกต่างกันในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป กับการเลือกตั้งซ่อมแทนตำแหน่งที่ว่าง เพราะในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปนั้นต้องให้ประชาชนไปขอดำเนินการลงทะเบียนเปลี่ยนแปลงก่อน รายชื่อจึงจะกลับเข้าไปอยู่ในเขตเลือกตั้งเดิมที่ตนมีสิทธิ แต่ในการเลือกตั้งซ่อม รายชื่อได้กลับเข้าไปอยู่ในเขตเลือกตั้งทันทีโดยอัตโนมัติไม่ต้องมีการลงทะเบียนเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อเกิดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปปรากฏว่า รายชื่อต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตทันที ก่อให้เกิดการไม่เสมอภาคและสม่ำเสมอในการใช้สิทธิเลือกตั้งและเกิดผลประหลาดในการใช้กฎหมาย เช่น กรณีผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่างในเขตเลือกตั้งที่ ๖ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ที่มีชื่อเข้าสู่รายชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง แต่ในวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ซึ่งบุคคลเหล่านั้นกลับไปมีหมายเหตุท้ายชื่อว่าต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งตามที่ได้ลงทะเบียนไว้ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่๒๓ธันวาคม๒๕๕๐
๔. บทบัญญัติมาตรา ๙๗ วรรคสอง ไม่สอดคล้องกับการเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ที่ให้เปลี่ยนแปลงจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากระบบเขตเลือกตั้ง ๔๐๐ คน และระบบบัญชีรายชื่อ ๘๐ คน(โดยแบ่งเขตให้มี ส.ส. ได้ไม่เกินเขตละ ๓ คนและแบ่งเขตเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อออกเป็น ๘ ภาคๆละ ๑๐คน) เป็นระบบเขตเลือกตั้ง ๓๗๕ คนและระบบบัญชีรายชื่อ ๑๒๕ คน (แบ่งเขตเลือกตั้งให้มี ส.ส. ได้ ๑ คน ต่อเขต และใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง) ส่งผลให้เขตเลือกตั้งในระบบใหม่มีจำนวนเขตเลือกตั้งมากขึ้นแต่พื้นที่มีขนาดเล็กลง เท่ากับมีการเปลี่ยนเขตเลือกตั้งใหม่ ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ได้ใช้สิทธิในเขตเลือกตั้งเดิมอีกต่อไป จึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าในคราวที่แล้วจะกลับไปเลือกตั้งเพื่อให้คะแนนอยู่ในเขตเลือกตั้งเดิมได้ ต้องลงทะเบียนใหม่เท่านั้นจึงจะทราบเขตเลือกตั้งล่วงหน้าของตนเองได้ ถ้าไม่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าใหม่ก็สมควรจะต้องไปใช้สิทธิเลือกในเขตเลือกตั้งที่ได้รับแจ้งมาใหม่เท่านั้น เช่น กรณีของข้าพเจ้า เดิมในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ ถูกกำหนดให้ใช้สิทธิเลือกตั้งในเขต ๑ กรุงเทพมหานคร มี ส.ส.ได้ 3 คน ประกอบด้วย เขตดุสิต เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางรัก เขตปทุมวัน เขตราชเทวี แต่ในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ข้าพเจ้าถูกกำหนดให้ใช้สิทธิเลือกตั้งในเขต ๕ มี ส.ส. ได้ ๑ คน ประกอบด้วยเขตดุสิตและเขตราชเทวี การที่คณะกรรมกาการเลือกตั้งกล่าวอ้างว่าบทบัญญัติมาตรา ๙๗ กำหนดให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อเสียก่อน จึงเป็นบทบัญญัติที่ไม่ชอบและไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
๕. บทบัญญัติมาตรา ๙๗ วรรคสองประกอบกับการวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามบทบัญญัติดังกล่าว ก่อให้เกิดผลการดำเนินการเกิดผลประหลาดในการเลือกตั้งและไม่สอดคล้องกับ “หลักการอำนวยความสะดวกของประชาชน” ตามมาตรา ๗๒ วรรคสาม ส่งผลให้ประชาชนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เท่ากับบทบัญญัติมาตรา ๙๗ วรรคสอง เป็นบทบัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยเป็นการตัดสิทธิการใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชนโดยที่ไม่เป็นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และหากพิจารณาไปถึงการไปใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรตามมาตรา ๙๙ และมาตรา ๑๐๑ แล้ว จะพบว่าเกิดผลประหลาดไม่สอดคล้องกับการอำนวยความสะดวกของประชาชน เพราะผู้ใดไปใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรหากไม่ไปเปลี่ยนแปลงการใช้สิทธิเลือกตั้ง ผู้นั้นต้องขึ้นเครื่องบินไปใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรตลอดไป รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วยอันดับ ๓
ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติดังกล่าวแล้วและการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ข้าพเจ้าจึงร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้พิจารณาดำเนินการส่งเรื่องนี้ไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาตามมาตรา ๒๔๕(๑) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้าให้บทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญและเจนารมย์แห่งรัฐธรรมนูญสิ้นผลไม่อาจใช้บังคับได้
ขอแสดงความนับถือ
(พลตรี จำลอง ศรีเมือง)
ผู้ร้อง