xs
xsm
sm
md
lg

คริสเตียน ลาการ์ด ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟหญิงคนแรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นไปตามประเพณี สำหรับ ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟคนใหม่ ที่ตกเป็นของนางคริสติน ลาการ์ด รัฐมนตรีคลังวัย 55 ปี จากฝรั่งเศส เมื่อคณะกรรมการบริหารไอเอ็มเอฟ 24 คน มีมติเอกฉันท์ ว่า เธอมีความเหมาะสมมากกว่า คู่แข่งอีกคนหนึ่งคือ นายออร์กุสทิน คาร์สเทน ผู้ว่า การธนาคารกลางเม็กซิโก

นางลาการ์ด เป็นผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟที่เป็นผู่หญิงคนแรก นับตั้งแต่มีการก่อตั้งไอเอ็มเอฟขึ้น เมื่อ 67 ปีที่แล้ว โดยจะมีอายุการดำรงตำแหน่ง 5 ปี จนถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2559 เธอรับตำแหน่งต่อจาก นายโดมินิค สเตราส์คานส์ ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส เช่นกัน ที่ต้องลาออกเพราะถูกทางการสหรัฐฯ จับกุมตัว ดำเนินคดีในข้อหาข่มขืนแม่บ้านโรงแรมหรูในนิวยอรืค เมื่อ เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ที่ว่า เป็นไปตามประเพณี เพราะว่า ตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟนั้น โดยธรรมเนียม จะเป็นของตัวแทนจากยุโรป รองกรรมการผู้อำนวยการคนที่ 1 เป็นของสหรัฐฯ ในขณะที่ตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารโลก จะต้องเป็นของสหรัฐฯ

ไอเอ็มเอฟก่อตั้งขึ้นเมื่อ ปี 2487 หลังการประชุมที่รู้จักกันดีในชื่อ Bretton Wood Conference ตอนนั้น โลกเพิ่งจะผ่านพ้น ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ชาติตะวันตก ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในเวลานั้น ไปประชุม เพื่อหารือกันว่า จะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำอีกได้อย่างไร

คำตอบก็คือ ก่อตั้งไอเอ็มเอฟให้มาทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลก ซึ่งความจริงแล้วคือ การรักษาเสถียรภาพของระบบทุนนิยม ไม่ให้เกิดความผันผวน และคอยดูแลไม่ให้ดีมานด์รวมของโลกลดต่ำลงมา เพื่อที่ระบบเศรษฐกิจจะได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ด้วยการกำหนดกติกาในการบริหารระบบเศรษฐกิจ และการให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องหากว่า ประเทศสมาชิกใดมีปัญหา

สหรัฐฯ และยุโรป อาศัยอำนาจทางเศรษฐกิจในขณะนั้นตกลงกันเองว่า กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ เป็นของยุโรป รองกรรมการคนที่ 1 เป็นของ สหรัฐ ฯ ส่วน ตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารโลก ซึ่งเกิดขึ้นต่อมา เป็นของสหรัฐฯ

เป็นการจัดสรรอำนาจ ที่ไม่ต่างอะไรกับ การกำหนดโครงสร้างขององค์การสหประชาชาติ ที่ประเทศผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 ห้าประเทศ ยึดเก้าอี้คณะมนตรีความมั่นคงอย่างถาวร และเป็น ห้าประเทศนี้เท่านั้นที่มีสิทธิวีโต้

ไอเอ็มเอฟนั้น แท้จริงแล้วก็คือ กลไกในการดูแลรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มทุนการเงินของโลกตะวันตก ที่มีผู้ว่าการธนาคารกลาง และรัฐมนตรคลังของ สหรัฐ ฯ และยุโรป ตกลงร่วมกันในการกำหนดนโยบาย ส่วนชาติสมาชิกอื่นๆ ซึ่งรวมทั้งหมดมี 187 ประเทศ ไม่มีอิทธิพลต่อการดำเนินงานของไอเอ็มเอฟแต่อย่างใด

เมื่อใดที่ชาติสมาชิกมีปัญหาด้านการคลัง คือ มีการขาดดุลการคลัง และดุลบัญชีเดินสะพัด สูง จนไม่สามารถชำระหนี้ที่รัฐบาลกู้จากเจ้าหนี้ต่างชาติได้ ต้องขอความช่วยเหลือ คือ ขอกู้เงินจากไอเอ็มเอฟ แ ละชาติสมาชิกอื่นๆ จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของไอเอ็มเอฟ ซึ่งหนีไม่พ้น การดำเนินนโยบายการคลังอย่างเข้มงวด รัดเข็มขัด ตัดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล ลดเงินเดือนข้าราชการ ขึ้นภาษี ขายกิจการที่เป็นของรัฐฯลฯ

เป้าหมายของการบังคับให้ประเทศที่ขอรับความช่วยเหลือต้องรัดเข็มรัด ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขายทรัพย์สินของรัฐทิ้ง ก็เพื่อจะได้มีเงินคืนหนี้ให้กับเจ้าหนี้ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินต่างชาติ โดยเฉพาะธนาคารเอกชนของสหรัฐฯ และยุโรป

ประเทศไทย และชาติเอเชียอื่นๆ เคยมีประสบการณ์ที่ขมขื่นกับการถูกไอเอ็มเอฟ บีบบังคับให้ใช้นโยบายการคลัง และการเงินที่เข้มงวด นี้มาแล้ว เมื่อเกิดวิกฤติการณ์การเงินขึ้นในปี 2540

ปัจจุบัน ประเทศกรีซ กำลังตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน


แนวทางการดำเนินงานของไอเอ็มเอฟแบบนี้ ทำให้ไอเอ็มเอฟถูกโจมตีว่า เป็นตัวแทนของธนาคารจากดลกตะวันตก ที่คอยทวงหนี้ คืนจาก ประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นลูกหนี้ ทั้งๆที่ โดยหลักการของระบบทุนนิยมที่สนับสนุนการแข่งขันอย่างเสรีแล้ว สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ ควรจะรับความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของประเทศลูกหนี้ด้วย ไม่ใช่จะเอาแต่กำไรจากการปล่อยกู้อย่างเดียว พอลูกหนี้มีปัญหา กลับไม่ยอมรับผิดชอบในความเสี่ยงีท่เกิดขึ้น แต่ใช้ไอเอ็มเอฟเป็นเครื่องมือบีบให้ลูกหนี้ หาเงินมาชำระหนี้คืน โดยไม่สนใจว่า จะสร้างความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสให้กับประชาชนในประเทศเหล่านั้น

ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ไอเอ็มเอฟ ประสบความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเสถียรภาพทางการเงินอของโลก สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะ วิธีการแก้ไขนั้น มีวาระแฝง ที่ต้องการรักษาผลประโยชน์ของเจ้าหนี้เป็นหลัก มากกว่า ที่จะช่วยให้ประเทศที่ขอรับการช่วยเหลือแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

ประเทศกำลังพัฒนาที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น จีน อินเดีย บราซิล ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ ตามแนวทางของตัวเอง เรียกร้อง ขอมิสิทธิมีเสียงมากขึ้นในไอเอ็มเอฟ แทนการผูกขาดอำนาจของชาติตะวันตก

หลังนายสเตราส์ คานส์ ลาออกจากตำแหน่ง มีกระแสข่าวว่า จะมีตัวแทนจากเอเชีย ลาตินอเมริกา เข้าชิงชัยหลายคน แต่สุดท้ายก็เหลือแต่ผู้ว่าการแบงก์ชาติเม็กซิโก ซึ่งสู้นางลาการ์ดไม่ได้ เป็นสิ่งที่สะท้อนว่า ยุโรป ยังไม่ยินยอมที่จะให้ประเทศกำลังพัฒนาเข้ามาเป็นใหญ่ในไอเอ็มเอฟ แม้ว่า ดุลอำนาจทางเศราฐกิจของโลก จะเปลี่ยนไปแล้ว

สำหรับประวัติของผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟคนใหม่นี้ เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของฝรั่งเศสตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2007 ก่อนหน้านั้น เป็นรัฐมนตรีการค้าต่างประเทศเป็นเวลา 2 ปี

ก่อนจะมารับตำแหน่ทงางการเมือง ลาการ์ด เป็นนักกฎหมายป้องกันการผูกขาดและกีดกันทางการค้าและกฎหมายแรงงาน โดยทำงานร่วม สำนักงานกฎหมายเบเกอร์ แอนด์ แม็คเคนซี่ เธอได้รับตำแหน่งประธานตั้งแต่เดือนตุลาคม 1999 จนกระทั่งถึงเดือนมิถุนายน 2005

ลาการ์ดจบปริญญาโทจาก Institute of Political Studies in Aix en Provence และปริญญาตรีจาก Law School of Paris X University ซึ่งเป็นสถาบันที่เธอได้เคยเป็นผู้สอนบรรยายมาก่อนที่จะร่วมงานกับ สำนักงานกฎหมายเบเกอร์ แอนด์ แม็คเคนซี่ในปี 1981


กำลังโหลดความคิดเห็น