xs
xsm
sm
md
lg

“พล.1 รอ.” จับมือ “ศาล-ตร.-ดีเอสไอ” ปรับกลยุทธ์รับมือป่วนเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“พล.1 รอ.” จัดเสวนาถกแผนรับม็อบป่วนเมือง ปัดเตรียมพร้อมรับม็อบหลังเลือกตั้ง ด้าน “ตร.-ดีเอสไอ”ประสานเสียงจี้ รบ.ผุด กม.คุมม็อบเพิ่ม ป้องใช้ พ.ร.บ.-พ.ร.ก.พร่ำเพรื่อ ศาลชี้ทหารแหยง กม. แจงทหารโต้กองกำลังมีอาวุธได้ ขณะที่กรมพระธรรมนูญแนะทหารร่าง “อัยการศึก” ไว้ป้องเหตุม็อบบุกค่าย

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1รอ.) พล.ต.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.1 รอ.) เป็นประธานจัดกิจกรรมเสวนา “แนว ทางการปฏิบัติต่อกลุ่มผู้ชุมนุมของเจ้าหน้าที่รักษาความสงบภายใต้ พระราชบัญญัติความมั่นคง (พ.ร.บ.ความมั่นคง) และ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน)” โดยเชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย ผู้บังคับการอำนวยการกองบัญชาการตำรวจนครบาล นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฎีกา นายพีรยุทธ์ ประดิษฐ์กุล อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 สำนักงานคดีอาญา พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว ผู้บัญชาการสำนักคดีความมั่นคง กรมสอบสวนคดีพิเศษ นายชัยรัตน์ ขนิษฐบุตร ผู้อำนวยการสำนักฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) น.ส.พรนภา มีชนะ ผู้อำนวยกลุ่มคดีรัฐธรรมนูญ สำนักวินิจฉัย และคดีสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมี พ.อ.กฤษณะ บวรรัตนารักษ์ ผอ.กองกฤษฎีกาและการต่างประเทศกรมพระธรรมนูญ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ทั้งนี้ มีผู้บังคับหน่วยตั้งแต่ ผบ.ร้อยรักษาความสงบเรียบร้อย ผู้บังคับกองพัน จากหน่วยขึ้นตรงของ พล.1 รอ.จาก 3 กรม ประกอบด้วย ร.1 รอ. ร.11 รอ. และ ร.31 รอ.ประมาณ 100 นายเข้ารับฟังการเสวนา

ทั้งนี้ พล.ต.กัมปนาทกล่าวว่า การเสวนาวันนี้เป็นแนวทางการปฏิบัติต่อกลุ่มผู้ชุมนุมของเจ้าหน้าที่ที่ รักษาความสงบภายใต้ พ.ร.บ.ความมั่นคง และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยการปฏิบัติงานภายใต้ในสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป ต้องพร้อมรับมือภัยคุกคามรูปแบบใหม่ รวมทั้งการใช้มาตรการต่างๆ และการชุมนุม แม้การรักษาความสงบเรียบร้อยเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติตามขั้นตอนกฎการใช้กำลังของกองทัพ หลักสิทธิมนุษยชน แต่ยังมีข้อถกเถียง และช่องโหว่ โดยกลุ่มผู้ชุมนุม ทั้งถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย ต่างมีที่ปรึกษากฎหมายที่อาจจะเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ได้ จึงเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่จะต้องทำความเข้าใจข้อกฎหมายมากขึ้นเพื่อเพิ่มความมั่นในในการปฏิบัติงาน โดยการเสวนาครั้งนี้จะได้นำไปขยายผลถ่ายทอดให้กำลังพลของพล.1 รอ.เพื่อให้มีความเข้าใจขั้นตอนการปฏิบัติที่ชัดเจนขึ้น

“การเสวนาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งเพื่อเตรียมการของกำลังพลในการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยต้องยึดกฎหมายเป็นหลัก เพื่อทบทวนว่าที่ผ่านมาได้ปฏิบัติอยู่ในกรอบกฎหมายครบถ้วนหรือไม่ และเพื่อดูว่ากฎการใช้กำลัง 7 ขั้นตอนแข็งหรืออ่อนตัวเกินไป เพื่อให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติได้ถูกต้อง เพราะต้องยอมรับว่าไม่ใช่กลุ่มผู้ชุมนุมปกติ มีการจัดตั้งผู้ชุมนุมเมื่อกำหนด 7 ขั้นตอน ผู้ชุมนุมก็จะไปคิดว่าแต่ละขั้นตอนเขาจะตอบโต้เจ้าหน้าที่อย่างไร ไม่ได้เจาะจงหลังเลือกตั้ง แต่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย หน่วยความมั่นคงต้องพร้อมตลอด ซึ่งการจัดเสวนาครั้งนี้ไม่ได้มีสิ่งบอกเหตุเป็นพิเศษ ไม่ได้มีนัยเป็นพิเศษ เป็นการฝึกทบทวนให้กำลังพลมีความพร้อม และ มีความเข้าใจในเรื่องกฎหมายว่า เราต้องปฏิบัติต้องทำอะไรกันบ้าง โดยนำบทเรียนจากครั้งที่ผ่านมานำมาปรับปรุง ในแง่ของ พล.1 รอ.ไม่ได้กังวลต่อสถานการณ์หลังการเลือกตั้ง เพียงแต่ติดตามสถานการณ์เท่านั้น และที่ทำรั้วหน่วยให้สูงขึ้นก็เป็นเพียงการปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม และ รปภ.หน่วย ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม” ผบ.พล.1 รอ.

ด้าน พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย ผู้บังคับการอำนวยการกองบัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวในระหว่างการเสวนาตอนหนึ่งว่า หากเปรียบเทียบกันการจัดตั้งและยุทธวิธีของผู้ชุมนุมก็เหมือนกับทีมบาร์เซลโลน่า กับเจ้าหน้าที่รัฐที่เหมือนทีมหนองหมาว้อ ตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมาม็อบในประเทศไทยมีพัฒนาการขึ้นมา และมีค่าใช้จ่ายในการชุมนุม หากมีการชุมนุม 400 คน ก็จะต้องใช้เงินประมาณ 200,000 บาทต่อวัน ที่เกิดจากค่าอาหาร และค่าน้ำมันรถ และม็อบยุคใหม่มี 3 องค์ประกอบ คือ แกนนำ แนวร่วม และกองกำลังที่เพิ่งเกิดจากปี 2546-2547 โดยแกนนำมีอยู่ 3 ประเภท คือ 1.แบบเปิดเผยตัว 2.แบบไม่เปิดเผยตัวแต่สั่งได้ ซึ่งคนสั่งอาจจะอยู่ไกลอีกซีกโลกก็ได้ และ 3.แกนนำแบบไม่เปิดเผยแต่สนับสนุนเรื่องเงิน และ ข้อกฎหมาย ส่วนแนวร่วมมีอยู่ 3 ประเภท คือ 1.แฟนพันธุ์แท้ 2.ว่างก็มา ไม่ว่างก็มา และจะไม่ค้างคืน และ 3.ไม่ได้มาแต่เป็นกองเชียร์ ทั้งนี้เมื่อพัฒนาการชุมนุมเปลี่ยนไปแต่การปฏิบัติหน้าที่ของทหาร และ ตำรวจ ยังเหมือนเดิม ที่ผ่านมาอุปกรณ์ในการปฏิบัติภารกิจ อาทิ รถน้ำ หรือ แม้แต่เสื้อเกราะ ทางตำรวจก็จะต้องจัดซื้อแจกเอง ซึ่งรัฐบาลควรจะต้องสนับสนุน ความจริงปัญหาของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้อยู่ที่กฎหมายมีหรือไม่ แต่ตนก็อยากจะให้มี เพราะจะได้ไม่ใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ความมั่นคง และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแบบพร่ำเพรื่อ

พล.ต.ต.ปิยะกล่าวอีกว่า ส่วนการชุมนุมขณะนี้ยังเป็นไปด้วยความสงบและยังไม่พบอาวุธ แต่การที่คน 200 คนมาปิดถนนมันน่ารำคาญและมีคนตั้งคำถามว่า ตำรวจไม่ทำอะไรสักอย่าง แต่ถามว่าตนจะนำกฎหมายข้อไหนมาใช้ วันนี้เราจะต้องหากฎหมายอะไรสักอันที่เป็นวรรคก่อนหน้าคำว่า พ.ร.บ.ความมั่นคง หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกมา และจะต้องบอกว่าหากมีการชุมนุมจะต้องทำอย่างไร เช่นจะต้องไปขออนุญาตศาลหรือไม่ ส่วนการปราศรัยหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ที่สี่แยกราชประสงค์ในวันที่ 23 มิ.ย.นี้ ต้องคำนึงกฎการใช้กำลัง 7 ขั้นตอน โดยจะพิจารณาเริ่มดำเนินการจากจุดใดให้ดีที่สุดต่อสถานการณ์

ส่วน พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว ผู้บัญชาการสำนักคดีความมั่นคง กรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า เท่าที่ตนมีการสอบสวนกองเชียร์บาร์เซโลนา มือยิงเอ็ม 79 รวมถึงกองเชียร์บาร์เซโลนาที่ไปฝึกที่ประเทศกัมพูชา จึงรู้ว่างานของกรมสอบสวนคดีพิเศษหนักและเสี่ยงอันตรายมากขึ้น การชุมนุมมีเงินสนับสนุนโดยแต่ละครั้งที่มีจ้างขว้างระเบิดจะได้ 1 หมื่นบาท และถึงมือผู้ขว้างระเบิด 5 พันบาท ส่วนเอ็ม 79 ยิงศูนย์ราชการได้ 5 หมื่นบาท นอกจากนี้ยังพบข้อมูลยังมีการฝึกมือยิงระเบิดเอ็ม 79 กว่า 300 คน ในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ที่ผ่านมาเราใช้เงินไปกับภัยคุกคามเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ใช้งบประมาณไป 1.4 แสนล้านบาท แต่ภัยคุกคามที่เกี่ยวกับความความขัดแย้งทางการเมืองยังไม่เห็นว่าจะจบได้หลังวันที่ 3 ก.ค. ไม่ว่าใครจะขึ้นมา จะมีอะไรตามมาแน่นอน ซึ่งตนเห็นด้วยว่าจะต้องมีกฎหมายอะไรขึ้นมา ทั้งในส่วนกติกา ท่านจะต้องยึดใน 3 หลัก คือ 1.แนวคำพิพากษาของศาล 2.หลักสากล และ 3.หลักการป้องกันตัวที่ไม่เกินขอบเขต ทั้งนี้ การดำเนินการเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมจะต้องมีการดำเนินการตามขั้นตอนหลักสากล 7 ขั้นตอน มาตรา 22 เขียนไว้ว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย รวมความถึงตำรวจ และเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งการดำเนินการต้องเคารพคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิมนุษยชนทุกคน ส่วนมาตรา 35 เรื่องการใช้กำลังจะใช้ได้จะต้องไม่เกินกว่าเหตุ และจะต้องได้สัดส่วน ซึ่งจะไปโยงกับ ป.วิอาญามาตรา 68 และ 69 ซึ่งหลังวันที่ 3 ก.ค.นี้ ให้นับถอยหลังไปเลย และเตรียมไว้เลย

“การชุมนุมที่ก่อให้เกิดความรุนแรงให้ใช้อาวุธได้ หากไม่สามารถใช้มาตรการอื่นๆ ที่อันตรายน้อยกว่านี้ได้ ทั้งนี้การใช้กำลังกดดันกองกำลังทหาร มีการยั่วยุ ต่อสู้ ปะทะกัน ดังนั้นการควบคุมสั่งการเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งในต่างประเทศเขาจะจัดทำคู่มือให้กับข้าราชการที่ปฏิบัติพกติดตัวไปด้วย ที่พอจะทำให้เขาสามารถแก้ไขเหตุการณ์ได้ สรุปว่าท่านควรจะต้องศึกษาทำความเข้าใจกับคำสั่ง คำพิพากษาของศาล ประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุ้มครองท่านพอสมควร ถ้าท่านปฏิบัติตามเงื่อนไข ท่านมีอำนาจเหลือเฟือ เมื่อมีเหตุการณ์ท่านต้องพยายามหลีกเลี่ยงที่จะใช้กำลัง หรือหลีกเลี่ยงการปะทะ บางครั้งการสูญเสียอะไรบางอย่างเพื่อไม่ให้สูญเสียอะไรมากไปกว่านั้นก็ถือว่าจำเป็น” พล.ต.ท.พงศ์อินทร์ กล่าว

นายชัยรัตน์ ขนิษฐบุตร ผอ.สำนักกฎหมาย สำนักงาน ป.ป.ช.กล่าวว่า การปฏิบัติงานของข้าราชการต้องดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด คุ้มครองตัวเองได้ เมื่อทำงานเสร็จแล้วต้องถูกสอบสวน น่าเห็นใจเจ้าหน้าที่ ซึ่งเรื่องการร้องเรียนการทำงานของเจ้าหน้าที่ไม่สามารถห้ามได้ จึงจำเป็นต้องเป็นหลักในการแก้ต่างว่าจะทำอย่างไร ถ้าหากว่าเราปฏิบัติโดยการละเว้น หรือปฏิบัติไม่ชอบ ก็จะเป็นสาเหตุให้ผู้อื่นเสียหาย และจะถูกร้องเรียน กฎการใช้กำลัง 7 ขั้นตอนถือเป็นแนวปฏิบัติที่ดีจากเบาไปหาหนัก เพราะตอนนี้ไม่มีกฎหมายเฉพาะ มีอยู่ 2 เรื่อง ที่คุ้มครองไม่ให้เจ้าหน้าที่ร้องเรียน คือ เจ้าหน้าที่ต้องเตือนก่อนปฏิบัติทุกขั้นตอน เมื่อมีร้องเรียนก็ต้องนำระเบียบ กฎข้อบังคับมาดู และหน่วยปฏิบัติต้องบันทึกรายละเอียดการปฏิบัติทั้งหมดและรายงานผู้บังคับบัญชาโดยเร็ว ในรายละเอียดต้องระบุวันเวลา สถานที่บุคคลที่เกี่ยวข้อง สาเหตุการใช้กำลังอาวุธ รวมทั้งผลปรากฏจากการใช้กำลังและอาวุธ รวมถึงการแผนผังเหตุการณ์ ถ้ามีการร้องเรียนจะได้นำหลักฐานมาอ้างอิงได้ โดยเฉพาะพยานบุคคล ต้องเลือกจากชาวบ้าน ไม่ใช่เพื่อนร่วมงาน เพื่อให้คำให้การมีน้ำหนัก

นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฎีกา ให้ข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวกับเจ้าหน้าที่กรณีที่ถูกมวลชนปิดล้อมขัดขวางการ ปฏิบัติงาน พร้อมทั้งมีแนวโน้มที่จะยึดอาวุธว่า การปฏิบัติขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และต้องเปรียบเทียบสัดส่วนของภัยที่จะเกิดขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถที่จะป้องกันตัวได้ เป็นไปตามกฎหมายอาญา ตาม ม.68 เมื่อมีภัยคุกคามถึงบุคคลใดก็สามารถป้องกันตัวได้ เช่น ถ้าคนร้ายถือปืนเข้ามา ก็ยิงได้ นอกจากนี้ยังสามารถป้องกันตัวล่วงหน้า ถ้าหากมีการคาดหมายว่าจะเกิดเหตุการณ์นั้นเพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุม เข้ามาประชิดตัว กรณีการยึดอาวุธของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนว่าไม่ใช่การ ชุมนุมโดยสงบ เป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมายขัดขวางการปฏิบัติของเจ้าพนักงาน สามารถป้องกันตัวเองได้ตามความเหมาะสม กฎหมายของเราดีกว่าประเทศอื่นในโลก แต่กลไกการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ยังกลัว และแหยงกันอยู่ อยากให้ขจัดส่วนนี้ไป โดยคำนึงถึงการปกป้องคนส่วนใหญ่ ซึ่งเชื่อว่าคนพวกนั้นจะอยู่ข้างพวกท่าน

นายภัทรศักดิ์กล่าวว่า กรณีที่จะมีกลุ่มผู้ชุมนุมล้อมรถและยึดอาวุธเจ้าหน้าที่รวมถึงทำร้ายทหารจนถึงขั้นปางตาย ขั้นตอนแรกต้องมีเครื่องมือให้พร้อม มีกระสุนยาง เพราะเป็นอุปกรณ์สำคัญ ถ้าไม่สามารถระงับได้ก็ใช้กระสุนจริง ก็ยิ่งไปในจุดที่ไม่ให้อันตรายถึงชีวิต สำหรับกรณีการบุกค่ายทหาร อย่างแรกที่ต้องพิจารณาคือการใช้มาตรการเบา โดยใช้กุญแจมือหรือเชือกมัดตัว ใครก็ตามที่บุกเข้าไปในเขตต้องห้าม ส่วนการยิงปืนขึ้นฟ้าทำได้เพื่อข่มขู่แต่การชี้แจงทำความเข้าใจก่อนเป็นเรื่องสำคัญ หาก ทำสองกรณีแล้วไม่ได้ผล ก็ต้องดูว่าใครเป็นคนนำ มีความจำเป็นต้องจัดการกับคนนำ หรือควบคุมตัวไว้หรือไม่ โดยในค่ายทหารมีอาวุธ ยุทโธปกรณ์ ก็เป็นอันตรายในการนำอาวุธไปก่อเหตุ เพราะฉะนั้นให้เจ้าหน้าที่ตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ หากบุกยึดได้ก็จะเป็นปัญหาต่อกลไกความน่าเชื่อของรัฐ

พ.อ.กฤษณะ บวรรัตนารักษ์ ผอ.กองกฤษฎีกาและการต่างประเทศกรมพระธรรมนูญ กล่าวว่า กรณีบุกค่ายทหาร ตอนกลุ่มเสื้อแดงจะบุก ร.11 รอ. สถานการณ์ในขณะนั้นเราได้มีการเตรียมร่างกฎอัยการศึกไว้เพื่อรองรับ สถานการณ์ หากกลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามาพื้นที่รับผิดชอบก็จะสามารถใช้อาวุธได้มากกว่าปกติ อยากให้หน่วยทหารร่างกฎอัยการศึกรองรับไว้หากมีเหตุการณ์เกิดขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น