xs
xsm
sm
md
lg

“ปราบดา-บินหลา” แถลงย้ำต้องรีบรื้อ กม.หมิ่นเบื้องสูง อ้างสังคมหวาดกลัว-เข้าสู่ยุคมืด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการ – “ปราบดา หยุ่น-บินหลา” นำขบวน 7 นักเขียน นั่งแถลงชี้แจงกรณีออกจดหมายเปิดผนึกล่ารายชื่อนักเขียนเรียกร้องแก้ไข ม.112 ตามแนวทางของกลุ่มนักวิชาการเสื้อแดง ยันได้รับการตอบรับดี แต่ยังมีบางคนกลัวจึงไม่กล้าลงชื่อ อ้างชนชั้นปกครองต้องรีบไตร่ตรอง ทบทวน และแก้ไข เพื่อส่งเสริมให้สังคมไทยเข้มแข็ง มีประชาธิปไตย สามัคคี และมีเสรีภาพในการแสดงออก แสดงความคิดเห็น ชี้ ปัจจุบันสังคมหวาดกลัวอำนาจมืด


แถลงข่าวเรื่อง จดหมายเปิดผนึกถึงเพื่อนนักเขียนทั่วประเทศ ว่าด้วยมาตรา 112

จากกรณีเมื่อวันที่ 19 พ.ค.กลุ่มนักเขียนจำนวน 8 คน ประกอบไปด้วย บินหลา สันกาลาคีรี ปราบดา หยุ่น ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง ซะการีย์ยา อมตยา กิตติพล สรัคคานนท์ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ วาด รวี และ ทราย เจริญปุระ (ในเวลาต่อมาทราย เจริญปุระได้ถอนชื่ออกไป) ได้ “จดหมายเปิดผนึกถึงเพื่อนนักเขียนไทยทั่วประเทศ เรื่อง: ขอเชิญร่วมลงชื่อในการเรียกร้องให้มีการแก้ไขมาตรา 112 และยุติการใช้ข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพปิดกั้นการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นทางการเมือง” ซึ่งระบุถึงความประสงค์ในความต้องการให้มีการร่วมลงชื่อเพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ สามปี ถึงสิบห้าปี”

โดยนักเขียนกลุ่มดังกล่าวมีความเห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ดังกล่าว เป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพในการแสดงออก โดยเฉพาะการสร้างสรรค์งานเขียนจึงสมควรมีการปรับปรุงแก้ไข

“เมื่อใดก็ตามที่เสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นตกอยู่ในสภาวะบอบบาง อ่อนแอ และสั่นคลอน สถานภาพของการเป็นนักเขียนในสังคมประชาธิปไตยย่อมตกอยู่ในสภาวะบอบบาง อ่อนแอ และสั่นคลอนไปด้วย ผลกระทบเบื้องต้น คือการหยุดชะงักของโอกาสในการพัฒนาความรู้ ความคิด และการสร้างสรรค์งานเขียน เนื่องเพราะถูกจำกัดขอบเขตการแสดงออกและการสานต่อทางปัญญา ผลกระทบขั้นรุนแรงกว่าคือการต้องใช้ชีวิตและทำงานภายใต้บรรยากาศอันมืดมิด ภายใต้ความหวั่นวิตกถึงการสูญเสียสิทธิ สูญเสียอิสรภาพอย่างไม่เป็นธรรม และหวาดกลัวต่ออันตรายที่อาจเกิดกับตนเองและครอบครัว ...” ตอนหนึ่งของแถลงการณ์ดังกล่าวระบุ ขณะที่ก็เสนอด้วยว่า พวกตนสนับสนุนการปรับปรุงแก้ไข ม.112 ในแนวทางของปัญญาชนในปีกของกลุ่มคนเสื้อแดง เช่น นักกฎหมายกลุ่มนิติราษฎร์ หรือ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

“ในฐานะประชาชนชาวไทยผู้มีความเป็นห่วงและกังวลต่อสภาวการณ์บ้านเมืองภายใต้บรรยากาศของความหวาดกลัว และในฐานะนักเขียนไทยผู้หวงแหนเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น เราต้องการเรียกร้องให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยเร็วที่สุด และสนับสนุนการนำแนวทางที่ปัญญาชนบางกลุ่มบางท่าน (เช่น กลุ่มนิติราษฎร์ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และกลุ่มอื่นๆ) ได้เสนอแนะไว้ในหลายวาระ ขึ้นมาพิจารณาประกอบกัน เพื่อนำไปสู่บทสรุปที่เป็นธรรมและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคมไทย” แถลงการณ์ระบุ

สำหรับจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวเมื่อถูกสื่อมวลชนนำมาเผยแพร่แล้ว ก็มีนักเขียนจำนวนหนึ่งราว 300 กว่าคนได้ร่วมลงชื่อกับนักเขียนกลุ่มดังกล่าว ทว่า ขณะเดียวกันกลับถูกประชาชนจำนวนมากวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่เหมาะสมและเป็นการกระทำที่เกินเลยจนนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมได้ให้สัมภาษณ์ตอบโต้ในวันที่ 22 พ.ค.ว่า ตนไม่เคยเห็นมาตรา 112 ถูกหยิบมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง และนักการเมืองกว่าร้อยละ 99 ก็ไม่มีปัญหากับมาตราดังกล่าว

“ผมเดินทางไปหลายประเทศที่เคยมีสถาบันพระมหากษัตริย์ ชาวบ้านต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเสียดายที่ไม่มีสถาบันกษัตริย์แล้ว อยากจะรื้อฟื้นให้กลับมาใหม่ เพื่อจะเป็นประมุข รวมทั้งสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ กลับกันไทยยังมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ จึงสมควรมีมาตราดังกล่าวไว้ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์” นายนิพิฏฐ์ กล่าว และว่า หากมีการแก้ไขมาตรา 112 ให้ไปอยู่ในหมวดเดียวกับความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคล เชื่อว่าสุดท้ายก็อาจมีการเสนอให้แก้ไขลดโทษลง หรือแก้ให้ยอมความกันได้อีก ยิ่งข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ที่ให้แก้ไขให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้ฟ้องร้องเอง ยิ่งทำให้เกิดปัญหา เพราะจะกลายเป็นว่าเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นคู่กรณีกับชาวบ้าน การให้ชาวบ้านฟ้องร้องเองได้ถ้าพบเห็นพฤติกรรมที่อาจฝ่าฝืนมาตรา 112 ส่วนตัวคิดว่าว่าเหมาะสมแล้ว เพราะมาตราดังกล่าวอยู่ในลักษณะความผิดต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร

โดยการชี้แจงดังกล่าวของ นายนิพิฏฐ์ ในฐานะ รมว.วัฒนธรรม ต่อมาได้กลายเป็นวิวาทะที่ตอบโต้กันไปมาระหว่าง นายนิพิฏฐ์ และนักเขียน 2 ใน 8 คนคือ วาด รวี กับ นายปราบดา หยุ่น (กรุณาอ่าน : วาด รวี-ปราบดา ส่ง จม.เปิดผนึกถึง นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รมว.กระทรวงวัฒนธรรม (30 พ.ค.) และ คำให้การของนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ถึงวาดรวี และ ปราบดา หยุ่น (3 มิ.ย. 54))

7 นักเขียนแถลงอีก ย้ำต้องแก้ ม.112

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มนักเขียน 7 คน ได้ออกแถลงการณ์อีกหนึ่งฉบับ ในชื่อว่า “แถลงข่าวเรื่อง 'จดหมายเปิดผนึกถึงเพื่อนนักเขียนทั่วประเทศ ว่าด้วย มาตรา 112'” พร้อมกับบันทึกคลิปวิดีโอของการแถลงข่าวเพื่อนำเสนอผ่านอินเทอร์เน็ตเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา

สำหรับคลิปวิดีโอการแถลงข่าวของกลุ่มนักเขียนดังกล่าว ถูกถ่ายทำในสถานที่คล้ายห้องสมุดแห่งหนึ่ง โดยระหว่างการทำทั้งหมดมีสีหน้าค่อนข้างเคร่งเครียด โดยนายปราบดา หยุ่น ซึ่งสวมแว่นดำ เป็นผู้เริ่มอ่านเนื้อหาของแถลงการณ์ฉบับที่ 2 โดยเนื้อหาทั้งหมดมีดังต่อไปนี้

แถลงข่าวเรื่อง “จดหมายเปิดผนึกถึงเพื่อนนักเขียนทั่วประเทศ ว่าด้วย มาตรา 112”

ในคืนวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2554 ที่ผ่านมา พวกเราทั้งแปดลบหนึ่งนักเขียนในที่นี้ ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงเพื่อนนักเขียนด้วยกัน เรื่องขอเชิญร่วมลงชื่อในการเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 และยุติการใช้ข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในการปิดกั้นการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นทางการเมือง (อ่านจดหมายได้ที่ http://www.thaipoetsociety.com/index.php?topic=3668.0)

นับจากวันที่จดหมายได้กระจายออกไปถึงเพื่อนนักเขียนทั่วประเทศ จนถึงวันนี้ วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ.2554 มีผู้ลงชื่อเห็นด้วยกับเนื้อความในจดหมายเป็นจำนวน 320 คน เป็นรายชื่อนักเขียนที่หลากหลายทั้งอายุ สถานะ และแขนงงาน มีทั้งนักเขียนอาวุโส นักเขียนรุ่นใหม่ มีทั้งนักเขียนผู้เป็นศิลปินแห่งชาติ นักเขียนและกวีผู้มีชื่อเสียงในระดับกว้าง นักเขียนรางวัล เช่น รางวัลศรีบูรพา รางวัลศิลปาธร รางวัลซีไรต์ รางวัลรพีพร มีทั้งคอลัมนิสต์ยอดนิยม บรรณาธิการผู้มีอิทธิพลต่อวงการวรรณกรรม นักเขียนสารคดีคุณภาพ นักวิจารณ์ นักแปล รวมถึงนักเขียนบล็อก เขียนโฆษณา เขียนเนื้อเพลง เขียนการ์ตูน เขียนข่าว และอื่นๆ โดยท่านสามารถเข้าไปอ่านรายชื่อทั้งหมดได้ด้วยตนเองตามลิงก์ของเว็บไซต์ที่ปรากฏบนจอขณะนี้

ในรายชื่อนักเขียน 320 คน ประกอบไปด้วยผู้มีความเชื่อและศรัทธาที่หลากหลายแตกต่าง บ้างถึงขั้นยืนอยู่คนละขั้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทัศนะทางการเมือง มีทั้งนักเขียนที่เรียกตัวเองว่าเป็นคนหลากสี เป็นสลิ่ม เป็นคนสีส้ม สีรุ้ง สีดำ สีขาว สีแดงระเรื่อ สีแดง ไปจนถึงสีชมพู

นอกจากนักเขียนที่ร่วมลงชื่อ ยังมีเพื่อนนักเขียนอีกจำนวนมากที่ให้การสนับสนุนในรูปแบบอื่นๆ หรือแสดงทัศนะเห็นด้วยกับพวกเราเป็นการส่วนตัว แต่ไม่สามารถร่วมลงชื่อ ด้วยเหตุผลต่างๆกัน พวกเราเคารพเหตุผลของเพื่อนนักเขียนทุกท่านที่ไม่อาจแสดงตัว ทว่าเหตุผลสำคัญเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เพื่อนนักเขียนไม่อาจลงชื่อ เป็นเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นในจดหมายและยิ่งตอกย้ำให้เราเชื่อมั่นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาสั่นคลอนเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นอย่างปฏิเสธไม่ได้

เหตุผลนั้นคือความกลัว

แม้ว่าพวกเราในที่นี้จะเป็นผู้ร่างจดหมายเปิดผนึกขึ้น แต่เนื้อความและข้อเรียกร้องในจดหมายมิได้สะท้อนตัวตนเชิงปัจเจกของพวกเราแต่ละคนในด้านอื่นแต่อย่างไร อีกทั้งมิอาจแสดงทัศนะและอัตลักษณ์ส่วนบุคคลในมิติที่ข้ามเลยขอบเขตของเนื้อความในจดหมาย พวกเรามิใช่กลุ่มก้อนที่ต้องการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือระดมแนวร่วมเชิงอุดมการณ์ พวกเราปราศจากผลประโยชน์ส่วนตัวและไม่มีเจตนาแอบแฝงใดๆ นอกเหนือไปจากการเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น และความเป็นธรรม อันเป็นปัจจัยสำคัญขั้นพื้นฐานที่ประชาชนในสังคมประชาธิปไตยพึงได้รับ และเป็นหัวใจของการทำงานเขียน ซึ่งผูกพันเกี่ยวข้องกับพวกเราและนักเขียนผู้ร่วมลงชื่อทั้งหมดโดยตรง

คงไม่เกินเลยความจริง หากจะสรุปในเบื้องต้นจากเสียงตอบรับของเพื่อนนักเขียนท่ัวประเทศว่า กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นประเด็นที่นักเขียนไทยจำนวนไม่น้อยเห็นว่ามีปัญหาและถึงเวลาแล้วที่ต้องทบทวนแก้ไข เพื่อนำสังคมไทยไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นกับประชาชนอย่างเป็นธรรม ทั่วถึง และแท้จริง

นับตั้งแต่วันที่จดหมายเปิดผนึกได้รับการเผยแพร่ต่อสาธารณะ มีสื่อมวลชนและกลุ่มคนจำนวนหนึ่งตั้งคำถามกับเจตนารมณ์ของพวกเรา และเพื่อนนักเขียนที่ร่วมลงชื่ออย่างค่อนข้างคึกคัก โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์ ท่าทีในการตั้งคำถามมีทั้งการโต้แย้งแสดงทัศนะอย่างมีเหตุผล ไปจนถึงด่าทออย่างหยาบคายและใส่ร้ายบิดเบือนข้อเรียกร้องของเราโดยสิ้นเชิง หากบุคคลประเภทหลังนี้มีความเข้าใจภาษาไทย และได้อ่านจดหมายเปิดผนึกอย่างละเอียด ย่อมจะพบว่ามิได้มีข้อความใดถูกเขียนขึ้นด้วยถ้อยคำหรือความคิดเชิงลบหลู่ดูหมิ่น หวังร้ายต่อบุคคลหรือสถาบันใดทั้งสิ้น อีกทั้งยังระบุไว้ชัดเจนหนักแน่นว่า ข้อเรียกร้องของพวกเราเป็นข้อเรียกร้องต้องการเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น และความเป็นธรรม ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

สำหรับสื่อมวลชนและกลุ่มคนที่ออกมาโต้แย้งข้อความในจดหมายของพวกเราด้วยความเห็นที่ว่ากฎหมายมาตรา 112 ไม่เคยสร้างปัญหา ไม่เคยสร้างความไม่เป็นธรรม และไม่เคยตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของใคร ดูเหมือนพวกท่านจะพยายามเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ หรือเพิกเฉยต่อสิ่งที่มีข้อมูลหลักฐาน เป็นที่ถกเถียงในสังคมอย่างกว้างขวาง และเป็นหัวข้อในการเสวนาทางวิชาการ ทั้งในสถาบันการศึกษาและในสื่อกระแสหลักสืบเนื่องมาเป็นเวลานาน กระทั่งนักการเมืองและบุคคลชั้นปกครองของประเทศหลายกลุ่มหลายฝ่าย รวมทั้งนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ก็ได้เคยแสดงความเห็นในที่สาธารณะไว้อย่างชัดเจน ว่ากฎหมายมาตรานี้มีปัญหาและสมควรได้รับการทบทวนแก้ไข

สำหรับเพื่อนนักเขียนบางกลุ่มบางท่าน ที่มีความเคลือบแคลงใจในเจตนาของพวกเราผู้ร่างจดหมาย ขอให้สบายใจได้ว่าไม่มีพวกเราคนใดคิดนำการตอบรับของเพื่อนนักเขียนไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม เราขอยืนยันอีกครั้งว่าจดหมายเปิดผนึกของเรามิได้เป็นตัวแทนทางความคิด ความเชื่อ และทัศนะทางการเมืองด้านอื่นๆของพวกเราแต่ละคนไปเสียทั้งหมด เราเชื่อว่าเพื่อนนักเขียนมีวุฒิภาวะเพียงพอในการแยกแยะเรื่องส่วนตัวออกจากข้อเรียกร้องเพื่อส่วนรวม และมีความหนักแน่นในตัวเองเพียงพอจะไม่หวั่นไหวไปกับข้อกล่าวหาเหมารวมที่ไม่สร้างสรรค์ และมีแต่จะนำมาซึ่งความแตกแยกร้าวฉานระหว่างผู้มีความต้องการเดียวกัน นั่นคือเสรีภาพ ความเป็นธรรม และประชาธิปไตย

เรามิใช่คนกลุ่มแรกที่นำเสนอปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112 กระทั่งในแวดวงนักเขียนก็มีผู้รณรงค์เรื่องนี้มาก่อนและยังเคลื่อนไหวอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เสียงตอบรับจากเพื่อนนักเขียนในครั้งนี้ถือเป็นอีกสัญญาณสำคัญที่บ่งบอกอย่างเป็นรูปธรรมแล้วว่า มีความเป็นห่วงกังวลกับบรรยากาศในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นในสังคมไทย และการคุกคาม ข่มขู่ การก่อให้เกิดความหวาดกลัวขึ้นในสังคมด้วยกฎหมายมาตรา 112 โดยคนบางกลุ่มนั้น มีอยู่จริงอย่างไม่ต้องสงสัย

ในฐานะนักเขียนต่างสายต่างแขนง ไม่ใช่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยตรง สิ่งที่เราทำได้คือแสดงพลังเสียง และเราเชื่อว่าเสียงตอบรับอย่างกว้างขวางจากเพื่อนนักเขียนในครั้งนี้มีพลังเพียงพอในการเรียกร้องให้สังคมนำกฎหมายมาตรา 112 มาทบทวนอย่างเปิดเผยและจริงจัง

เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสัญญาณเสียงของเราและเพื่อนนักเขียนจะดังไปถึงนักการเมืองและบุคคลในระดับชั้นปกครองทุกฝ่าย และส่งผลให้พวกท่านตระหนักว่า ไม่อาจรีรออีกต่อไปที่จะนำกฎหมายมาตรา 112 มาไตร่ตรอง ทบทวน และแก้ไขเพื่อส่วนรวม และเพื่อส่งเสริมให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เข้มแข็ง มีสำนึกประชาธิปไตย และมีความสามัคคี ด้วยเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น

มิใช่ด้วยอำนาจมืดและความหวาดกลัว

ด้วยความเคารพและขอบคุณ

บินหลา สันกาลาคีรี
ปราบดา หยุ่น
ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง
ซะการีย์ยา อมตยา
กิตติพล สรัคคานนท์
วรพจน์ พันธุ์พงศ์
วาด รวี
7 มิถุนายน 2554

กำลังโหลดความคิดเห็น