ASTVผู้จัดการ - เปิดจดหมาย 7 นักเขียนแดง-ซ้ายจัด หนุนรื้อ “มาตรา 112” โอดทำพวกเดียวกันติดคุก ขัดขวางการแสดงออกตัดโอกาสพัฒนาผลงาน อ้างนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับสถาบัน ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์แบบตรงไปตรงมาด้วยเจตนาดี หนุนแนวทาง “วรเจตน์-สมศักดิ์ เจียมฯ” สุดมั่วนิ่ม ใส่ชื่อ “ทราย เจริญปุระ” ถามเจ้าตัวถึงกับงง ไม่เคยอ่านจดหมายด้วยซ้ำ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา ในเว็บไซต์เครือข่ายกลุ่มคนเสื้อแดง ได้มีการตีพิมพ์และเผยแพร่จดหมายเปิดผนึกเพื่อเชิญให้ร่วมลงชื่อในการเรียกร้องให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญาที่ว่าด้วยการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ และให้ยุติการใช้ข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพปิดกั้นการแสดงออก และแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หลังจาก นายสมศักดิ์ เจียมธีระสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้
“เพื่อนนักเขียนทุกท่าน เรา - นักเขียนผู้มีรายชื่อในท้ายจดหมายฉบับนี้ เชื่อว่า ท่านคงเห็นด้วยว่า เสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น คือ หัวใจสำคัญของการเป็นนักเขียนในสังคมประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนประเภทใด ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนผู้ทำงานเขียนเพื่อเลี้ยงชีพ หรือเป็นนักเขียนผู้ผลิต “งานสร้างสรรค์” ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนผู้มีอุดมการณ์ ศรัทธา และความเชื่อส่วนตัวเช่นไร เสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น ถือเป็นพื้นฐานสำคัญเบื้องต้นที่เอื้อให้นักเขียนทุกคนทุกแขนงในสังคม ได้มีพื้นที่ มีอิสรภาพ และมีโอกาสในการพัฒนาทั้งคุณภาพผลงานและทั้งคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่โดยเท่าเทียมกัน
เมื่อใดก็ตามที่เสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นตกอยู่ในสภาวะบอบบาง อ่อนแอ และสั่นคลอน สถานภาพของการเป็นนักเขียนในสังคมประชาธิปไตยย่อมตกอยู่ในสภาวะบอบบาง อ่อนแอ และสั่นคลอนไปด้วย ผลกระทบเบื้องต้น คือ การหยุดชะงักของโอกาสในการพัฒนาความรู้ ความคิด และการสร้างสรรค์งานเขียน เนื่องเพราะถูกจำกัดขอบเขตการแสดงออกและการสานต่อทางปัญญา ผลกระทบขั้นรุนแรงกว่าคือการต้องใช้ชีวิตและทำงานภายใต้บรรยากาศอันมืดมิด ภายใต้ความหวั่นวิตกถึงการสูญเสียสิทธิ สูญเสียอิสรภาพอย่างไม่เป็นธรรม และหวาดกลัวต่ออันตรายที่อาจเกิดกับตนเองและครอบครัว
สังคมไทยขณะนี้ มีการนำกฎหมายอาญามาตรา 112 มาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยคนหลายกลุ่มหลายฝ่าย มีการใช้มาตราดังกล่าวในการข่มขู่คุกคาม กระทั่งฟ้องร้องดำเนินคดี คุมขังและลิดรอนอิสรภาพของประชาชนผู้ถูกกล่าวหาจำนวนมาก ทำให้เห็นว่าสังคมไทยกำลังก้าวล่วงสู่สภาวการณ์ที่เสรีภาพในการแสดงออก และแสดงความคิดเห็นถูกคุกคามอย่างอยุติธรรมมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ นอกเหนือไปจากความกังวลในฐานะประชาชนที่อาจต้องเผชิญกับการคุกคาม เราในฐานะนักเขียน ย่อมมิอาจนิ่งดูดายและปล่อยให้หัวใจสำคัญของการเป็นนักเขียน และการทำงานเขียนภายใต้สังคมประชาธิปไตย ต้องตกอยู่ในวิกฤตเช่นนี้
ข้อความสั้นๆ ของกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่กล่าวว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” ได้ถูกนำมากล่าวอ้างกล่าวหาเพื่อประโยชน์ทางการเมือง เพื่อข่มขู่ ฟ้องร้อง และคุมขังประชาชน
หลายครั้งเป็นการตีความกฎหมายโดยกว้าง เช่น แม้แต่การไม่ยืนถวายพระพรเมื่อมีการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี ก็กลายเป็นความผิดฐานดูหมิ่นได้
นอกจากนั้น กระบวนการบังคับใช้กฎหมายมาตรานี้ ยังได้ฉวยใช้ความรู้สึกต่อองค์พระมหากษัตริย์ของคนทั่วไป มารวบรัดขั้นตอนการดำเนินคดี ไม่ดำเนินคดีตามกระบวนการที่ถูกต้องเหมาะสมตามกฎหมาย หากแต่เป็นการดำเนินคดีตามอำเภอใจ เช่น สั่งให้มีการไต่สวนโดยปิดลับ และห้ามสื่อมวลชนทำข่าว
จนกระทั่งบัดนี้ แม้แต่สื่อมวลชนและนักวิชาการที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยของรัฐบาล ซึ่งอภิปรายเรื่องการเมืองที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันกษัตริย์อย่างเป็นวิชาการ ยังถูกฟ้องร้องดำเนินคดีด้วยกฎหมายมาตรา 112 เช่นกัน
หลายกรณีที่เกิดขึ้น เราไม่สามารถเข้าใจได้ว่าเป็นการ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย” อย่างไร นอกจากเป็นเพียงแต่การพยายามนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ด้วยเหตุผล และข้อมูลทางประวัติศาสตร์อย่างตรงไปตรงมา ด้วยกิริยาและวาจาที่อยู่บนมาตรฐานของมนุษย์ ผู้มีอารยธรรม อีกทั้งยังเป็นการแสดงทัศนะที่เกิดจากเจตนารมณ์อันดีต่อสถาบันกษัตริย์และสังคมไทย เป็นการนำเสนอแนวทางที่จะสร้างความมั่นคงยั่งยืนให้กับสถาบันกษัตริย์ในระยะยาว มิได้ลบหลู่ล่วงเกิน หรือต้องการ “ล้ม” สถาบันแต่ประการใด
บรรยากาศของความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นในสังคม และพฤติกรรมคุกคามโดยคนบางกลุ่ม เช่น ทหารไทยที่ออกมาตบเท้าข่มขู่ประชาชน และฟ้องร้องนักวิชาการ ตอกย้ำให้เราตระหนักว่า ถึงเวลาแล้วที่สังคมต้องนำกฎหมายอาญามาตรา 112 มาเป็นประเด็นทบทวนพิจารณาปรับปรุงแก้ไขอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันมิให้เสรีภาพในการแสดงออก และแสดงความคิดเห็นของประชาชนถดถอยล้าหลัง ก้าวย่างไปสู่ยุคมืด หรือถูกทำลายลงโดยสิ้นเชิงในที่สุด
ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยต้องแยกแยะ “การล้มสถาบัน” ออกจากการอภิปรายเพื่อนำไปสู่เสถียรภาพทางสังคมในระยะยาว และการปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก และแสดงความคิดของประชาชน ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ในฐานะประชาชนชาวไทยผู้มีความเป็นห่วง และกังวลต่อสภาวการณ์บ้านเมืองภายใต้บรรยากาศของความหวาดกลัว และในฐานะนักเขียนไทยผู้หวงแหนเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น เราต้องการเรียกร้องให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยเร็วที่สุด และสนับสนุนการนำแนวทางที่ปัญญาชนบางกลุ่มบางท่าน (เช่น กลุ่มนิติราษฎร์ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีระสกุล และกลุ่มอื่นๆ) ได้เสนอแนะไว้ในหลายวาระ ขึ้นมาพิจารณาประกอบกัน เพื่อนำไปสู่บทสรุปที่เป็นธรรม และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคมไทย
นอกจากนี้ เราต้องการเรียกร้องให้ผู้ใช้สถาบันกษัตริย์เป็นข้ออ้างในการแสดงบทบาท และวางอำนาจทางการเมือง เช่น ทหาร ได้ยุติพฤติกรรมดังกล่าว และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเอง หากความสงบสุข ความสามัคคี และความเป็นธรรม คือ สิ่งที่ท่านต้องการให้เกิดขึ้นอย่างบริสุทธิ์ใจ
ในสังคมประชาธิปไตย ที่ประกอบด้วย ความแตกต่างหลากหลาย การเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนความเชื่อและความคิดเห็นที่แตกต่าง คือ กระบวนการที่ช่วยให้เกิดความมั่นคงในการอยู่ร่วมกัน และช่วยบรรเทาความรุนแรงของความขัดแย้งที่สามารถบังเกิดตามธรรมชาติของสังคม การประนีประนอมนั้นมิได้เกิดจากความกลัว หากแต่เกิดจากการฝากความหวังไว้กับการเรียนรู้ของประชาชน และฝากความเชื่อมั่นไว้กับสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน หากเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นของประชาชนถูกคุกคามและสั่นคลอน ความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อระบอบประชาธิปไตยและต่อประเทศของตน ย่อมสั่นคลอนเสื่อมถอยอย่างไม่ต้องสงสัย
เพื่อนนักเขียนที่เคารพทุกท่าน เรา - นักเขียนผู้มีรายนามในท้ายจดหมายนี้ ต้องการเรียกร้องให้มีการทบทวน ปรับปรุง แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อความมั่นคงของประชาธิปไตย เพื่อความเป็นธรรมในสังคม เพื่อความยืนยงของสถาบันกษัตริย์ และเพื่ออนาคตของประเทศชาติ
เรา - นักเขียนผู้มีนามต่อท้ายจดหมายฉบับนี้ มั่นใจว่า เพื่อนนักเขียนทุกท่านตระหนักถึงความสำคัญของเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น และหากท่านเห็นด้วยกับข้อเรียกร้อง เห็นด้วยว่าต้องยุติการใช้ข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง เราขอเรียนเชิญให้ท่านร่วมแสดงออกกับเราในครั้งนี้ ด้วยการลงชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องดังกล่าวในฐานะนักเขียน
เราย้ำว่า เสียงของท่านมีความสำคัญกับผู้ที่กำลังถูกดำเนินคดีอย่างไม่ยุติธรรมทุกคน ทั้งในอดีต และในอนาคต เราขอให้ท่านสละเวลาลงชื่อเพื่อร่วมเรียกร้องด้วยกันกับเรา ตามช่องทางที่ระบุไว้ท้ายจดหมายฉบับนี้”
สำหรับจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว มีนักเขียนที่สนับสนุนกลุ่ม นปช.และที่มีแนวคิดสังคมนิยม หรือฝ่ายซ้ายลงนามในท้ายชื่อ ในฐานะเป็นเจ้าภาพตั้งต้น ได้แก่ บินหลา สันกาลาคีรี หรือ นายวุฒิชาติ ชุ่มสนิท นักเขียนรางวัลซีไรต์ พร้อมด้วย ปราบดา หยุ่น นักเขียน และบุตรชายนายสุทธิชัย หยุ่น บรรณาธิการอำนวยการเครือเนชั่น, น.ส.ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัด นายซะการีย์ยา อมตยา นักเขียนรางวัลซีไรต์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ thaipoetsociety.com, นายกิตติพล สรัคคานนท์, นายวรพจน์ พันธุ์พงศ์ นักเขียนและคอลัมนิสต์ และ วาด รวี หรือ นายรวี สิริอิสสระนันท์ เจ้าของวารสารหนังสือใต้ดิน ซึ่งเป็นผู้รวบรวมรายชื่อนักเขียนร่วมกับกับ นายซะการีย์ยา ผ่านช่องทางต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีชื่อของ น.ส.อินทิรา เจริญปุระ หรือ ทราย เจริญปุระ นักร้องและนักแสดงชื่อดังติดอยู่ในรายชื่อเจ้าภาพอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม วันนี้ (20 พ.ค.) แหล่งข่าวจากบุคคลที่รู้จักกับ ทราย เจริญปุระ รายหนึ่ง เปิดเผยว่า เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา ตนได้โทรศัพท์ไปถามทรายโดยตรง เพื่อสอบถามถึงการเข้าชื่อเพื่อต่อต้านมาตรา 112 โดย ทราย ระบุว่า ตนรู้ข่าวแบบงงๆ และไม่เคยอ่านจดหมายฉบับดังกล่าวว่าเขียนอย่างไรเสียด้วยซ้ำ ซึ่งภายหลังพบว่ามีเว็บไซต์เครือข่ายกลุ่มคนเสื้อแดง และเว็บไซต์สำนักข่าวแห่งหนึ่งที่นำจดหมายเปิดผนึกไปเผยแพร่ต่อได้ทยอยตัดชื่อทรายออกจากรายชื่อดังกล่าวแล้ว