xs
xsm
sm
md
lg

ทราย เจริญปุระ - “แดงใบ้ “แบ๊ะ … แบ๊ะ” !!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทราย เจริญปุระ
“ทราย เจริญปุระ” นักแสดงและคอลัมนิสต์ “รักคนอ่าน” ใน นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ที่เคยมีผลงานเล่าขานในหมู่คนเสื้อแดงกับผลงานงานเขียนชื่อ “91 ศพชีวิตคงน้อยไป” หรือ “แดงทำไม ทำไมแดง” หนึ่งในนักเขียนที่มีชื่อร่วมต่อต้านมาตรา 112 ที่ว่าด้วยการหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เมื่อมีคนรู้จักโทร.ไปสอบถามเธอได้แสดงน้ำเสียงมึนงงและยืนยันว่า ไม่เคยอ่านเนื้อหาจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ เรื่องใหญ่ขนาดนี้ …
เธอกลับนิ่งเฉย ไม่ยอมสาวเรื่องที่ถูกพ่วงชื่อเข้าไปได้อย่างไร ชื่อของ “ทราย” ที่เข้าไปพัวพันกับคนเสื้อแดงมีมาตั้งแต่มีรายชื่อ “อินทิรา เจริญปุระ” เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ลงนามกดดันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ให้เปิดมหาวิทยาลัยเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุมในการใช้ห้องน้ำ เมื่อการชุมนุมใหญ่เมื่อ 14 มีนาคมปีที่แล้ว ตกลง “แดงทำไม ” อย่างเธอนี่ … ต้องเรียกว่า “ตัวจริง” แต่“ชื่อเทียม”

การมีชื่อเป็นหนึ่งในกลุ่มนักเขียนที่ยื่นจดหมายเปิดผนึกเพื่อล่ารายชื่อคนที่จะเข้าร่วมแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ของทรายจึงเป็นเรื่องที่คนทั่วไปเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะเธอชัดเจนในระดับหนึ่งที่เป็นผู้สนับสนุนคนเสื้อแดง แต่จากกรณีนี้ เมื่อมีการสอบถาม เจ้าตัวให้การปฏิเสธ “ไม่รู้ ไม่เห็น และไม่ทราบ”

การทำใจให้เชื่อว่าเธอมีแนวคิดและอุดมการณ์สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับนักเขียนแดงในกลุ่มนี้เป็นเรื่องที่ง่ายกว่าการทำใจให้เชื่อว่าเธอไม่มีส่วนรู้เห็นกับจดหมายเปิดผนึกฉบับนั้น

คอลัมน์ “รักคนอ่าน” ของทราย เจริญปุระอยู่ชิดติดกับคอลัมน์ “คำผกา” นักเขียนเฟมินิสต์ ที่แสดงตัวตนความเป็น 'สาวสีแดง' ออกมาอย่างชัดเจนด้วยลีลาสำเนียงจิกกัดด่ากราดทุกคนที่เห็นต่างไปจากคนเสื้อแดง และคำผากนี่เองที่เป็นหนึ่งในผู้ที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนกลุ่มนักเขียนต่อต้านมาตรา 112 นอกจากนั้นยังมีนักเขียนและคอลัมนิสต์จากมติชนตบเท้าเข้าร่วมทั้งในฐานะเจ้าภาพและผู้ร่วมสนับสนุนอีกเพียบ

ระยะนี้ ทราย เจริญปุระ ไม่รับโทรศัพท์ส่วนตัว และซุ่มเก็บตัวเงียบไม่ออกมาชี้แจงแถลงข่าวว่า เพราะเหตุใดจึงมีชื่อร่วมอยู่ในฐานะเจ้าภาพต่อต้านมาตรา 112

สืบย้อนกลับไปก่อนหน้านี้เมื่อครั้งที่กลุ่มคนเสื้อแดงมาชุมนุมประท้วงกันอยู่บริเวณสนามหลวงเมื่อช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2553 ตอนนั้นคนเสื้อแดงได้ทำการเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดประตูสถาบันให้กลุ่มคนเสื้อแดงเข้าไปใช้สถานที่ในการทำกิจธุระส่วนตัวต่างๆ วันนั้นมีผู้คนจากหลากสาขาอาชีพร่วมกันลงชื่อเห็นด้วยกับกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งหนึ่งในนั้นมีชื่อของ “อินทิรา (ทราย) เจริญปุระ” รวมอยู่ด้วย เมื่อนำเรื่องดังกล่าวมาประกอบกับบทความข้อเขียนของทรายก็ยิ่งทำให้น้ำหนักเรื่องการเป็นหนึ่งในเจ้าภาพกลุ่มนักเขียนคัดค้านมาตรา 112 เพิ่มมากขึ้น

ในแถลงการณ์ล่าสุด(วันที่ 7 มิ.ย. )ของกลุ่มนักเขียนต่อต้านกฎหมายมาตรา 112 พวกเขาบอกว่าหลังจากที่มีจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ออกไป ก็มีเพื่อนนักเขียนมากมายแสดงความรู้สึกสนับสนุนพวกเขาแต่มี “หลายคน” ที่ไม่อาจจะร่วมลงชื่อได้ด้วยเหตุผลส่วนตัว ซึ่งพวกเขาก็บอกว่าเข้าใจและเคารพการตัดสินใจของนักเขียนเหล่านั้น

ต้องยอมรับว่า “ทราย เจริญปุระ” เป็นนักแสดงเพียงไม่กี่คนที่หันมาเอาดีกับการเขียนหนังสืออย่างจริงจัง มีผลงานต่อเนื่องมานับสิบปี พาตัวเองฝ่ากระแสดาราจับปากกามาสู่การเป็นดาราเขียนหนังสือตัวงจริง และไปได้สวยกว่าดาราคนอื่นๆในรุ่นเดียวกัน เคยร่วมงานกับนิตยสารในท้องตลาดมาหลายเล่ม อาทิ เขียนคอลัมน์ “ในรอยทราย” ให้แก่นิตยสารสุดสัปดาห์ในช่วงปี พ.ศ. 2544 - 2545 , คอลัมน์ In -sine story ในนิตยสาร FOX เมื่อปี พ.ศ. . 2546 , คอลัมน์ My Life The Star ในนิตยสาร TV. Review ปี พ.ศ. 2548 เรื่องสั้นชื่อ “ในตาราตรี” ของเธอได้รับการคัดเลือกให้เข้ารอบ “รางวัลช่อปาริชาต” ต่อมาเธอได้รับการทาบทามให้เขียนคอลัมน์ “รักคนอ่าน” ใน “นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์” อีกด้วย และการทำงานกับมติชนนี่เองที่เปลี่ยนแปลงหรือขับเน้นทัศนคติทางด้านการเมืองของทรายให้เด่นชัดยิ่งขึ้น

คอลัมน์ “รักคนอ่าน” ในหน้า 80 ของหนังสือมติชน สุดสัปดาห์ระยะเริ่มแรกเป็นการแสดงมุมมองความคิดของทรายที่มีต่อเรื่องราวต่างๆ รอบตัวของเธอ แต่หลังจากที่ยืนระยะมาได้กว่า 9 ปี ทรายก็เริ่มที่จะเผยแสดงมุมมองเกี่ยวกับเรื่องการเมืองของเธอออกสู่สาธารณะมากขึ้น และที่น่าจับตาก็คือ แม้จะไม่เคยออกมาพูดชัดๆ ว่าเธอ 'ถือหาง' ฝ่ายใด แต่ตัวหนังสือที่เธอปล่อยออกมาบนหน้ากระดาษนั้นชัดเจนเสียยิ่งกว่าร้อยพันคำพูดเสียอีกว่าเธอยืนอยู่ฝั่งเดียวกับคอกค่ายที่ทำงานให้อย่างเต็มตัว

ผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์ของเธอเริ่มที่จะไหวตัวว่าดาราเจ้าบทบาทที่พวกเขาชื่นชมมีแนวคิดทางการเมืองเป็นอย่างไรเมื่อได้อ่านบทความในคอลัมน์รักคนอ่าน ซึ่งทวีความแดงแจ๋มากขึ้นทีละนิด และมาแจ่มชัดมากที่สุดเมื่อทรายเขียนเกี่ยวกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงในบทความชื่อ 'แดง' ทำไม ทำไม 'แดง' หรือ 91 ชีวิตคงน้อยไป (ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2554) ซึ่งถูกใจชาวเสื้อแดงเป็นอย่างมาก

'แดง'ทำไม ทำไม 'แดง' ทรายพยายามสื่อแสดงอย่างตรงไปตรงมาว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงเป็นเรื่องที่ทำเพื่อประชาธิปไตย เธอเปรียบเปรยเย้ยหยันเด็กสาวในเมืองกรุงว่าวันๆ ไม่สนใจอะไรนอกจากรูปร่างหน้าตาและความสวยงามสนุกสนาน ทรายแสดงน้ำเสียงตำหนิคนกรุงเทพฯ ที่ก่นด่าต่อว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงอย่างชัดเจนว่าคนกรุงเทพฯ ไม่เคยใส่ใจความเดือดร้อนของคนที่มาร่วมชุมนุม เป็นการแสดงท่าทีที่ชัดเจนที่สุดครั้งหนึ่งของทรายว่าเธอสนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง!!

ในบทความดังกล่าว ณ ตอนหนึ่งพูดถึงกลุ่มคนเสื้อแดงเอาไว้ว่า “ใครคือเสื้อแดง ในมุมหนึ่งหลายคนอาจคิดว่าพวกเขาคือชาวนา ชาวนา คนจน คนจน คนขับแท็กซี่ คนขับแท็กซี่ เรียกง่ายๆ รวมๆ คือพวกมาจากบ้านนอก แต่ฉันกลับพบว่ามีคนมากมายกว่านั้นที่นับได้ว่าเป็นเสื้อแดง อาจารย์, หมอ, นักศึกษามหาวิทยาลัยรัฐบาล, นักแสดง, คอลัมนิสต์, นักโฆษณา ไปจนถึงข้าราชการ ผู้ประกอบอาชีพต่างๆ เหล่านี้ซึ่งหลายๆ คนเชื่อว่าเป็นคนมีการศึกษา มีรายได้ดี รักประเทศชาติ รังเกียจทรราชและรักความถูกต้อง แน่นอน, พวกเขาเป็นทั้งหมดเช่นที่คุณเข้าใจนั่นล่ะ และพวกเขาก็ยังรักความคิดเสรี รักความเป็นจริง”

ถึงแม้จะไม่มีเครื่องหมายเน้นย้ำ แต่ถ้อยคำ “รังเกียจทรราชและรักความถูกต้อง” และ “รักความเสรี รักความเป็นจริง” ก็เป็นมุมมองที่ทรายต้องการสื่อออกมาว่าเธอมองคนเสื้อแดงเช่นนั้น และเธอก็ตั้งใจที่จะให้คนอื่นๆ มองคนเสื้อแดงเช่นเดียวกับเธอ

ท้ายบทความชิ้นนี้ทรายพยายามเปรียบเทียบสถานการณ์การเมืองของลิเบียที่ผู้คนเรือนแสนลุกฮือขึ้นมาขับไล่ผู้นำทรราช “มูอัมมาร์ อัล -กัดดาฟี” โยงเข้ามาสู่ประเทศไทย ซึ่งแทบทุกคนที่ติดตามข่าวก็แยกแยะออกว่าเป็นการจับโยงที่มั่วมึน และไม่สมเหตุสมผลเป็นอย่างยิ่ง การปิดกั้นและแทรกแซงสื่อของกัดดาฟีร้ายแรงและหนักหนาจนไม่สามารถมาเปรียบเทียบกับประเทศไทยได้เลยแม้แต่น้อย
พิสูจน์ได้จากอิสรภาพในการเขียนงานเชิงเปรียบเปรยของทรายที่ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือและยังคงว่อนหราอยู่ในอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงอิสรภาพในระดับที่มากเกินกว่าประเทศลิเบียไปหลายขุม
…......................

เรื่องใหญ่ขนาดมีจุดประสงค์เพื่อ “ล้มสถาบันพระมหากษัตริย์” อันเนื่องมาจากขบวนการต่อต้านกฎหมาย มาตรา 112 ทำไม เธอจึงเก็บตัวเงียบ ไม่ออกมาพูดอะไรให้แจ่มชัดเหมือนกับที่เธอกล้าเขียนบทความแสดงทัศนะเกี่ยวกับการเมืองเอาไว้ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ และ ถ้าเธอถูกนำชื่อไปแอบอ้าง เธอย่อมสามารถที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้แอบอ้างได้เลยด้วยซ้ำ แค่เพราะเหตุใดทรายยังคงนิ่งเงียบ “เพราะการนิ่งเงียบคือการยอมรับ และการปฏิเสธคือการกลับมาเป็นตัวของตัวเอง”
แต่การเล่นภาพยนตร์ “ตำนานสมเด็จพระนเรศวร” นั้นเพราะไม่ต้องการให้ท่านมุ้ยลำบากใจ !!?
เชื่อว่า ทุกคนกำลังรอคำตอบจากปากเธออยู่
.........................................

ที่มา นิตยสาร ASTV สุดสัปดาห์ ฉบับ 89 วันที่ 18 - 24 มิถุนายน 2554

ภาคผนวก
ข้อเขียนเรื่อง “แดง”ทำไม ทำไม “แดง”ใน “คอลัมน์ รักคนอ่าน” โดย ทราย เจริญปุระ
ที่มา นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4-10 มีนาคม 2554

1.

กรุงเทพฯ
วันฝนตกปรอยวันหนึ่ง
สาววัยรุ่นข้างฉันส่องกระจกเช็กคอนแทกต์เลนส์บิ๊กอายส์ของเธอเป็นรอบที่ร้อยก่อนถอนหายใจอย่างหงุดหงิด
"มันติดอะไรน่ะพี่"
เงียบงันกันอยู่อย่างนั้น คนขับรถตู้จึงหันมาตอบเรียบๆ ว่า
"มีชุมนุมครับ"
สาวบิ๊กอายส์ทิ้งตัวลงกับเบาะแรงๆ พร้อมกลอกตาโตสีฟ้าของเธอสู่เพดานรถ
"โอ๊ย พวกนี้แม่งชุมนุมกันอยู่ได้ รถติดรู้มั้ยเนี่ย"
เงียบงันกันไปอีกครั้ง ก่อนที่เสียงพี่คนขับรถตู้จะดังขึ้น
"ครับ"
คราวนี้, เขาไม่ได้หันมา

2.

จังหวัดหนึ่งในภาคกลาง
วันเสาร์ ร้านก๋วยเตี๋ยว
เสียงประกาศจากรถตู้ดังแว่วๆ ฝ่าอากาศร้อนมาไกลๆ
เงี่ยหูฟังจับใจความแล้วแต่ยังคงกระท่อนกระแท่น
"เบื่อไหม"
ฉัน งงๆ ที่อยู่ๆ ก็มีคนถามขึ้นมา แต่ฉันก็มักถูกคนไม่เคยรู้จักกันมาก่อนทักจนเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้ว หน้าตาฉันคงบอกถึงอารมณ์หลากหลาย เจ้าของเสียงที่เป็นหญิงวัยปลายกลางคนจึงเฉลยคำถามที่ตัวเองตั้งไว้
"เสียงรถเขามาเรียกไปชุมนุมน่ะ ที่ถามเพราะเห็นคนกรุงเทพฯ เขาเบื่อกัน"
ฉันยิ้มๆ ตอบไปทีเล่นทีจริงว่าฉันเป็นคนเมืองนนท์ ไม่ใช่คนกรุงเทพฯเลยไม่มีปัญหาอะไร
"น่า เบื่อเนอะ มีแต่พวกจนๆ ทำให้ชาวนาชาวไร่ดูไม่ดีกันไปหมด พี่ไม่เอาคนหนึ่งล่ะ ไปนอนรอกันตรงนั้นทำไม บ้านช่องดีๆ มีไม่ยอมนอน สงสัยจะจ้างกันมาแพง"
ก่อนที่ฉันจะตอบอะไร เสียงจากรถตู้ก็ฟังได้ชัดเจน
เขามาประกาศขายกับข้าว
3.

ใครคือเสื้อแดง
ในมุมหนึ่ง, หลายคนอาจคิดว่าพวกเขาคือชาวนา ชาวนา คนจน คนจน คนขับแท็กซี่ คนขับแท็กซี่
เรียกง่ายๆ รวมๆ คือพวกมาจากบ้านนอก
แต่ฉันกลับพบว่ามีคนมากมายกว่านั้นที่นับได้ว่าเป็นเสื้อแดง
อาจารย์, หมอ, นักศึกษามหาวิทยาลัยรัฐบาล, นักแสดง, คอลัมนิสต์, นักโฆษณา ไปจนถึงข้าราชการ ผู้ประกอบอาชีพต่างๆ เหล่านี้ซึ่งหลายๆ คนเชื่อว่าเป็นคนมีการศึกษา มีรายได้ดี รักประเทศชาติ รังเกียจทรราชและรักความถูกต้อง
แน่นอน, พวกเขาเป็นทั้งหมดเช่นที่คุณเข้าใจนั่นล่ะ
และพวกเขาก็ยังรักความคิดเสรี รักความเป็นจริง
ฟังดูธรรมดาและน่าจะเป็นเช่นนั้นอยู่แล้วใช่ไหม
คำตอบคือใช่
และส่วนขยายของคำตอบนั้นก็คือ, พวกเขาก็ถูกจัดว่าเป็นเสื้อแดงเช่นกัน

4.

จาก เหตุการณ์ไม่สงบจนลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมืองในประเทศลิเบีย ที่ถูกปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ ผูกขาดมายาวนานโดย มูอัมมาร์ อัล-กัดดาฟี และครอบครัวนั้นส่งผลให้มีคนเสียชีวิตไปมากมายโดยยังระบุตัวเลข ที่แน่นอนไม่ได้
“กัดดาฟีสั่งยิงคน" "กัดดาฟีปกครองควบคุมทุกอย่างในลิเบีย" "กัดดาฟีปิดกั้นสื่อ" "อยู่ในประเทศนั้นคงน่าสงสารอ่ะ" "กัดดาฟีโคตรใจร้ายเลย" "สงสารคนลิเบียที่ตายว่ะ แม่งคงไม่ไหวจริงๆ ถึงลุกขึ้นมาต่อต้าน" "กัดดาฟีเลวเนอะ"
เป็นประโยคที่ฉันได้ยินหนาหูในช่วงนี้
กัดดาฟีสั่งยิงคน กัดดาฟีเป็นคนเลว กัดดาฟีเป็นเผด็จการ
คนลิเบียเสียชีวิตมากจนระบุจำนวนไม่ได้ เขาคงทนไม่ไหวจริงๆ ถึงลุกขึ้นมาต่อต้าน

บางที, แค่บางทีเท่านั้น ที่ฉันอดคิดขึ้นมาไม่ได้ว่า
91 ชีวิตคงน้อยเกินไป.
สัญลักษณ์ต้าน ม. 112
กลุ่มนักเขียนที่เป็นแกนต่อต้าน ม. 112 เพื่อ “ล้มเจ้า”
ปก “นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์”
คอลัมน์ รักคนอ่าน” กับบทความ “ แดงทำไม ทำไมแดง” ของทราย
กำลังโหลดความคิดเห็น