“พิภพ” อัด “อ.ประจักษ์” ตกอยู่ในระบบมากเกินไป พร้อมไล่ศึกษาประวัติสมัย “จอมพลถนอม” แม้ไม่มีกม.รับรองการชุมนุม ปชช.เคลื่อนไหวยังเรียกร้องให้ใช้ รธน. ได้ แนะศึกษาเจตนารมณ์ช่องไม่ประสงค์เลือกใคร ก่อนพูดจะไม่มีผลทางกฎหมาย เชื่อไม่ต่ำกว่า 5-10 ล้านเสียงต้องการให้ปฎิรูปการเมือง เตือนหากขึ้นทะเบียนมรดกโลกร่วม ต้องตกลงเขตแดนไทย-เขมรให้เรียบร้อยก่อน
วันที่ 2 มิ.ย. 2554 บนเวทีปราศรัยการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ นายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า นายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนักรัฐศาสตร์ที่ตกอยู่ในระบบมากเกินไป ลืมมองไปว่ากฎหมายรับรองให้ภาคประชาชนแสดงสิทธิเสรีภาพจากการชุมนุมที่สันติ เพื่อแสดงเจตนำนงค์ของประชาชนว่าต้องการอะไร ทั้งนี้ จากประวัติ เจตน์จำนงของประชาชนแสดงออกได้โดยไม่ต้องมีกฎหมายรับรอง เมื่อแดงเจตจำนงค์แล้วกฎหมายจะมารับรองภายหลัง ตัวอย่างเช่น ต้องการให้คณะรัฐประหารที่ยึดครองอำนาจสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ วันนั้นไม่มีกฎหมายรับรองการชุมนุม มีแต่กฎหมายห้ามประชาชนจับกลุ่มรวมตัวเกิน 5 คน หากฝ่าฝืนสามารถจับเข้าคุกได้ในข้อหากบฎ แต่ประชาชนทุกหมู่เหล่าได้รวมตัวออกมาต่อต้านทำให้ รัฐบาลจอมพลถนอมซึ่งแข็งแกร่งมากก็อยู่ไม่ได้ ในที่สุดก็มีการร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญใหม่ ว่า ประชาชนมีสิทธิชุมนุมเดินขบวนรวมตัวกันได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เจตจำนงของประชาชนต้องมาก่อนกฎหมาย
ดังนั้นที่ อ.ประจักษ์ บอกว่าโหวตโนจะไม่มีผลทางกฎหมาย แต่ก็ยังยอมรับว่ากฎหมายรับรองให้กาในช่องไม่เลือกใคร แสดงว่า อ.ประจักษ์ดูแค่ประเด็นพันธมิตรฯ ชูเรื่องโหวตโนเพราะเกลียดนักการเมือง ไม่ได้วิเคราะห์ถึงเจตนารมณ์ทำไมถึงต้องมีช่องโหวตโน ส่วนที่ถามต่อว่าโหวตโนเที่ยวนี้จะแสดงอะไร นั้นหากสำเร็จก็ได้ปฎิรูปการเมือง หากถามต่อแล้วจะปฎิรูปได้อย่างไร ขอบอกว่าโหวตโนเที่ยวนี้ เรามีการรณค์กันอย่างเอาจริงเอาจัง เน้นนำไปสู่การปฎิรูปการเมือง ปฏิรูปนักการเมือง ซึ่งตนคาดจะมีคนเข้าคูหากาในช่องไม่เลือกใครเลยหรือโหวตโน ไม่ต่ำกว่า 5-10 ล้านเสียง เมื่อถึงตรงนั้น ก็อยากให้ อ.ประจักษ์ ไปถามเลยว่าใน 5-10 ล้านเสียงต้องการให้ปฎิรูปการเมืองกี่เปอร์เซนต์ ซึ่งตนก็เชื่ออีกว่ามากกว่า 90%
นายพิภพกล่าวอีกว่า อ.ประจักษ์ ในฐานะเป็นนักรัฐศาสตร์ อย่ามองการแสดงออกของประชาชนแคบๆ อ.ประจักษ์ต้องหาให้ได้ว่า ช่องไม่ประสงค์เลือกใคร มีเจตนารมณ์อย่างไร ถึงตรงนี้แล้วอยากให้แง่คิดอีกนิดตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญมาจนถึงปี 2535 ในรัฐธรรมนูญไม่เคยพูดถึงประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม วันนี้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 พูดประชาธิปไตยมีส่วนร่วม และรัฐธรรมนะญ2550 ขยายความคำว่ามีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น จนระบุคำว่าการเมืองภาคพลเมืองคู่ขนานกับการเมืองภาคตัวแทน ดังนั้น อยากให้ อ.ประจักษ์ตีความเรื่องนี้
“อยากให้ อ.ประจักษ์ ในฐานะจะจบปริญญาเอก มองการเมืองภาคประชาชนและเห็นถึงความสำคัญ เพราะนักรัฐศาสตร์ในยุโรป อเมริกา เขาก้าวไปไกลแล้ว เขาไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะการเมืองภาคผู้แทนเท่านั้น แต่เขายังให้ความสำคัญของการเมืองภาคประชาชนซึ่งต้องอยู่ในความสมดุลกันด้วย”
นายพิภพกล่าวต่อว่า พันธมิตรฯ เคยชุมนุมสู้ประเด็นเรื่องการทุจริต ขับไล่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งแม้จะได้คะแนนเสียงถึง 19 ล้านเสียง แต่ก็ต้องพ่ายแพ่พลังภาคประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหว วันนี้เราตั้งหัวข้อเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน และคนที่ทุจริตคือนักการเมือง วันก่อนบรรดาหอการค้า นักธุรกิจ จัดสัมนามีตัวเลขออกมาน่าตกใจมาก เขาบอกว่าแต่ก่อนภาคเอกชนหากจะจ่ายใต้โตะต้องจ่าย 25% ของเงินลงทุนแต่ละโครงการ ปัจจุบันจ่ายที่ 30-40% งบลงทุนปีละ 6 แสนล้าน หากคอร์รัปชัน 25% ทำให้เงินหายไปปีละ 165,000 ล้านบาท ดังนั้น ที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช พูดคงไม่ผิด หากไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน ถนนในประเทศไทยสามารถปูด้วยทองคำได้
นายพิภพกล่าวถึงองค์การยูเนสโกว่า เล่นการเมืองมากไป สมควรทำอย่างยิ่งหากเราจะอารยะขัดขืนชาวต่างชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย แต่ต้องอยู่ภายใต้การขับเคลื่อนที่สุภาพ จุดประสงค์การตั้งองค์การยูเนสโก เน้นในเรื่องสันติภาพ ขณะที่ไทยกับกัมพูชารบกันไม่รู้กี่ครั้ง ดังนั้นโดยสำนึกองค์การยูเนสโกต้องไม่พิจารณาขึ้นทะเบียนปราสาทเขาวิหารเป็นมรดกโลก แค่นี้ตนคิดว่าองค์การยูเนสโกก็ทำผิดวัตถุประสงค์การตั้งองค์กรแล้ว
ทั้งนี้ หากย้อนไปพิจารณาคำพิพากษาศาลโลก ได้ใช้กฎหมายปิดปากยกเฉพาะตัวปราสาทให้กัมพูชา จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ล้อมรั้วไว้ชัดเจน ซึ่งเขมรก็ยอมรับไม่มีการโต้แย้ง จนกระทั่งรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไปรื้อออก อันเป็นสาเหตุให้เขมรได้ใจ ส่งทหาร ประชาชน สร้างชุมชน ในพื้นรอบปราสาทซึ่งเป็นของไทย นอกจากนี้ยังมีผู้มีอิทธิพล ทหารบางคน หากินตามแนวชายแดน ทำให้ไม่เด็ดขาดในการแก้ปัญหา ดังนั้นทางที่ดี ควรให้ไทยกับกัมพูชา มีการตกลงเขตแดนกันให้เรียบร้อยก่อนว่า เขมรได้ตัวปราสาทตามคำพิพากษา ส่วนพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร เป็นของไทย เมื่อตกลงเขตแดนเรียบร้อยแล้วหากเห็น ควรปรับพื้นที่ 4.6 ตร.กม. เข้าร่วมเป็นแผนบริหารจัดการ ประกาศมรดกร่วมก็ว่ากันไป
“นักวิชาการ มักอ้างทำไมบริเวณพื้นที่ที่เป็นธรรมชาติตามแนวเขตแดนประเทศตรงๆ อย่าง น้ำตกแองการา หรือน้ำตกระหว่างประเทศอาเจนตินากับประเทศบราซิล เขายังตกลงกันได้ นั้น การที่เขาตกลงกันได้เป็นเพราะเขาตกลงเขตแดนกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงประกาศมรดกโลกร่วมกัน”