xs
xsm
sm
md
lg

เจาะกึ๋น “กรพจน์” ขุนพล ชพน. พร้อมนั่ง “นายกฯ เอสเอ็มอี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ท่ามกลางกระแสการต่อสู้ในการหาเสียงเลือกตั้ง กลับมีประเด็นที่ทำให้สังคมต้องร่วมขบคิดกันถึงความเป็นไปได้ที่นายกรัฐมนตรีอาจจะไม่ได้มาจาก 2 พรรคการเมืองใหญ่ โดยเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองขนาดเล็กส่งตัวแทนมารับบท “นายกฯ พรรคเล็ก” ภายหลังจากการเลือกตั้ง 3 ก.ค.เสร็จสิ้นลง

แม้จะเป็นเพียงกระแสข่าวที่วิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้าง แต่บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ก็ไม่รอช้าขานรับแนวคิดดังกล่าวแบบทันทีทันใด เพื่อหวังส่งคนของตนให้เป็น “แคนดิเดต” ร่วมวงช่วงชิงตำแหน่งผู้ประเทศ อย่าง พรรคชาติไทยพัฒนา นั้นปูทางให้ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ประธานที่ปรึกษาพรรค ที่พยายามชูบทบาทในการสร้างความสมานฉันท์ปรองดองได้กับทุกขั้วการเมือง ด้าน พรรคภูมิใจไทย ที่แม้จะมีความหวังค่อนข้างเลือนรางก็เต็มใจส่ง ชวรัตน์ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ที่เคยนั่งบัญชาการในฐานะรักษาการนายกฯ มาแล้วช่วงหนึ่ง

มาถึง พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน กลับเป็นพรรคเดียวที่สงวนท่าที ไม่ได้ขานรับแนวคิดอย่างที่พรรคการเมืองทำกัน ทั้งที่ศักยภาพก็ทัดเทียมกับ 2 พรรคข้างต้นอย่างไม่น้อยหน้า ยิ่งเมื่อส่องลงไปในบัญชีรายชื่อของพรรคก็พบว่า 5 ใน 10 ลำดับแรกมีดีกรีเป็นถึงอดีตรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ มาก่อน

อย่างไรก็ตาม เมื่อลงลึกสเปกของบุคลากรในพรรคอย่างถี่ถ้วนแล้ว ก็พบว่ามีผู้ที่สมควรส่งชื่อเข้าประกวดได้อย่าง กรพจน์ อัศวินวิจิตร ผู้สมัครบัญชีรายชื่อลำดับที่ 4 ที่พ่วงตำแหน่งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรคอีกตำแหน่ง ที่มีภาพลักษณ์การเป็นนักธุรกิจหนุ่มที่ประสบความสำเร็จมาก่อน ทั้งยังเคยนั่ง รมช.พาณิชย์ และเคยทำงานเป็นผู้แทนการค้าไทยมาอีกด้วย รวมไปถึงสมัยที่เป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ก็ได้สร้างชื่อจากผลงานการปรับโฉมยกเครื่องจากธนาคารที่มีภาพลักษณ์และวิธีทำงานล้าสมัยกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ได้มีศักยภาพไม่เป็นรองใคร

นายกรพจน์ได้เปิดเผยกับ “ทีมข่าวการเมือง ASTV ผู้จัดการรายวัน” ถึงสาเหตุที่ตัดสินใจกระโดดลงมาในสังเวียนการเมืองอีกครั้งว่า จากที่อยู่วงนอกก็ได้เห็นว่าประเทศมีความขัดแย้งกันมานาน ซึ่งเป็นความขัดแย้งไม่ปกติธรรมดา และมีความรุนแรง แบ่งข้างแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ถึงขั้นไม่เผาผีกัน จนทำให้คนดีๆ เก่งๆ ที่ตั้งใจเข้ามาทำงานทางการเมืองทั้งหลายระมัดระวัง การเมืองไทยในตอนนี้จึงขาดบุคลากร ในฐานะที่มีความตั้งใจ ก็หวังว่าการที่กลับเข้ามาเพื่อเป็นแบบอย่างให้กับผู้ที่มีความตั้งใจเห็นว่าปํญหาที่ดำรงอยู่นั้นไม่ได้เป็นเรื่องที่ใหญ่เกินไป ยังพร้อมที่จะเปิดโอกาสให้คนดีมีความสามารถเข้ามาช่วยกันทำงาน โดยที่ต้องไม่ยึดติดว่าการเมืองเป็นเรื่องของความขัดแย้งเพียงอย่างเดียว มิเช่นนั้นหากคนเก่งๆ ไม่มาช่วยกัน แล้วออกไปจากระบบกันหมด การเมืองไทยก็จะอ่อนแอต่อไป และส่งผลต่อประเทศชาติในระยะยาว

ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจที่มีประสบการณ์ประสบความสำเร็จทั้งในธุรกิจส่วนตัว และการทำงานในองค์กรภาครัฐ ก็ได้มองถึงปัญหาของประเทศที่ผ่านมาว่า ทำให้สูญเสียโอกาสที่จะเป็นผู้แข่งขันด้านเศรษฐกิจของโลก โดยเฉพาะช่วง 2 ปีกว่าภายใต้การนำของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่ “กรพจน์” แสดงความเห็นใจ และเชื่อว่าทุกคนทำหน้าที่ดีที่สุดแล้วภายใต้สถานการณ์ที่มีความขัดแย้งในบ้านเมืองสูงเช่นนี้ อย่างไรก็ตามก็ถือว่าประเทศต้องสูญเสียโอกาสในการแข่งขัน และการวางอนาคตของประเทศ

ในภาวะเช่นนี้สิ่งหนึ่งที่ต้องรีบทำทันทีภายหลังการเลือกตั้ง คือ การวางกลยุทธ์ของประเทศ เพื่อใช้เป็น “เข็มทิศ” ในการขับเคลื่อนประเทศ โดยที่ให้ทุกสัดส่วนทางเศรษฐกิจรับรู้ในระดับเดียวกัน และรัฐบาลในฐานะผู้กุมอำนาจรัฐก็ต้องนำทุกหน่วยงานของราชการมาเป็นเครื่องมือให้เกิดการขับเคลื่อน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดแรงขับเคลื่อนที่มหาศาล สามารถทำให้ทุกภาคส่วนสามารถเดินหน้าไปด้วยกันทั้งระบบ ตรงนี้เองที่ “กรพจน์” มองว่าเป็น “ข้อด้อย” ของระบบเศรษฐกิจไทยในอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะหน่วยงานราชการที่ต่างคนต่างทำ พยายามนำพาองค์กรของตัวเองให้อยู่รอดได้ โดยไม่มองถึงภาพรวมทั้งหมด โดยเขาเน้นว่าองค์กรเหล่านี้ต้องปรับทัศนะกันใหม่

“อย่าลืมว่าเรามีประเทศเป็นเดิมพัน ไม่ใช่องค์กรเป็นเดิมพัน หากไม่มีองค์กรเหล่านั้นประเทศยังไปได้ แต่ถ้าไม่มีประเทศ องค์กรก็ไปไม่ได้แน่นอน ต้องเลิกวิธีการบริหารแบบต่างคนต่างขับเคลื่อน เหมือนขับจักรยานล้อเดียวเล่นมายากล การบริหารประเทศไม่ใช่การเล่นมายากล เราต้องเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบสี่ล้อให้เป็นไปตามมาตรฐานโลก” นายกรพจน์กล่าวย้ำ

ในส่วนของการกลยุทธ์นั้น “กรพจน์” เห็นว่า บางครั้งผู้บริหารประเทศ หรือคณะรัฐมนตรี ควรใช้เวลา 7-10 วัน ไปปิดรีสอร์ตใช้เวลาในการหาตำแหน่งของประเทศ และระดมสมองวางกลยุทธ์ให้หมดทุกทาง นำแผนเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ทั่วโลกมาศึกษา ทั้งคู่แข่ง และประเทศที่ประสบความสำเร็จ ที่กำลังขึ้นมา มาวิเคราะห์ให้หมดว่าทั่วโลกวางแผนกันอย่างไร และเราจะไปหาประโยชน์จากเขาได้อย่างไร เพื่อนำไปสู่ “เข็มทิศ” ในการขับเคลื่อนประเทศ

และในฐานะขุนพลเศรษฐกิจของพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ยังได้นำหลักคิดส่วนตัวเข้ามาปรับเป็นนโยบายต่างๆ ของพรรคที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง โดย “กรพจน์” ได้ตั้งโจทย์ไว้ว่า หากต้องการให้ประเทศเดินหน้าได้ ฝ่ายบริหารต้องมองการบริหารงานในลักษณะ “มหภาค” เพื่อให้ภาคส่วนเศรษฐกิจต่างๆเดินหน้าควบคู่กันไปอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นหนทางให้มีการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ และมีความมั่นคง

“เราต้องดูภาพรวมทั้งหมดว่า ประเทศเราอยู่ในตำแหน่งไหนของโลก วางเป็นยุทธศาสตร์ออกมาเพื่อไปสู่จุดหมาย เมื่อมองแล้วก็พบว่าประเทศไทยมีโอกาสเยอะ เป็นศูนย์กลางของโอกาสอันมหาศาล แต่เราไม่ไปตักตวงโอกาส ปล่อยให้โอกาสสูญไปกับความขัดแย้งโดยที่ไม่รู้ตัว วันนี้ประเทศไทยล้าหลังขนาดไหน ในทุกๆ ด้านที่ล้าหลังไปหมด ทั้งที่ช่องทางโอกาสมีเยอะ จึงต้องอาศัยคนดีคนเก่งมีวิสัยทัศน์มาวางกลยุทธ์ประเทศ”

อีกจุดหนึ่งที่ “กรพจน์” มองว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้มากเท่าที่ควร ก็เป็นเรื่องของความ “เหลื่อมล้ำ” ในแง่เศรษฐกิจ ที่มีการขยายตัวของธุรกิจขนาดใหญ่มาก จนมีช่องว่างที่ธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอีโตตามไม่ทัน ปัจจัยก็มาจากเรื่องของการเข้าถึง “แหล่งทุน” ที่เขาเห็นว่าธนาคารของรัฐต้องเข้ามามีส่วนทำให้คนเข้าถึงแหล่งเงินได้ง่ายขึ้น โดยใหลักการตลาดแข่งขันกับเอกชน ปล่อยเงินกู้แข่งกับเงินนอกระบบให้เร็วที่สุด รวมทั้งลดภาระการชำระหนี้ให้กับผู้ที่เริ่มกิจการใหม่ๆ จึงเป็นที่ของนโยบายเถ้าแก่เงินล้าน ที่ให้ผู้ประกอบการรายใหม่สามารถกู้เงิน 1 ล้านบาทเพื่อนำไปประกอบธุรกิจ โดยปลอดภาระดอกเบี้ยใน 3 ปีแรก รวมไปถึงการงดเว้นภาษีเงินได้บุคคลของผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาใหม่ เพื่อเปิดโอกาสให้มีรายได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และก่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในระบบที่เพิ่มมากขึ้น โดยที่รัฐไม่ต้องสูญเสียรายได้มากมาย

เมื่อให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในลักษณะดังกล่าว ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลไลสำคัญย่อมอยู่ที่ “กระทรวงการคลัง” ที่ “กรพจน์” ชี้ว่า ถือเป็นหัวใจของการพัฒนาที่สำคัญ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าภายหลังการเลือกตั้งพรรคต้นสังกัดจะได้ดูแลในส่วนนี้หรือไม่ แต่ที่อยากฝากไว้คือว่า การบริหารประเทศหรือระบบเศรษฐกิจนั้นต้องอาศัยความอดทน เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนมากกว่าในปัจจุบัน ในฐานะผู้บริหารประเทศต้องมองกลยุทธ์ระยะยาว อย่ามองฉาบฉวยแบบสั้นๆหรือหาทางลัด แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้จึงออกมาเป็นนโยบายของพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ที่ว่าจะให้มีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้ถึง 350 บาทต่อวัน สร้างเถ้าแก่เงินล้าน หรือทำให้เกษตรกรรวยนั้น ก็มีฐานคิดมาจากการจัดระบบเงินทุนทรัพยากรต่างๆในระบบใหม่ทั้งหมด

“หากถามว่าวันนี้คิดว่าเข้าไปทำงานในจุดไหนที่จะสามารถทำประโยชน์ให้ประเทศได้สูงสุด ทุกคนคงต้องบอกว่าอยากเป็นนายกรัฐมนตรี ที่สามารถเข้าไปบริหารประเทศได้ทั้งระบบ สั่งการควบคุมเศรษฐกิจมหภาคให้เป็นไปในทางทิศทางเดียวได้ทั้งหมด เพื่อผลประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด” นายกรพจน์ระบุ

ขุนพลเศรษฐกิจพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ยังได้ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจด้วยว่า รัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง เหมือนกับคนมีต้นทุนที่สดสะอาดเข้ามาบริหารลบ้านเมือง ต้องอาศัยจังหวะในช่วงแรก 3 เดือน 6 เดือน ตอนนั้นหากสามารถทำอะไรก็ได้ มีความชอบธรรม เพราะมีประชาชนหนุนหลัง หากมีโอกาสเข้าไปแล้วไม่รู้จักใช้ต้นทุนนี้ให้เป็นประโยชน์ในช่วงแรก โอกาสทองก็หลุดลอยไป

สรุปคือหากใครได้โอกาสเข้ามาบริหารประเทศ ต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง แล้วนำพาประเทศด้วยการพัฒนาด้านเศรษฐกิจเพื่อยกระดับการแข่งขันในระดับโลก ที่ต้องก้าวเดินไปพร้อมๆกันทุกภาคส่วนภายในประเทศ

นี่คือหลักคิดวิสัยทัศน์ของบุคคลที่อาจเข้าร่วมประกวดเป็น “นายกฯ เอสเอ็มอี” ได้อีกคน
กำลังโหลดความคิดเห็น