xs
xsm
sm
md
lg

กต.พร้อมแจงศาลโลกรอบแรก 30 พ.ค.นี้ มั่นใจทีมปรึกษากฎหมายต่างชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ
กต.พร้อมแจงศาลโลก 30-31 พ.ค.นี้ กรณีตีความตำตัดสินคดีปราสาทพระวิหาร กัมพูชาขึ้นให้การก่อนตั้งแต่บ่าย 3 ตามเวลาในไทย ส่วนฝ่ายไทยขึ้นให้การช่วง 3 ทุ่ม มั่นใจทีมที่ปรึกษากฎหมายฝ่ายไทยมีความรู้ ประสบการณ์ และมีแนวคิดที่สอดคล้องกับแนวคิด และท่าที รวมทั้งผลประโยชน์ของฝ่ายไทย



กรณีที่กัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ให้ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร รวมทั้งขอให้ศาลออกมาตรการชั่วคราวระหว่างรอการตีความนั้น

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2554 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศประชุมร่วมกับที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศของไทย เพื่อเตรียมการเพิ่มเติมเกี่ยวกับท่าทีและกลยุทธ์ของไทยก่อนไปชี้แจงกับศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก ในวันที่ 30-31 พฤษภาคม 2554 เกี่ยวกับการออกมาตรการชั่วคราวระหว่างรอการพิจารณาตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หลังจากที่เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2554 ได้มีการหารือเป็นการภายในของฝ่ายไทย โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมแผนที่ทหาร กรมศิลปากร คณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานอัยการสูงสุดเข้าร่วมด้วย

หลังจากนั้น รัฐมนตรีว่าการฯ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับการประชุมดังกล่าวว่า เป็นการซักซ้อมความพร้อมในการนำเสนอข้อมูลของฝ่ายไทยที่จะนำเสนอต่อศาลโลกในการนั่งพิจารณา (Oral Hearing) ในครั้งนี้ ซึ่งในโอกาสดังกล่าวรัฐมนตรีว่าการฯ ได้สรุปสาระสำคัญของผลการประชุมคณะรัฐมนตรีสมัยพิเศษเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา รวมถึงข้อเสนอแนะ แนวทาง และข้อพึงระวังที่รัฐบาลไทยเสนอแนะให้คณะดำเนินคดีของฝ่ายไทยพิจารณา

สำหรับลำดับการนำเสนอข้อมูลของไทยในการนั่งพิจารณาของศาลในวันที่ 30 พฤษภาคม 2554 รัฐมนตรีว่าการฯ อธิบายว่า ในช่วงเช้าระหว่าง 10.00-12.00 น.(ซึ่งตรงกับเวลา 15.00-17.00 น.ตามเวลาในประเทศไทย) ฝ่ายกัมพูชาจะเป็นผู้นำเสนอข้อมูลในการขอให้ศาลออกมาตรการชั่วคราว (provisional measures) ก่อน ขณะที่ฝ่ายไทยจะนำเสนอข้อมูลระหว่างเวลา 16.00-18.00 น. (ซึ่งตรงกับเวลา 21.00-23.00 น.ตามเวลาในประเทศไทย)

ทั้งนี้ นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ในฐานะตัวแทนของรัฐบาลไทย จะกล่าวเป็นคนแรก เพื่อนำเสนอข้อมูลในภาพรวม ตามด้วยศาสตราจารย์อลัง เปลเล่ต์ ซึ่งจะกล่าวเกี่ยวกับขอบเขตของประเด็นปัญหา ศาสตราจารย์เจมส์ ครอว์ฟอร์ด ซึ่งจะกล่าวเกี่ยวกับขอบเขตทางกฎหมายที่ศาลจะใช้ในการพิจารณาคำร้อง และศาสตราจารย์โดนัลด์ เอ็ม แม็กเร ซึ่งจะกล่าวเกี่ยวกับคำขอเรื่องการออกมาตรการชั่วคราวของกัมพูชา รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวเสริมด้วยว่า ที่ผ่านมาตนได้พบหารือกับที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศทั้ง 3 ท่านอย่างสม่ำเสมอ และคณะทำงานของฝ่ายไทยก็ได้ดำเนินการเตรียมการอย่างใกล้ชิดที่ปรึกษาฯ มาโดยตลอดเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2554 นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับคณะที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศของฝ่ายไทยสำหรับกรณีที่กัมพูชายื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ให้ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี 2505 ว่า คณะที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศของไทยเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีชื่อเสียงและมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศเป็นอย่างดี อีกทั้งมีประสบการณ์ในการว่าความคดีในศาลโลกมาแล้วหลายคดี ในชั้นนี้ คณะที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศของไทยประกอบด้วยศาสตราจารย์เจมส์ ครอว์ฟอร์ด (James Crawford) ศาสตราจารย์โดนัลด์ เอ็ม แม็กเร (Donald M. McRae) และศาสตราจารย์อลัง เปลเลต์ (Alain Pellet) ซึ่งรัฐบาลไทยเห็นชอบให้บุคคลดังกล่าวเป็นที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศสำหรับต่อสู้คดีในศาลโลก โดยพิจารณาจากคุณสมบัติและความสามารถที่โดดเด่นเหล่านี้เป็นหลัก รวมถึงความยอมรับในระดับระหว่างประเทศด้วย

สำหรับประวัติโดยสังเขปนั้น ศาสตราจารย์ครอว์ฟอร์ด สัญชาติออสเตรเลีย ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์สอนกฎหมายระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศสหราชอาณาจักร และเป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยกฎหมายระหว่างประเทศเลาเตอร์แพคท์ที่เคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร (Lauterpacht Research Centre for International Law) ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติเมื่อปี 2535 และเป็นผู้รับผิดชอบยกร่างธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศ ปี 2547 และข้อบทของคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับความรับผิดแห่งรัฐ ปี 2544 ศาสตราจารย์ครอว์ฟอร์ดเป็นทนายที่มีประสบการณ์ว่าความในเวทีระหว่างประเทศต่างๆ มากที่สุดคนหนึ่งของโลก ทั้งในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ ศาลอาญาระหว่างประเทศ และศูนย์กลางระหว่างประเทศเพื่อระงับข้อพิพาทด้านการลงทุน (International Center for the Settlement of Investment Disputes – ICSID) รวมทั้งเป็นอนุญาโตตุลาการในคดีต่าง ๆ อีกหลายคดี และเคยเป็นทนายให้แก่มาเลเซียในคดีเกาะปูเลา บาตู ปูเตะห์ (Pulau Batu Puteh) เมื่อปี 2551 และคดีข้อพิพาทเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือหมู่เกาะสิปาดันและลิติกัน นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ครอว์ฟอร์ดยังเขียนตำรากฎหมายระหว่างประเทศหลายเล่ม และดำรงตำแหน่งเป็นบรรณาธิการอาวุโสของหนังสือกฎหมายระหว่างประเทศประจำปีของสหราชอาณาจักร (British Yearbook of International Law) ด้วย

ในส่วนของศาสตราจารย์แม็กเร สัญชาติแคนาดา/นิวซีแลนด์นั้น เป็นสมาชิกศาลประจำอนุญาโตตุลาการ (Permanent Court of Arbitration – PCA) ตั้งแต่ปี 2531 และสมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ ตั้งแต่ปี 2549 นอกจากนี้ ยังเป็นทนายความของรัฐบาลนิวซีแลนด์ด้านกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งคดีต่าง ๆ ในองค์การการค้าโลก (WTO) ตั้งแต่ปี 2541 ถึงปัจจุบัน ที่ปรึกษาของรัฐบาลนิวซีแลนด์ด้านเขตทางทะเล ระหว่างปี 2543-2548 ที่ปรึกษาของแคนาดาในข้อพิพาทระหว่างแคนาดา-ฝรั่งเศสในคดีเขตแดนทางทะเลบริเวณหมู่เกาะแซงปีแยร์และมีเกอลง (St. Pierre and Miquelon Maritime Boundary) และเป็นทนายความให้สาธารณรัฐซูรินาเม (Suriname) ในคดีระหว่างกายอานากับซูรินาเม (Guyana v. Suriname) เมื่อปี 2549

สำหรับที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศอีกท่านหนึ่ง คือ ศาสตราจารย์เปลเลต์ สัญชาติฝรั่งเศส ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์สอนกฎหมายระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยปารีส (University Paris Ouest, Nanterre-La Défense) ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งได้รับเชิญเป็นศาสตราจารย์พิเศษสอนกฎหมายระหว่างประเทศในมหาวิทยาลัยต่างๆ หลายแห่งทั่วโลก รวมทั้งเคยได้รับเชิญมาร่วมบรรยายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี 2521 ด้วย นอกจากนี้ ศาสตราจารย์เปลเลต์ยังได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (International Law Commission) ตั้งแต่ปี 2533 และเคยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ เมื่อปี 2540 ถึง 2541 ขณะเดียวกัน ในด้านงานคดีความ ศาสตราจารย์ เปลเล่ต์ก็มีประสบการณ์ว่าความในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมากกว่า 35 คดี เป็นที่ปรึกษากฎหมายและทนายให้แก่ประเทศต่างๆ กว่า 20 ประเทศรวมถึงอินโดนีเซีย (คดีข้อพิพาทเกี่ยวกับกับอธิปไตยเหนือหมู่เกาะสิปาดัน (Sipadan) และลิกิตัน (Ligitan) และสิงคโปร์ (คดีข้อพิพาทเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือเกาะเปดรา บลังกา (Pedra Blanca) อีกทั้งยังดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายขององค์การการท่องเที่ยวโลกและเป็นผู้เขียนตำรากฎหมายระหว่างประเทศอีกหลายเล่มด้วย

โฆษกกระทรวงฯ กล่าวเสริมด้วยว่า ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศทั้งสามคนได้ทำงานร่วมกับคณะทางด้านกฎหมายของกระทรวงการต่างประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว และในกรณีของคดีการตีความคำพิพากษาศาลโลกนี้ ก็จะทำงานร่วมกับตัวแทนของรัฐบาลไทย คือ นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก และรองตัวแทนคือ นายอิทธิพร บุญประคอง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย โดยทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของคณะดำเนินคดีที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก และเจ้ากรมแผนที่ทหาร เป็นที่ปรึกษา

สำหรับผู้พิพากษาเฉพาะกิจของฝ่ายไทย รัฐบาลไทยได้เสนอชื่อ ศาสตราจารย์ฌอง-ปิแอร์ คอต (Jean-Pierre Cot) สัญชาติฝรั่งเศส โดยศาสตราจารย์คอตดำรงตำแหน่งประธานชมรมกฎหมายระหว่างประเทศของประเทศฝรั่งเศส (French Society of International Law) ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน เป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยปารีส (University of Paris I) เป็นนักวิจัยสมทบ (Associate Research Fellow) ของมหาวิทยาลัยอิสระแห่งบรัสเซลล์ (Université Libre de Bruxelles) ประเทศเบลเยียม เคยเป็นทนายความคดีในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหลายคดี อาทิ คดีข้อพิพาทเรื่องเขตแดนระหว่างบูร์กินาฟาโซกับสาธารณรัฐมาลี ข้อพิพาทเรื่องอาณาเขตระหว่างลิเบียกับชาด ข้อพิพาทเขตแดนทางบกและทางทะเลระหว่างแคเมอรูนกับไนจีเรีย นอกจากนี้ ยังเป็นผู้พิพาษาเฉพาะกิจในหลายคดีในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ อาทิ คดีแบ่งเขตทางทะเลในทะเลดำระหว่างโรมาเนียกับยูเครน และคดีเกี่ยวกับการพ่นยาฆ่าวัชพืชทางอากาศ (Aerial Herbicide Spraying) ระหว่างเอกวาดอร์กับโคลอมเบีย

ต่อคำถามว่า เหตุใดไทยจึงเลือกชาวฝรั่งเศสเป็นที่ปรึกษากฎหมายและผู้พิพากษาเฉพาะกิจในการดำเนินคดีครั้งนี้ โฆษกกระทรวงฯ กล่าวว่า รัฐบาลพิจารณาผู้ที่จะทำหน้าที่ดังกล่าวจากคุณสมบัติด้านความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ และการยอมรับในระดับนานาชาติ รวมทั้งแนวคิดที่สอดคล้องกับแนวคิดและท่าทีรวมทั้งผลประโยชน์ของฝ่ายไทย นอกจากนี้ โดยที่เอกสารทางกฎหมายส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่องเขตแดนไทย-กัมพูชาเป็นภาษาฝรั่งเศส จึงจำเป็นและจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อฝ่ายไทยที่จะมีบุคคลที่มีความเข้าใจภาษาฝรั่งเศสและแนวคิดทางกฎหมายระหว่างประเทศเป็นอย่างดีอยู่ในทีมเพื่อช่วยในเรื่องการทำความเข้าใจกับเอกสารทางกฎหมายดังกล่าว รวมทั้งในการดำเนินคดีด้วย

ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นของทีมกฎหมายระหว่างประเทศของไทย จึงสามารถมั่นใจได้ว่าบุคคลเหล่านี้จะทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่เพื่อรักษาและสนับสนุนผลประโยชน์ของประเทศไทยในการตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารอย่างยุติธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น