ผ่าประเด็นร้อน
ในที่สุดช่วงที่เกิดภาวะชุลมุน ชาวบ้านและสื่อสนใจแต่เรื่องการหาเสียงเลือกตั้ง หรือเดาว่าพรรคไหนใครจะมาเป็นผู้สมัครบัญชีรายชื่ออันดับหนึ่ง รวมไปถึงใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป แต่ขณะเดียวกันในช่วงจังหวะเวลาดังกล่าวได้เกิดรายการ “หมกเม็ด” ผลักดัน “วาระซ่อนเร้น” นั่นคือ กำลังตระเตรียมทีมงานและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อต่อสู้คดีกับฝ่ายกัมพูชาที่ยื่นฟ้องให้ตีความกรณีพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร 4.6 ตารางกิโลเมตร เนื้อที่ประมาณ 3 พันไร่
ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เปิดเผยหลังการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตระเตรียมประเด็นในการเจรจาทวิภาคีกับฝ่ายกัมพูชาในกรณีปราสาทพระวิหารในวันที่ 25 พฤษภาคม ที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งฝ่ายไทยนำทีมโดย สุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงจะมีการนัดประชุมเพื่อสรุปกันอีกรอบในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม ซึ่งก็มีเรื่องที่ต้องเตรียมตัวสำหรับการต่อสู้คดีในศาลโลกจากกรณีที่ฝ่ายกัมพูชายื่นคำร้องขอให้ศาลโลกมีการพิจารณาตีความว่าคำตัดสินของศาลโลกเมื่อปี 2505 ที่มีการยกประสาทพระวิหารให้กัมพูชาแล้ว ยังครอบคลุมไปถึงพื้นที่โดยรอบ 4.6 ตารางกิโลเมตรด้วยหรือไม่
สรุปแบบไม่ต้องอธิบายความก็คือเรากำลัง “ถลำลึก” เล่นตามเกมที่ฝ่ายกัมพูชากำหนดขึ้นมาอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว!!
ก่อนหน้านี้มีหลายคนคัดค้านว่า ไทยเราไม่ควรยอมรับขอบข่ายอำนาจของศาลโลกในกรณีดังกล่าวอีกต่อไป เพราะทำให้เราเสียเปรียบ และสุ่มเสี่ยงที่จะสูญเสียดินแดนที่เป็นพื้นที่โดยรอบอย่างถาวร ภายใต้คำตัดสินของศาลดังกล่าว ซึ่งหากพิจารณาจากองค์ประกอบแล้วมันก็ต้องฟันธงแบบนั้น เนื่องจากในความเป็นจริงแล้วองคาพยพยังเต็มไปด้วยประเทศมหาอำนาจ เช่น ฝรั่งเศส หากย้อนจากแบ็กกราวด์ผ่านมาก็แทบจะเรียกได้ว่าเป็นคู่กรณีโดยตรงกับไทย ในฐานะที่เป็นอดีตเจ้าอาณานิคมเก่าของกัมพูชา ถึงกับทำหน้าที่คอยวิ่งเต้นล็อบบี้ประเทศต่างๆให้สนับสนุนกัมพูชาอย่างออกนอกหน้า
เมื่อสรุปโดยรวมๆ แล้ว หากไทยเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลโลก นาทีนี้โอกาสที่ไทยได้เปรียบหรือชนะคดีแทบจะมองไม่เห็นเอาเสียเลย นอกจากนี้ยังอยู่ในช่วงของรัฐบาลรักษาการ เป็นช่วง “สุญญากาศ” ทางอำนาจ มันก็ยิ่งไปกันใหญ่
ดังนั้น เมื่อมองไม่เห็นหนทางได้เปรียบดังกล่าวแล้วคำถามก็คือว่า แล้วทำไมเราถึงต้องถลำลึกไปเล่นตามเกมของกัมพูชา แม้ว่ายังไม่ชัดว่ามันคืออะไรกันแน่ เพราะฟังจากเหตุผลของ กษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่บอกว่าไหนๆเราก็ต้องยอมรับในคำตัดสินของศาลโลกอยู่แล้ว ก็เลยไปนั่งฟังเขาดีกว่า ถือว่าเป็น “ตรรกะ” ที่ใช้ไม่ได้ เนื่องจากตามหลักการก็คือการนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลโลกนั้นต้องได้รับความยินยอมพร้อมใจของประเทศคู่กรณีเท่านั้น
ที่สำคัญในกรณีของไทยนั้น ถือว่าประเทศไทยได้สิ้นสุดสมาชิกภาพไปแล้วหลังจากไม่ยอมต่ออายุนานกว่า 10 ปี เมื่อไทยพ่ายแพ้คดีต้องยกปราสาทพระวิหารให้กัมพูชาเมื่อปี 2505
วกกลับมาที่คำถามว่าในเมื่อเรามีแต่เรื่องเสียเปรียบทำใมจึงต้องเล่นเกมเสี่ยง ซึ่งทำให้หลายคนเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถึงได้ไฟเขียว หากมองในแง่ลบมันก็อาจเป็นหนทางสำหรับ “กลบเกลื่อน” ความผิดพลาดในกรณีบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการปักปันเขตแดนทางบกระหว่างไทย-กัมพูชา เมื่อปี 2543 (เอ็มโอยู 43) ในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เพราะหากศาลโลกชี้ขาดออกมาว่าคำพิพากษาครอบคลุมถึงพื้นที่โดยรอบ 4.6 ตารางกิโลเมตร ก็ต้องยกให้กัมพูชา ไม่ใช่ความล้มเหลวของเอ็มโอยูอย่างที่มีการกล่าวหา
ดังนั้น ไม่ว่าจะพิจารณาในมุมไหน มันก็ต้องมองเห็นแบบนั้นจริงๆ และไม่อยากจะสรุปว่าการต่อสู้ของไทยที่นำโดยนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กรณีเข้าสู่การตัดสินของศาลโลกรอบใหม่คราวนี้เป็นความ “จงใจ” ที่จะพ่ายแพ้ ด้วยเหตุผลต้องการกลบเกลื่อนความผิดพลาดของตัวเองและพรรคพวกเท่านั้น มองอย่างอื่นไม่ได้เลยจริงๆ!!