xs
xsm
sm
md
lg

“บรรหาร” บ่น กกต.ออกกฎหยุมหยิมเกินไป เชื่อการเมืองหลังเลือกตั้งยังวุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรหาร ศิลปอาชา  (แฟ้มภาพ)
‘บรรหาร’ นำ ชทพ.บวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์เอาฤกษ์เอาชัยก่อนสมัครเลือกตั้ง บ่น กกต.ออกกฎหยุมหยิมเกินไป เตรียมขนขุนพลลงพื้นที่อีสานประเดิมหาเสียง เชื่อการเมืองหลังเลือกตั้งวุ่นวายไม่จบ เสนอนิรโทษกรรมสร้างสมานฉันท์ บ่นเสียดาย “เฉลิมพล” ภรรยาไม่ให้ลง รวมทั้ง “เจริญทอง” ไม่ไปใช้สิทธิ ฟุ้งมีนักร้องดังเสียบแทน

ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของพรรคชาติไทยพัฒนา ก่อนออกเดินทางไปสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) พรรคชาติไทยพัฒนา นำโดยนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา นายประภัตร โพธสุธน นายธีระ วงศ์สมุทร นายนิกร จำนง ได้มาเตรียมความพร้อมก่อนที่จะเดินทางไปยังอาคารกีฬาเวสน์ 2 ที่พรรคชาติไทยพัฒนา จากนั้นเวลา 04.39 นายบรรหารได้นำแกนนำของพรรคเข้าสักการะพระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา เพื่อเป็นสิริมงคลและเป็นกำลังใจในการเดินทางไปจับเบอร์ผู้สมัคร จากนั้นนายชุมพลได้นำขบวนกองเชียร์เกือบ 100 คนไปยังสถานที่สมัคร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เดิมได้มีการจัดเตรียมกลองยาว แตรวง และรถแห่ โดยได้ทำการซักซ้อมกันตั้งแต่ช่วงเย็นเมื่อวันที่ 18 พ.ค.แต่ยกเลิกกะทันหัน ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีคำเตือนให้พรรคการเมืองระวังการจัดมหรสพที่อาจเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ทำให้เหลือป้ายผ้า ธง และสวมเสื้อสีชมพูของพรรคเท่านั้น

ต่อมาเวลา 05.10 น. นายบรรหารให้สัมภาษณ์ว่า ตนเดินทางมาส่งสมาชิก ตนไม่มีสิทธิเข้าไปก้าวก่ายกิจการของพรรคการเมือง แต่ด้วยความห่วงใยห้ามกันไม่ได้ ทั้งนี้ไม่ได้ให้พรอะไรมากมาย เพียงแต่ย้ำว่าให้ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด สำหรับการจัดลำดับผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อจำนวน 125 คนที่ผ่านมา ถือว่าพอดูได้เป็นที่สบายใจ ไม่มีความยุ่งยากเหมือนการเลือกตั้งเมื่อปี 50 ที่เป็นระบบสัดส่วนแบ่งเป็นกลุ่มจังหวัด มีความซับซ้อนมาก เพราะไม่ได้แบ่งตามภูมิภาค แต่ครั้งนี้ไม่ได้ยุ่งยาก และอยากให้ยึดระบบนี้เป็นหลักตลอดไป เพราะเห็นว่าเป็นระบบที่ดีที่สุด ไม่อยากเห็นนักวิชาการคนไหนอุตริไปเปลี่ยนระบบอีก เนื่องจากคนร่างกติกาไม่ได้ลงสมัครเลือกตั้ง จึงยากที่จะเข้าใจการเลือกตั้งเช่นเดียวกับการออกระเบียบของ กกต. ซึ่งผลให้ผู้สมัครไม่สามารถกระดิกตัวได้มาก มีการออกข้อห้ามหยุมหยิมเต็มไปหมด

“เหมือนเรื่องคดียุบพรรคที่ทำให้พรรคการเมืองเกิดความอ่อนแอ ผมยังแค้นอยู่ในใจไม่หาย เหลือเวลาอีก 2 ปีครึ่งไม่คิดว่าตัวเองจะต้องมาตายน้ำตื้น ถ้าตายในน้ำทะเลก็ยังพอไหว แต่นี่ดันมาตายน้ำตื้นในบ่อปลาดุก เรื่องนี้เคยตกลงกับพรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น สุดท้ายก็ทำได้แค่นี้” นายบรรหารกล่าว

นายบรรหารกล่าวว่า หลังวันที่ 28 พ.ค.ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการสมัคร ส.ส.ระบบเขตทางพรรคจะประเมินสถานการณ์อีกครั้ง โดยจะมีการเปรียบเทียบกับผู้สมัครของพรรคและพรรคการเมืองอื่นในพื้นที่เดียวกันว่ามีความได้เปรียบเสียเปรียบกันอย่างไร เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ในการลงพื้นที่หาเสียงต่อไป เบื้องต้นคาดว่าจะลงพื้นที่ในภาคอีสานก่อน เช่น สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด จากนั้นจะลงพื้นที่ภาคกลาง ไม่ว่าจะเป็นสุพรรณบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี อุทัยธานี ปทุมธานี ราชบุรี นครปฐม นครสวรรค์ รวมถึงจังหวัดพิจิตร

“ส่วนตัวไม่ได้ประเมินว่าจะได้ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อเท่าไหร่ เพียงแต่จะทำให้ได้มากที่สุด ส่วนระบบเขตก็หวังในพื้นที่ภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานีที่คาดว่าจะได้ 3 เขต และจังหวัดขอนแก่นเขตของเรือเอกสมรักษ์ คำสิงห์ และพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ของนายสุระ แสนคำ หรือเขาทราย กาแล็กซี่ แต่ที่น่าเสียดายคือนายเฉลิมพล มาลาคำ นักร้องหมอลำชื่อดัง ที่ขอถอนตัว เนื่องจากภรรยาเป็นคนเสื้อจึงไม่ให้ลงสมัคร รวมถึงนายเจริญ ชูมณี หรือเจริญทอง เกียรติบ้านช่อง อดีตแชมป์มวยชื่อดัง ลงสมัครไม่ได้เพราะไม่ได้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง แต่อย่างไรก็ตามจะมีนักร้องหมอลำชื่อดังมาลงสมัครอีกคน แต่ยังบอกไม่ได้ ส่วนที่บอกว่าได้ทาบทามอดีตนางสาวไทยก่อนหน้านี้ก็ยกเลิกไปแล้ว เพราะมีปัญหามากมาย ไม่รู้จะดูแลอย่างไร แล้วใครจะเป็นผู้ดูแล สุดท้ายก็หนีไม่พ้นผมต้องดูแลเอง” นายบรรหารกล่าว

นายบรรหารกล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ทางการเมืองหลังการเลือกตั้งคิดว่าน่าจะดีขึ้นบ้างเล็กน้อย แต่ปัญหาความขัดแย้งก็ยังไม่หมด การทะเลาะกันก็ยังไม่หมด จะทำให้เศรษฐกิจก็ยังไม่ดีขึ้น ตนเคยเสนอไปก่อนหน้านี้ว่าควรยุบสภา 6 เดือนครั้ง เพื่อลดปัญหาความขัดแย้ง ทั้งนี้เห็นว่าอะไรในอดีตถ้าให้อภัยกันได้ก็ควรอภัยกันทุกฝ่าย ที่ผ่านก็เห็นความวุ่นวายเต็มไปหมด ฟ้องศาลและอัยการจนต้องมีการขอประกันตัววุ่นวายไปหมด ถึงเวลาแล้วที่ควรให้อภัยกันโดยควรนิรโทษกรรม แต่กระบวนการดำเนินการต้องมาดูกันว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ในปี 55 บรรดาพวกที่ติดบ้านเลขที่ 111 จะพ้นโทษจากการถูกตัดสิทธิ ซึ่งตรงนี้จะเป็นช่วงสำคัญ แต่ไม่แน่ใจว่าจะมีการยุบสภาเพื่อให้คนกลุ่มนี้เข้ามามีตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ เพราะต้องรอดูหน้าตาของรัฐบาลใหม่ หรือจะรอให้พวกบ้านเลขที่ 109 พร้อมกันแล้วยุบสภาครั้งเดียว

“คนเราควรจะปลงกันได้แล้ว อีกหน่อยคนเราก็ไปแล้ว ไม่มีอะไรแน่นอน การไปงานศพบ่อยทำให้ผมปลงได้เยอะ อย่างที่ผ่านมาผมมีศัตรูเยอะสุด มีคนเล่นผมไว้เยอะในช่วงที่เป็นนายกฯแต่ตอนนี้ผมลืมหมดแล้วให้อภัย ดังนั้นคนเราควรให้อภัยกัน” นายบรรหารกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อบัญชีรายชื่อพรรคชาติไทยพัฒนาใน 10 อันดับแรกเป็นที่น่างสังเกตว่ามี ส.ส.สุพรรณบุรีต้องลวงสมัครแบบบัญชีรายชื่อในพื้นที่มีที่มีปัญหาทับซ้อนกันหลังจาก กกต.แบ่งเขตใหม่ โดยน่าสนใจ ได้แก่ คือนายนิติวัฒน์ จันทร์สว่าง หลานชายนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีต ส.ส.สุพรรณบุรีในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดได้ขึ้นบัญชีรายชื่อในอันดับ 3 และอันดับที่น่าสนใจ คือ อันดับ 4 นายยุทธพล อังกินันทน์ เลขานุการ รมว.ท่องเที่ยว และการกีฬา อันดับที่ 6 นายปิยะพันธ์ จัมปาสุต อดีตอธิบดีกรมการขนส่งทางบก อันดับ 7 นายฐนนท์ศรณ์ เลิศฤทธิ์ศิริกุล ผู้ช่วยรมต.ประจำสำนักนายกฯ นายเกษมสันต์ วีระกุล ผู้ช่วยเลขารมว.คลัง อันดับที่ 9 นายวิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและประวัติศ่าสตร์จีน และในอันดับที่ 11 นายเจรจา เที่ยงธรรม อดีต ส.ส.สุพรรณบุรี
กำลังโหลดความคิดเห็น