xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อจะยุบสภา-พ้นหน้าที่แล้วยังลากประเทศเสี่ยงเสียดินแดนอีกทำไม!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ผ่าประเด็นร้อน

คำพูดจากผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐบาล ทั้งจากปากของนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง สุเทพ เทือกสุบรรณ ยืนยันออกมาในทางเดียวกันคือจะเสนอทูลเกล้าฯ ยุบสภาภายใน 1-2 วัน เพื่อให้ทันตามกรอบเวลาเดิมตามที่ได้ประกาศเอาไว้ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี พิจารณาจากองค์ประกอบอื่น เช่นจากศาลรัฐธรรมนูญที่มีกำหนดพิจารณากฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 3 ฉบับในวันที่ 9 พฤษภาคม และล่าสุด หนึ่งในตุลาการรัฐธรรมนูญ จรัญ ภักดีธนากุล ได้ออกมายืนยันชัดเจนแล้วว่าศาลฯจะไม่สามารถพิจารณากฎหมายลูกได้ทันในวันที่ 6 พฤษภาคมอย่างแน่นอน

นั่นก็หมายความว่าหากรัฐบาลรอฟังผลการวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญก่อน ก็จะมีการยุบสภาตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคมเป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ไม่ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญมากนัก อย่างมากก็แค่เลื่อนออกไปแค่ 2-3วันเท่านั้น คงไม่มีใคร “อกแตกตาย” แน่นอน

แต่สิ่งที่เป็นความหมายตามมาก็คือเมื่อมีการยุบสภาแล้ว อำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็จะกลายเป็น “รักษาการ” ไม่มีอำนาจเต็มเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ไม่อาจสั่งการได้ตามปกติ อย่างไรก็ตามเมื่อฟังจากคำพูดของนายกรัฐมนตรีกลับปรากฏว่ายังเดินหน้าสู้คดีปราสาทพระวิหารกับฝ่ายกัมพูชาตามที่ได้ยื่นเรื่องไปก่อนหน้านี้แล้ว

เพราะเท่าที่ทราบเวลานี้ได้สั่งการให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กษิต ภิรมย์ เดินหน้าตั้ง “ทีมทนายความ” เพื่อเตรียมสู้ “ศึกปราสาทพระวิหาร” อย่างเต็มรูปแบบแล้ว แม้ว่าคราวนี้อาจจะแตกต่างกันในรายละเอียดเมื่อสมัยปี พ.ศ. 2505 ที่คราวนั้นเป็นการต่อสู้เพื่อให้ได้ตัวปราสาทกลับมาเป็นของไทยและสู้ไปด้วยความไม่รู้ ขาดผู้เชี่ยวชาญ “ถูกบีบบังคับ” ให้ต้องเดิน แต่ปัจจุบันรัฐบาลกำลังถลำลงตามเกมของฝ่ายกัมพูชาที่ต้องการแย่งชิงพื้นที่โดยรอบปราสาทเนื้อที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ซึ่งแม้ว่ายุคสมัยจะแตกต่างกันหลายสิบปี แต่ความเสี่ยงที่จะพ่ายแพ้ในศาลโลกรอบที่สองก็ใกล้เคียงกันสูงยิ่ง

เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบแล้วมันก็มีแนวโน้มอย่างนั้นจริงๆ โดยเฉพาะ “องค์คณะ” ในศาลโลก ซึ่งคาดหมายไว้ล่วงหน้าได้เลยว่าจะต้องมีประเทศมหาอำนาจร่วมวง ซึ่งในจำนวนนั้นย่อมต้องมี ฝรั่งเศสที่เป็นเจ้าอาณานิคมเดิมของกัมพูชารวมอยู่ด้วยอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี สิ่งที่นอกเหนือไปกว่านั้นก็คือ หากพิจารณาในแง่กฎหมายถือว่าหลังจากที่เสร็จสิ้นคดีปราสาทพระวิหารเอปี 2505 ฝ่ายไทยก็ไม่ได้ต่ออายุภาคีศาลโลก ทำให้ไม่อาจบังคับไทยได้อีกต่อไป ความหมายก็คือเมื่อสมาชิกภาพขาดอายุก็ไม่มีความหมาย

สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือ ทำไมรัฐบาลไทย และนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถึงได้ยอมรับกระบวนการดังกล่าวอีกครั้ง ทั้งที่เสียเปรียบอยู่วันยังค่ำ เพราะเมื่อมองเห็นเป้าหมายที่แท้จริงของฝ่ายกัมพูชาที่ยื่นเสนอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาเมื่อครั้งที่แล้วว่าได้ครอบคลุมไปถึงพื้นที่โดยรอบปราสาท 4.6 ตารางกิโลเมตรหรือไม่ ซึ่งความหมายลึกๆ ก็คือต้องการให้นานาชาติเข้ามาแทรกแซงในพื้นที่ หลังจากแผนแรกในการใช้กำลังสร้างสถานการณ์ตามแนวชายแดนกับไทยยังไม่ได้ผลเต็มที่

เพราะสิ่งที่ฝ่ายกัมพูชามอบหมายให้ รัฐมนตรีต่างประเทศ ฮอร์ นัมฮง ยื่นเสนอให้ ศาลฯ “คุ้มครองฉุกเฉิน” นั่นก็หมายความว่าพื้นที่ดังกล่าวจะถูกกันออกมาเป็น “เขตห้ามเข้า” ทั้งที่เป็นพื้นที่ของไทยโดยสมบูรณ์มาตั้งแต่เดิม แต่เป็นเพราะด้วยเล่ห์เหลี่ยมอยากได้ใคร่ครองของผู้นำกัมพูชาจึงเดินแผนแบบนี้ แต่กลายเป็นว่าฝ่ายรัฐบาลไทยที่นำโดย นายกฯ อภิสิทธิ์ กลับโดดเข้างับเข้าไปเต็มๆ เสียอีก

นอกเหนือจากนี้สิ่งที่ต้องพิจารณาตามมาอีกก็คือ ทำไมนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถึงได้นำไทยเข้าเสี่ยงต่อการสูญเสียอธิปไตยอีกครั้ง ทั้งในเรื่องขององค์ประกอบทุกอย่างเสียเปรียบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการครอบงำของประเทศมหาอำนาจในศาลโลก และที่สำคัญทำไมเราไม่ปฏิเสธอำนาจของศาลโลกมาตั้งแต่แรก เพราะเราไม่ได้เป็นภาคีมาตั้งแต่พ่ายแพ้คดีจนต้องสูญเสียปราสาทเมื่อปี 2505 และเราก็ไม่ได้ต่ออายุมาตั้งแต่นั้นเป็นมา

แต่มาถึงวันนี้ฝ่ายไทยก็กระตือรือร้นที่จะสู้คดี มีการเตรียมการว่าจ้างทนายความอย่างเต็มที่ แม้ว่าจะยังมีการปิดบังกันอย่างเงียบเชียบว่าเป็นใครบ้าง แต่เท่าที่รู้กันมาก็คือจะมีการว่าจ้างทนายความชาวฝรั่งเศสมาช่วยแก้ต่างให้ ซึ่งทั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กษิต ภิรมย์ ต่างก็มั่นใจว่ามีแง่มุมที่จะสู้คดีจนได้รับชัยชนะ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างยิ่งที่เรามีผู้นำที่ดันทุรัง ต้องการเอาชนะในสิ่งที่นำเอาเรื่องส่วนรวม เรื่องที่เป็นอธิปไตยของชาติเข้าไปเสี่ยง

ที่สำคัญในเมื่อประกาศว่าจะยุบสภาในอีกไม่กี่วันข้างหน้า นั่นก็ย่อมหมายความว่ารัฐบาลชุดนี้ก็จะเป็นรัฐบาลรักษาการ เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ ไม่มีอำนาจเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ และคำถามก็คือเมื่อเป็นรักษาการแล้วทำไมถึงได้กล้าเสี่ยงยิ่งขึ้นไปอีก นอกจากนี้ หากหลังการเลือกตั้งแล้วมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ ไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์ และ นายกรัฐมนตรีไม่ใช่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะทำอย่างไร จะปล่อยให้ทุกอย่างเดินไปตามยะถากรรมอย่างนั้นหรือ

การถลำลึกลงไปเล่นตามเกมของฝ่ายกัมพูชาเป็นฝ่ายกำหนดอย่างซ้ำซากทำให้ประเทศต้องตกอยู่ในความเครียด มีแต่ความเสียเปรียบไม่หยุดหย่อน นับตั้งแต่กรณีการถูกเยาะเย้ยถากถางจากผู้นำกัมพูชา ฮุนเซน ที่ได้เหิมเกริมมาให้สัมภาษณ์แบบไร้มารยาททางการทูตถึงภายในประเทศของเราก็ยังทำมาแล้ว ถัดมาเมื่อมีการปะทะตามแนวชายแดนเราก็เป็นฝ่ายตั้งรับ ไม่กล้าตอบโต้ได้เต็มที่ ทำให้ราษฎรต้องอพยพหนีภัยต้องเสียชีวิตและบาดเจ็บอย่างน่าอัปยศอดสูที่สุด และถัดมาฝ่ายโน้นก็เปิดเกมรุกใหม่เพื่อหวังฮุบพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารอย่างสมบูรณ์แบบโดยอาศัยช่องทางศาลโลกเป็นใบเบิกทาง ซึ่งแม้ว่านี่คือ “กับดัก” หรือเล่ห์เหลี่ยมที่วางเอาไว้ล่วงหน้า แต่เราก็ยังยอมรับและเล่นตามเกมแบบนั้น

ดังนั้นก็ต้องตั้งคำถามไปถึงนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าจะเสี่ยงอีกทำไม!!
กษิต ภิรมย์
กำลังโหลดความคิดเห็น