xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : ทำไมต้อง “โหวต โน”?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน

ยิ่งใกล้ยุบสภา ใกล้เลือกตั้งใหม่เท่าไหร่ ดูเหมือน “โหวต โน (VOTE NO) จะถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆ กับการสำรวจความเห็นว่าใครจะไปใช้สิทธิเลือกพรรคการเมืองใด “เพื่อไทย” หรือ “ประชาธิปัตย์” หรือพรรคอื่น หรือจะใช้สิทธิโหวต โน ไม่เลือกพรรคใด ...หลายคนสนใจโหวต โน แต่ไม่รู้ว่า โหวต โน ดีกว่าไม่โหวตโนอย่างไร ขณะที่หลายคนยอมรับว่าเบื่อการเมือง แต่ไม่กล้าโหวต โน เพราะกลัวได้พรรคที่เลวที่สุดเข้ามา จึงคิดว่าเลือกพรรคที่เลวน้อยที่สุดดีมั้ย ...อย่าเพิ่งรีบด่วนตัดสินใจ ลองมาฟังผู้รู้ไขข้อข้องใจเรื่องโหวต โน ก่อนดีกว่า

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ

จนถึงขณะนี้ ยังไม่แน่ชัดว่าการยุบสภายังจะมีขึ้นในสัปดาห์แรกของเดือน พ.ค. หรือวันที่ 6 พ.ค.ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่ เพราะเริ่มมีสัญญาณว่าอาจมีการเลื่อนยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ออกไป สังเกตได้จากนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายอภิสิทธิ์ ออกมาพูดถึงเรื่องยุบสภาแบบคนละทิศคนละทาง โดยนายชัย บอก(3 พ.ค.)ว่า นายกฯ ทูลเกล้าฯ ร่างพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.)ยุบสภาขึ้นไปแล้ว ตอนนี้จึงต้องรอฟังข่าวว่าจะมีการโปรดเกล้าฯ ลงมาวันไหน แต่นายอภิสิทธิ์ รีบออกมาปฏิเสธว่า ยังไม่ได้ทูลเกล้าฯ ร่าง พ.ร.ฎ.ยุบสภา ตามที่นายชัยระบุ แต่ยืนยันว่าจะทูลเกล้าฯ ยุบสภาภายในสัปดาห์นี้

ขณะที่นักการเมืองบางพรรค เริ่มผุดไอเดียเลื่อนยุบสภาออกมาบ้างแล้ว เช่น นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เสนอว่า น่าจะเลื่อนการยุบสภาออกไป เพราะขณะนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวร หากทูลเกล้าฯ เรื่องยุบสภาขึ้นไปจะไม่เหมาะสม ควรจะเลื่อนออกไปก่อน จะเลื่อน 7 วันก็ไม่เป็นไร พรรคการเมืองไม่มีปัญหา

นั่นคือความเคลื่อนไหวเรื่องยุบสภา ที่ไม่ช้าก็เร็วต้องเกิดขึ้นแน่ และหลังจากนั้นการเลือกตั้งใหม่ก็จะตามมาภายใน 2 เดือน หรือไม่ต่ำกว่า 45 วันหลังยุบสภา ซึ่งหากยุบสภาวันที่ 6 พ.ค. ก็อาจจะเลือกตั้งในวันที่ 26 มิ.ย. หรือไม่ก็วันที่ 3 ก.ค.

พูดถึงการเลือกตั้ง ก็ต้องพูดถึงการโหวต โน หรือการกาช่อง “ไม่ประสงค์ลงคะแนน” ที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกำลังรณรงค์อยู่ในขณะนี้ ซึ่งเริ่มเห็นผลมากขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะในโลกไซเบอร์ อย่างไรก็ตามยังมีคำถามจากบางคนบางฝ่ายว่า ทำไมต้องโหวต โน? ...โหวต โน เพื่ออะไร? ...โหวต โน ดีอย่างไร? หรือ โหวต โน แล้วได้อะไร? ทำไมเราไม่เลือกพรรคที่เลวน้อยที่สุด? ฯลฯ เพื่อคลายความสงสัย ลองมาฟังผู้รู้และผู้เกี่ยวข้องไขข้อข้องใจในเรื่องนี้กัน

นายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรฯ บอกถึงเหตุผลที่พันธมิตรฯ ต้องหนุนโหวต โน ว่า เพราะสังคมกำลังมีปัญหาทุกด้าน ทั้งในแง่เศรษฐกิจและการเมือง นักการเมืองซื้อสิทธิขายเสียงเข้ามา เข้ามาแล้วก็ทุจริตคอร์รัปชั่น แถมระบบไม่เอื้อให้ตรวจสอบ ดังนั้น จึงถึงเวลาที่ต้องปฏิรูปการเมืองและปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ด้วยการโหวต โน

“การเมืองไทยไม่สามารถที่จะให้ประชาชนตรวจสอบนักการเมืองได้ และไม่สามารถที่จะดูแลพฤติกรรมของนักการเมืองและจริยธรรมของนักการเมืองได้ ระบบการเมืองที่มีอยู่ก็ทำให้ไม่มีการคานอำนาจกันอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารและตุลาการ เพราะฉะนั้น มันถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องมีปฏิรูปใหญ่ โดยยังคงโครงสร้างระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่ในเนื้อหาสาระต้องมีการปฏิรูปใหญ่ของทุกส่วนของสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชั่นและซื้อสิทธิขายเสียงมา”

“2.แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ความเสมอภาค และแก้ไขปัญหาเรื่องคุณภาพในสังคม แก้ไขปัญหาช่องว่างทางสังคมที่ยังมีรายได้ที่แตกต่างกันมาก แก้ไขปัญหาเรื่องเหลื่อมล้ำในการครอบครองทรัพย์สินและการรุกล้ำทรัพยากรธรรมชาติ แย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ และการทำลายชุมชนในชนบท ทั้งหมดนี้สรุปรวมก็คือ เรามีปัญหาด้านการศึกษา ปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม และปัญหาการเมือง ถ้าการเลือกตั้งยังเป็นแบบเดิม ได้นักการเมืองแบบเดิมเข้ามา การแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ผมกล่าวมาแล้วก็จะไม่สามารถทำได้ เราต้องการบอกนักการเมืองว่า ต้องมีการปฏิรูปสังคมและการเมืองทั้งระบบ วิธีการแสดงออกให้เขานับได้ ก็คือการเข้าคูหาเลือกตั้ง และไปลงช่องโหวตโน ไม่เลือกพรรคการเมืองใด ไม่เลือกผู้สมัคร ส.ส.คนใด”


นายพิภพ บอกด้วยว่า ถ้าเสียงโหวต โน มีมากพอ เชื่อว่าจะนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองและสังคม ส่วนจะปฏิรูปด้วยวิธีใดหรือกลไกใด ถึงเวลา เสียงของโหวต โนจะเป็นตัวกำหนด เช่น อาจจะด้วยวิธีตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) จากภาคประชาชนขึ้นมา แล้วนำไปสู่การลงประชามติเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับระบบสังคมและการเมืองไทย

ด้าน ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ นักวิชาการอิสระ บอกกับ Manager Radio FM 97.75 MHz ว่า ส่วนตัวแล้วไม่ได้คัดค้านการโหวต โน โดยมองว่าเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของการต่อสู้เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง และเป็นการแสดงสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งผลโหวต โน ยิ่งออกมามาก ยิ่งดี เพราะอาจช่วยให้การเลือกตั้งที่ออกมาเป็นโมฆะ หรือทำให้ ส.ส.และพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้ง ขาดความชอบธรรม เมื่อนั้นจะนำไปสู่การปฏิรูป อ.ปราโมทย์ ยังยกเหตุผลที่ประชาชนควรโหวต โน ด้วยว่า นอกจากรัฐบาลจะไม่เป็นประชาธิปไตยมาหลายสมัยแล้ว รัฐบาลยังทำเพื่อตัวเอง และไม่ปกป้องประเทศชาติ

“เราทราบดีว่าสภาผู้แทนฯ ชุดนี้เป็นผู้ตั้งรัฐบาลชุดนี้ขึ้นมา รวมทั้งรัฐบาลชุดก่อน คือรัฐบาลสมัคร รัฐบาลสมชายนั้น หาได้เป็นประชาธิปไตยหรือมีความรับผิดชอบต่อเจ้าของอำนาจอธิปไตยคือประชาชน จึงเรียกว่าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยก็หาได้ไม่ เพราะคน 500 คน กับรัฐบาลที่ผลิตมาจากคน 500 คน รวมกันเป็น 3 รัฐบาลเนี่ย ได้ขาดความชอบธรรมทางการเมืองมานานแล้ว ตั้งแต่สิทธิเลือกตั้ง 2550 นั่นแหละ เมื่อเลือกตั้งเข้ามา พรรคที่มีอยู่ที่ได้เป็นรัฐบาล นอกจากจะขาดความชอบธรรมตามกฎหมายแล้ว เขายังทำลายอำนาจอธิปไตยซึ่งปวงชนเป็นเจ้าของ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมอบให้สภาใช้ มอบให้ ครม.ใช้ เขาหาได้ใช้เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยไม่ ในทางกลับกัน เขาเอาไปใช้เพื่อเคลียร์ทักษิณ”

“2.เพื่อทำประโยชน์ทำมาหากิน หาเงินหาทอง หาเสียง ทำให้ประเทศชาติตกต่ำ วุ่นวาย หลายต่อหลายเรื่อง ทำประชุมล่ม ล่มการประชุม(อาเซียน)ซัมมิต ทำให้ชาติไทยที่มีชื่อเสียงมาตั้ง 700-800 ปีเสียชื่อเป็นครั้งแรก เผาบ้านเผาเมืองด้วยฝีมือคนไทยด้วยกันเป็นครั้งแรก ทั้งรัฐบาลและ ครม.ที่มาจาก ส.ส.ชุดนี้ ก็หาได้มีความรับผิดชอบไม่ บ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป ระส่ำระสาย ข้าวยากหมากแพง ผู้คนแตกกันเป็นหลากหลายสี แถมยังไม่ป้องกันชาติบ้านเมือง และเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ที่เรามีผู้อพยพหนีภัยประเทศเพื่อนบ้านซึ่งไม่มีกำลังวังชาอะไร แต่รัฐบาลนี้และทหารภายใต้ความควบคุมของรัฐบาลนี้ และพรรคการเมืองทั้งหลายแหล่ที่อยู่ในสภานี้ก็หาได้ทำอะไร แม้แต่พระบรมราโชวาทของในหลวงบอกว่า ทหารก็จะต้องใช้กำลังแสนยานุภาพให้เต็มขีดความสามารถเพื่อจะคุ้มครองประชาชนคนไทยทุกฝ่าย เขาก็หาได้ฟังหรือปฏิบัติตามไม่ เพราะฉะนั้นการที่จะให้เขาอยู่สืบทอดอำนาจไปอย่างสบายโดยไม่ชี้แจงให้ประชาชนทราบ วิธีหนึ่งที่จะชี้แจงให้ประชาชนทราบก็คือโหวตโน ถ้าปล่อยให้เขาเข้ามาโดยลอยชาย และไม่มีการชี้แจงหรือต่อต้านหรือให้ประชาชนเห็นเข้าใจเนี่ย เขาก็จะเป็นอย่างเดิมต่อไป บ้านเมืองก็จะต้องรับทุกข์ต่อไป”


ขณะที่ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ซึ่งเห็นด้วยกับการโหวต โน ขยายความให้ฟังถึงเหตุผลที่ต้องโหวต โนว่า การโหวต โน ไม่เพียงเป็นการใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตยเพื่อแสดงเจตจำนงว่าต้องการการปฏิรูปการเมือง แต่ยังเป็นการไม่สร้างความชอบธรรมให้กับพรรคการเมืองและนักการเมืองที่ไร้ประสิทธิภาพและมีความฉ้อฉลด้วย ส่วนกรณีที่บางฝ่ายบอกว่า เราควรเลือกพรรคการเมืองที่เลวน้อยที่สุด เพราะถ้าเราเลือกโหวต โน อาจจะทำให้เราได้พรรคการเมืองที่เลวที่สุดมานั้น อ.พิชาย ไม่เห็นด้วย เพราะเราไม่ควรสร้างความชอบธรรมให้กับพรรคการเมืองที่เลว

“เราจะต้องไม่ไปทำตัวสร้างความชอบธรรมให้กับนักการเมืองและพรรคการเมืองที่เลว ถ้าเราไปโหวตลงคะแนนให้พรรคการเมืองใดพรรคหนึ่งเนี่ย ก็หมายความว่า จะทำให้พรรคการเมืองพรรคนั้นสามารถนำคะแนนของเราไปสร้างความชอบธรรมในการที่จะดำเนินงานทางการเมือง ซึ่งตอนนี้เราก็ทราบแล้วว่า พรรคการเมืองทุกพรรคไม่ว่าเป็นพรรคใดก็ตาม เมื่อได้คะแนนเสียงจากประชาชนแล้ว ก็ไม่ได้กระทำตามเจตจำนงของประชาชนในการบริหารประเทศให้เป็นไปด้วยหลักธรรมาภิบาล แล้วก็สร้างประโยชน์ของประเทศ เพราะฉะนั้นถ้าเราเลือกพรรคใดพรรคหนึ่งก็หมายความว่า เราเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างปัญหาให้กับการเมืองไทยต่อไป ดังนั้นเพื่อหยุดการสร้างปัญหาให้กับการเมืองไทย และสร้างหนทางใหม่ในการที่จะพัฒนาแก้ไขการเมืองไทย เราก็จำเป็นที่จะต้องไปลงคะแนนโหวตโนเพื่อที่จะเป็นกระแสที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไป”

เมื่อถามว่า แกนนำพรรคการเมืองใหม่บางคนรู้สึกเจ็บปวด ไม่ว่าจะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งหรือไม่ส่งก็ตาม อาจารย์เห็นด้วยหรือไม่ว่า เมื่อพันธมิตรฯ หนุนโหวต โน พรรคการเมืองใหม่ก็ไม่ควรส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง อ.พิชาย บอกว่า พรรคการเมืองใหม่ ตั้งขึ้นเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และมีรากฐานมาจากพันธมิตรฯ ที่ต้องการการเมืองใหม่จริงๆ แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ สภาพการเมืองยังเป็นการเมืองเก่าที่เต็มไปด้วยการทุจริตซื้อขายเสียง หากลงเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคการเมืองใหม่ก็เท่ากับไปสร้างความชอบธรรมให้กับระบบทางการเมืองที่สกปรก ซึ่งไม่ควร แต่ควรดำเนินกิจกรรมอย่างอื่นไปพลาง อย่าคิดว่าพรรคการเมืองตั้งขึ้นมาเพื่อลงเลือกตั้งเท่านั้น เพราะภารกิจของพรรคการเมืองอีกอย่างหนึ่งซึ่งสำคัญไม่แพ้กันก็คือ ให้การศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชน

อ.พิชาย ยังฝากถึงแกนนำและกรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่ด้วยว่า ไม่ควรจะไปเสียอกเสียใจที่ไม่ได้สมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ เพราะการเลือกตั้งยังมีอีกหลายครั้ง ไม่ใช่ว่าไม่ลงสมัครครั้งนี้แล้ว ครั้งต่อไปจะลงไม่ได้เสียเมื่อไหร่ ถ้าเมื่อใดการเมืองดีขึ้น และพรรคการเมืองใหม่มีส่วนในการสร้างการเมืองให้ดีขึ้น เมื่อนั้นพรรคการเมืองใหม่อาจจะได้รับคะแนนนิยมเพิ่มมากขึ้นก็ได้ในการเลือกตั้งในอนาคต!!
นายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรฯ ชี้เหตุผลที่ต้องโหวต โน เพื่อปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยืนยันจะทูลเกล้าฯ ยุบสภาภายในสัปดาห์นี้
นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ บอก ถ้ายุบสภาช่วงนี้เกิดสุญญากาศ
นายบรรหาร ศิลปอาชา ปธ.ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เสนอเลื่อนยุบสภา
กำลังโหลดความคิดเห็น