ประชุมสภานัดสุดท้าย ที่ประชุมมีมติผ่านร่าง พ.ร.บ.สัญชาติ วาระ 3 เอกฉันท์ ส่งวุฒิสภาพิจารณาต่อ
วันนี้ (4 พ.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดสุดท้ายก่อนที่จะมีการยุบสภา มีการพิจารณากฎหมายฉบับสำคัญ คือ ร่างพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ..... ในวาระ 3 ซึ่งที่ประชุมมีมติเสียงข้างมากด้วยคะแนน 257 ต่อ 0 ซึ่งขั้นตอนต่อไปคือส่งให้วุฒิสภาได้พิจารณาต่อไป
ทั้งนี้สาระสำคัญของ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.... คือ การกำหนดนิยามคำว่า "คนไทยพลัดถิ่น" เพื่อแสดงลักษณะของผู้ที่จะได้รับรองเป็นคนไทยพลัดถิ่นคือ มีเชื้อสายไทยที่ต้องกลายเป็นคนในบังคับของประเทศอื่น อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยในอดีต ซึ่งปัจจุบันผู้นั้นมิได้ถือสัญชาติของประเทศอื่นและได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นระยะเวลาหนึ่ง และมีวิถีชีวิตเป็นคนไทย โดยได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนตามกฎหมาย รวมทั้งผู้มีลักษณะอื่นทำนองเดียวกันตามที่กำหนดในกฎกระทรวงว่าด้วยทะเบียนราษฎร
โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 7 คน มีอำนาจหน้าที่พิจารณาให้การรับรองการเป็นคนไทยพลัดถิ่น ให้ได้รับสัญชาติไทยโดยการเกิดและกำหนดให้บุตรของคนไทยพลัดถิ่นดังกล่าวที่ไม่ได้ถือสัญชาติของประเทศอื่นหรือไม่มีสัญชาติไทยแล้ว ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดด้วยซึ่งเป็นไปตามหลักสืบสายโลหิตและหลักที่ห้ามถือสองสัญชาติ โดยมีรมว.มหาดไทยเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายฉบับนี้
ขณะที่ตัวแทนเครือข่ายแก้ปัญหาการคืนสัญชาติคนไทย และผู้แทนคนไทยพลัดถิ่นราว 20 คน ได้เดินทางมายังอาคารรัฐสภา เพื่อเข้าพบและขอบคุณ นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วม สภาผู้แทนราษฎร และนางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีต ส.ว.เชียงราย ซึ่งมีส่วนสำคัญในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จนได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาฯในที่สุด
โอกาสนี้ นายไกรศักดิ์ เปิดเผยว่า การที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมสภาฯนั้น ทำให้คนไทยพลัดถิ่นที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิของตัวเองมาอย่างยาวนาน ได้รับสัญชาติไทยโดยการเกิด หลังจากที่มีเฉพาะเชื่อชาติไทยที่ได้รับจากบรรพบุรุษที่สืบทอดกันมาหลายชั่วคน อีกทั้งกฎหมายฉบับนี้ยังถือเป็นความร่วมมือของ ส.ส.จากทุกพรรคการเมือง ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านที่ร่วมกันสนับสนุน ทั้งยังเป็นการแก้ไขปัญหาของชาติโดยระบบรัฐสภา โดยไม่จำเป็นต้องไปก่อความรุนแรงหรือชุมนุมตามท้องถนน ทำให้ตนรู้สึกภาคภูมิใจในการทำหน้าที่ของสภาฯมาก ถือเป็นสัญลักษณ์ในการทำงานร่วมกันซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีต่อไป
ขณะที่ นางเตือนใจ ได้กล่าวขอบคุณ ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ที่ร่วมกันผ่านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว พร้อมกล่าวต่อว่า ถือเป็นชัยชนะขั้นแรกของคนไทยพลัดถิ่น จากนี้ไปก็จะรอการพิจารณาของวุฒิสภาตามขั้นตอนต่อไป อย่างไรก็ตามในระหว่างนี้ในฐานะที่ตนร่วมอยู่ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ชุดของ นพ.ประเวศ วะสี จะมีการลงพื้นที่ที่มีพี่น้องคนไทยผลัดถิ่นอาศัยอยู่ ทั้งที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.ระนอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องกฎหมายฉบับนี้ รวมทั้ง จ.ตาก และ จ.ตราด ที่เข้ามามีส่วนร่วมสำคัญในภายหลัง เพื่อทำการสำรวจทะเบียนราษฎรฉบับประชาชน จึงอยากให้ชาวบ้านในพื้นที่เตรียมพร้อมและช่วยกันในการตรวจสอบพี่น้องในชุมชน เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ที่อาจเกิดขึ้นได้