xs
xsm
sm
md
lg

“ชวนนท์” เผย กต.ไทย-เขมรยินดีเจรจาก่อนประชุมอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต
“ชวนนท์” แจงไทยยอมรับผู้สังเกตการณ์ แต่ต้องไม่ใช่ทหาร ไม่เข้ามาในพื้นที่ 4.6 ตร.กม. และกัมพูชาต้องเอาทหารออกจากพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ก่อน ไม่ต้องการให้ชาติที่ 3 มารับรองสิทธิเหนือดินแดนให้กัมพูชา ชี้เขมรโจมตีระลอกนี้หวังดึงต่างชาติเข้าแทรกแซงความขัดแย้งของสองประเทศ พร้อมเจรจาถ้าเขมรหยุดยิงก่อน เผย “กษิต” โทรศัพท์คุย “ฮอร์ นัมฮง” ต่างฝ่ายยินดีพูดคุยกันก่อนประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน 7-8 พ.ค.นี้ ส่วน “ฮุนเซน” ถ้าอยากคุยกับ “อภิสิทธิ์” ก็ให้โทรศัพท์มาคุยกันได้ตลอด

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในรายการ “ตอบโจทย์ข่าว” ทางไทยพีบีเอส ระบุว่ากรณีความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา หลังจากที่ทางยูเอ็นเอสซี (คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ) ได้ให้อาเซียนสร้างบรรยากาศให้ทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาได้คุยกัน การประชุมที่เมืองโบกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย ก็เป็นไปด้วยดี ซึ่งเราผลักดันการเจรจาทวิภาคี เวทีครั้งต่อไปก็ควรเป็นเรื่องสองประเทศ ซึ่งไม่มีเหตุอะไรแสดงถึงความขัดแย้ง แต่อยู่ดีๆ ทางกัมพูชาก็โจมตีไทยตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา (22 เม.ย.)

สำหรับเรื่องผู้สังเกตการณ์นั้น รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้มีการหารือกันเกี่ยวกับเรื่องการส่งผู้สังเกตการณ์มาในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรบริเวณเขาพระวิหาร ไม่ใช่พื้นที่ที่ปะทะกันในขณะนี้ ซึ่งก็อยู่ระหว่างเจรจาหารือกันอยู่ โดยประการแรกผู้สังเกตการณ์ไม่ควรเป็นทหาร ประการที่ 2 ผู้สังเกตการณ์ไม่ควรเข้ามาในพื้นที่ 4.6 ตร.กม. เพราะเป็นพื้นที่ที่ยังมีความขัดแย้งกับไทยอยู่ และประการสุดท้าย กัมพูชาต้องเอาทหารออกไป เพราะเราไม่ต้องการให้มีการรับรองพื้นที่ที่ทหารกัมพูชาอยู่ เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นของไทย ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการเจรจา ซึ่งทางเรากับกัมพูชาต้องเข้าใจตรงกันในขอบเขตหน้าที่ของผู้สังเกตการณ์ โดยไม่ความสร้างความขัดแย้งเพิ่มเติม ซึ่งเมื่อสองวันก่อน นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ก็ได้โทรศัพท์หานายฮอร์ นัมฮง รมว.ต่างประเทศกัมพูชาได้มีการคุยแล้ว เราเป็นประเทศใหญ่กว่าไม่จำเป็นต้องใช้อาวุธในการแก้ปัญหา ถ้าทางกัมพูชาหยุดยิง เราก็หยุด ซึ่งนายฮอร์ นัมฮง ก็ยินดีที่จะพูดคุยกัน อาจจะมีการพูดคุยกันก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียนจะเริ่มขึ้น (7-8 พ.ค.54)

นายประภัสสร์ เทพชาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หลังจากการประชุมที่อินโดนีเซียเมื่อ 22 ก.พ.54 เหตุการณ์น่าจะคลี่คลาย โดยอินโดนีเซียจะช่วยส่งผู้สังเกตการณ์เข้ามา แต่จากวันนั้นจนถึงวันที่การปะทะกัน สิ่งที่ควรเกิดให้มีผลทางบวกมันกลับล้มเหลว เช่น การประชุมเจบีซีไม่มีผลเป็นรูปธรรม การประชุมจีบีซีก็ไม่มี การประชุมเกิดขึ้น ตนเห็นว่าน่าจะเร่งเดินหน้ากระบวนการเรื่องผู้สังเกตการณ์ให้เร็ว แต่ก็ติดขัดมาโดยตลอด นอกจากนี้ ฝ่ายไทยเองมีความคิดเห็นที่แตกแยกกัน ทางกระทรวงการต่างประเทศกับทหารคิดกันคนละแบบ กระทรวงการต่างประเทศอยากจะประนีประนอม ยอมให้ผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียเข้ามา แต่ทางฝ่ายทหารมีท่าทีที่ แข็งกร้าวมากกว่า ไม่ยอมให้ผู้สังเกตการณ์เข้ามา ทำให้เกิดการชะลอไป ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทางกัมพูชาคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างให้เกิดอะไรขึ้น โดยเป้าหมายของกัมพูชาต้อง การขยายปัญหาไปสู่เวทีสากล อย่างยูเอ็นเอสซี ต้องการขยายความขัดแย้งให้เป็นสงครามเต็มรูปแบบ ถ้าเป็นอย่างนั้นยูเอ็นเอสซีต้องเข้ามายุ่งแน่

นายชวนนท์กล่าวว่า เรื่องกระบวนการเจรจาเจบีซี ได้ข้อสรุปว่าจะร่วมกันสำรวจหลักหมุดที่ 1-23 ถ้าทางกัมพูชามีความจริงใจ ก็ให้มาร่วมกันดูหลักหมุดที่ถูกต้องได้ ส่วนเรื่องการประชุมจีบีซี ทางกระทรวงกลาโหมดูแลเรื่องการจัดวางกำลังทหาร เมื่อมีการเคลื่อนกำลังอย่างผิดปกติ มีการปะทะกัน ก็ต้องกลับมาเวทีนี้ เพื่อประชุมแก้ไขปัญหา ปัจจุบันกลไกการเจรจายังใช้ได้ เรายินดีเจรจา แต่เราตบมือข้างเดียวก็ไม่ดัง ทางกัมพูชาต้องตอบคำถามว่าทำไมอยู่ดีๆปฏิเสธการเจรจา การโจมตีเพื่อต้องการกลับไปเวทีอาเซียน กลับไปเวทีนานาชาติ โดยตั้งใจจะไม่ใช้กลไกเจรจาสองฝ่ายนี้ ตั้งใจจะให้ประเทศอื่นเข้ามาแทรกแซง ปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา ส่วนเรื่องผู้สังเกตการณ์เราหารือกันมาโดยตลอด มีการขอความคิดเห็นกระทรวงกลาโหม ซึ่งดูแลเรื่องจุดที่ผู้สังเกตการณ์จะอยู่ ว่าเข้ามาแล้วต้องไม่กระทบสิทธิเหนือดินแดนของไทย ต้องมาในลักษณะเป็นผู้แทนทางการทูต ต้องเอาทหารกัมพูชาในพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ออกไปให้หมด จะมาแสดงสิทธิบนพื้นที่ของไทยไม่ได้ ส่วนการปะทะในปัจจุบันจะให้ส่งผู้สังเกตการณ์เข้ามาตลอดแนวปะทะกันคงเป็นไปไม่ได้

นายประภัสสร์กล่าวว่า ไทยเราต้องการเจรจาทวิภาคี แต่กัมพูชาไม่อยากคุยทวิภาคี เพราะทางกัมพูชามองว่าการเจรจาทวิภาคีเขาเสียเปรียบ เขาไม่ไว้วางใจเวทีนี้ เราจะทำอย่างไรยังไงให้ทางกัมพูชาไว้ใจเวทีทวิภาคี อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ไม่สามารถเจรจาทวิภาคีแล้ว ทางสหประชาชาติ และอาเซียนเข้ามายุ่งแล้ว ประชุมสุดยอดอาเซียน 7-8 พ.ค.ที่

นายชวนนท์กล่าวว่า ตอนแรกอินโดนีเซียพยายามเป็นคนกลาง แต่ในการประชุมเป็นสาระและหลักการในการเจรจาทวิภาคีครั้งนี้เราได้ชี้แจงชัดเจน ว่าทางกัมพูชาต้องการอย่างไร เราพูดชัด เราไม่ได้ยิงก่อน การใช้ผ่านกลไกอาเซียน วันนี้เรายอมรับบทบาทที่ประธานอาเซียนจะเข้ามาสอบถาม มาทำความเข้าใจ แต่การเจรจาเป็นเรื่องของสองประเทศ

นายประภัสสร์กล่าวว่า ตอนนี้เลยจุดที่จะคุยกันสองคนแล้ว กลายเป็นเรื่องของระดับภูมิภาค ระดับนานาชาติ เราต้องปรับนโยบาย ต้องยอมรับความจริงว่าปัญหาได้บานปลายแล้ว เราต้องมุ่งเป้าไปสู่หนทางว่าจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร โดยไม่ขัดแย้งกับเพื่อนบ้าน ไทยควรวางตัวเป็นผู้ใหญ่มากกว่านี้ ต้องมีความอดกลั้นมากกว่านี้ เราควรใจเย็นมากกว่านี้ ท่าทีของไทยแข็งกร้าวเกินไป ใจร้อนเกินไป เราน่าจะหาลู่ทางนำไปสู่กระบวนการทางการทูต แก้ปัญหาด้วยสันติวิธี ด้วยการเจรจา ทางกัมพูชาเปรียบเป็นเด็ก ทำตัวโยเย งอแง เราเป็นประเทศใหญ่กว่า ถ้ามีเรื่องกัน ในสายตาประชาคมโลก เขาจะมองว่าผู้ใหญ่รังแกเด็ก

นายชวนนท์กล่าวว่า เราได้ทำความเข้าใจกับประชาคมโลก ว่าเรื่องนี้เรายอมไม่ได้ เราต้องอพยพประชาชนกว่าสามหมื่นคน มีทหาร มีชาวบ้านตาย เราต้องตอบโต้ แต่ทางการทูตเราก็พร้อมจะเปิดโต๊ะเจรจา ถ้านายฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา พร้อมจะคุยจริงก็สามารถยกหู โทรศัพท์หานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็คุยกันได้แล้ว แต่เราไม่มีความจำเป็นต้องโทรไปก่อน เพราะเราไม่ใช่ผู้เริ่ม ซึ่งทางเราเปิดเวทีเจรจาอยู่แล้ว

นายประภัสสร์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ช่องทางการเจรจายังไม่ถูกปิด เร็วๆ นี้จะมีการประชุมสุดยอดอาเซียน ซึ่งนายฮุนเซนก็จะได้พบกับนายอภิสิทธิ์ ก็จะมีโอกาสคุยกัน ซึ่งรวมถึงระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ รัฐมนตรีกลาโหม ในหลายๆ เวทีหลังจากนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น