ผ่าประเด็นร้อน
หากนับจนถึงวานนี้ (26 เมษายน) การปะทะตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาในรอบใหม่ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่วันศุกร์ที่ 22 เมษายน เสียงปืนก็ยังไม่สงบ ขณะเดียวกันก็เป็นที่รับรู้กันทั่วไปแล้วว่าเป็นฝ่ายกัมพูชาที่เปิดเกมขึ้นก่อน เพื่อมีเป้าหมายให้ประเทศที่สาม หรือองค์กรระหว่างประเทศไม่ว่าจะเป็นองค์การสหประชาชาติ หรืออาเซียน เข้ามาแทรกแซง
แต่ในสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นยังไม่มีทีท่าว่าองค์กรระหว่างประเทศดังกล่าวเหล่านั้นจะขยับตัวเข้ามาแต่อย่างใด เพราะแม้แต่ตัวแทนอาเซียนอย่างประเทศอินโดนีเซียที่ตอนแรกจะส่งรัฐมนตรีต่างประเทศเข้ามาสังเกตการณ์ก็ยังถูกคัดค้านจากฝ่ายไทย โดยเฉพาะกองทัพไทยและคนไทย เนื่องจากเห็นว่าจะทำให้ไทยเสียเปรียบในเรื่องการสูญเสียอธิปไตย จนต้องถอยกรูด
ถ้าทบทวนเหตุการณ์แล้วจะพบว่า การปะทะระหว่างสองฝ่ายหากนับเฉพาะในปีนี้เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ชายแดนด้านตรงข้ามจังหวัดศรีสะเกษ บริเวณปราสาทพระวิหารคราวนั้นมีการสูญเสียชีวิตทั้งทหารและพลเรือนต้องมีการอพยพกันวุ่นวาย ส่วนเหตุการณ์ล่าสุดเกิดขึ้นมาตั้งแต่เช้ามืดวันศุกร์ดังกล่าว แต่การปะทะมีความยืดเยื้อและหนักหน่วงกว่าเดิม และยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงง่ายๆ เนื่องจากฝ่ายกัมพูชาประกาศไม่ยอมเจรจาแบบทวิภาคีกับฝ่ายไทยทุกระดับ
การประกาศไม่เจรจากับไทยแบบทวิภาคี ทั้งที่ทั้งสองฝ่ายมีบันทึกความเข้าใจว่าด้วยเรื่องการปักปันเขตแดนทางบกระหว่างไทย-กัมพูชา เมื่อปี 2543 (เอ็มโอยู 43) ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ที่การแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการเจรจาทั้งสองฝ่าย รวมไปถึงการห้ามทั้งสองฝ่ายรุกล้ำเข้ามาตั้งฐานปฏิบัติการทางทหาร ชุมชน หรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ แต่ที่ผ่านมากลับปรากฎว่าทางฝ่ายกัมพูชามีความพยายามในการรุกกินพื้นที่เข้ามาเรื่อยๆ มีการทำถนน สร้างวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ รวมไปถึงชุมชนเขมรในพื้นที่ โดยเฉพาะชายแดนด้านประสาทพระวิหาร เป็นต้น
อย่างไรก็ดี การรุกล้ำเข้ามาของฝ่ายกัมพูชาส่วนสำคัญอย่างหนึ่งก็คือเกิดขึ้นจากความ “ไม่เอาไหน” ของฝ่ายรัฐบาลไทย และทหารไทยบางกลุ่มที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน หาประโยชน์ทาง “ธุรกิจเถื่อน” ตามแนวชายแดนมานาน และได้สร้างปัญหาต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้
ดังนั้น ถ้าให้สรุปในเบื้อนต้นตอนนี้ก่อนเหตุการณ์ปะทะตามแนวชายแดนที่เกิดขึ้นทั้งสองครั้งในปีนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และล่าสุดกำลังปะทะกันอยู่ในเดือนกุมภาพันธ์เกิดจากความล้มเหลวของเอ็มโอยู 43 นั่นเอง
ขณะเดียวกัน จากบันทึกความเข้าใจดังกล่าวยังส่งผลให้ฝ่ายไทยเสียเปรียบ กลายเป็นพันธนาการที่รัดคอตัวเองเอาไว้แน่น เนื่องจากเป็นเอ็มโอยูที่กระทำขึ้นในยุคของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ และเมื่อต่อเนื่องกลายเป็น “มรดกบาป” ในยุคของรัฐบาลภายใต้การนำของ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงต้องปกป้องความผิดพลาดในอดีตเอาไว้อย่างเหนียวแน่น เพราะที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีคนนี้มักยืนยันอยู่เสมออ้างว่าเป็นเพราะเอ็มโอยู 43 ที่ทำให้ฝ่ายกัมพูชาต้องเจรจาทวิภาคี ไม่อาจรุกล้ำดินแดนหรือละเมิดอธิปไตยของไทยได้ ฯลฯ ความหมายโดยสรุปก็คือ เอ็มโอยู 43 เหมือนกับ “คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์” แก้ปัญหาได้ทุกอย่าง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง
คำพูดของผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่โพล่งออกมาเมื่อวันก่อนในทำนองว่าทหารทำเต็มที่ป้องกันเต็มที่เมื่อยิงมา 10 นัดเราก็ยิงโต้ไปเป็นทวีคูณ แต่ที่ขยับไม่ได้มากกว่านี้ก็เป็นเพราะเราติด “พันธสัญญา” และต้องฟังคำสั่งของรัฐบาล ทั้งที่รู้ว่าฝ่ายกัมพูชาละเมิดเพื่อต้องการยกระดับให้ประเทศที่สามเข้ามาแทรกแซง มันก็ชัดยิ่งกว่าชัด
ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากคำพูดของผู้นำกองทัพอย่างผู้บัญชาการทหารบก รวมไปถึงการประเมินจากหลายฝ่ายก็เห็นตรงกันแบบรู้ทันความุ่งหมายของผู้นำกัมพูชา แต่ในเมื่อฝ่ายประเทศที่สาม หรือองค์การระหว่างประเทศยัง “ไม่ขยับ” นั่นก็หมายความว่ายังไม่บรรลุเป้าหมาย ดังนั้นมีทางเดียวก็คือ “ฮุนเซน” ต้อง “เพิ่มดีกรีความโหด” ให้เข้มข้นกว่าเดิม เพื่อเรียกร้องความสนใจจากนานาชาติให้ได้ และนับจากนี้ไปก็ให้ระวังเป้าหมายพลเรือนที่ลึกเข้ามาในฝั่งไทยให้ดีก็แล้วกัน!!