xs
xsm
sm
md
lg

“ประพันธ์” ชี้รัฐยอม “สุวิทย์” สะท้อน กต.ผิดพลาด หนุนทำเขตแดนก่อนเจรจาพระวิหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โฆษก กก.ป้องกันราชอาณาจักร ชี้ รัฐยอมข้อเสนอ “สุวิทย์” สะท้อน กต.ผิดพลาดตลอด จี้แสดงจุดยืนค้านหรืออนุมัติพระวิหาร หนุนทำเขตแดนให้เสร็จค่อยเจรจา แนะถอนตัวมรดกโลกหากแพ้เขมรล็อบบี้มหาอำนาจ ซัด ปชป.เมินข้อเรียกร้องต้องโหวตโน ยันพร้อมเคารพมติ ก.ม.ม. แนะกองทัพร่วม ป.ช.ช.จัดการพวกหมิ่นฯ หนุนถอนร่าง พ.ร.บ.ชุมนุม



 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายประพันธ์ คูณมี ให้สัมภาษณ์  

วันนี้ (21 เม.ย.) ที่สะพานมัฆวานฯ นายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย กล่าวถึงกรณีที่นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยอมรับการทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนการเจรจามรดกโลกของไทยต่อไปว่า การที่รัฐบาลมอบหมายให้นายสุวิทย์ทำหน้าที่ต่อไปนั้น หมายถึงรัฐบาลยอมรับตามข้อเสนอของนายสุวิทย์ และสะท้อนให้เห็นว่า แนวทางของกระทรวงการต่างประเทศไม่ถูกต้อง และผิดพลาดมาโดยตลอด เสี่ยงต่อการทำให้ไทยต้องเสียดินแดน ทั้งยังเป็นการย้ำว่าสิ่งที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และภาคประชาชนเรียกร้องว่าการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทำให้ไทยต้องสูญเสียดินแดนนั้น หากยอมรับแผนบริหารจัดการมรดกโลกของฝ่ายกัมพูชานั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ยังไม่ได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในเดือน มิ.ย.นี้ ว่าจะคัดค้านหรือสนับสนุนการอนุมัติให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ตรงนี้รัฐบาลต้องออกมาแสดงจุดยืนให้ชัดเจน ซึ่งตนขอสนับสนุนแนวทางการดำเนินการของนายสุวิทย์ที่ต้องการให้มีการจัดทำหลักเขตแดนให้แล้วเสร็จก่อนจึงค่อยเจรจาแนวทางการขึ้นทะเบียนหรือทำแผนบริหารจัดการต่อกัน

นายประพันธ์กล่าวอีกว่า ตนยังยืนยันว่าการถอนตัวจากมรดกโลกของไทยนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะนายสุวิทย์ก็เป็นผู้ยอมรับเองว่า 21 ประเทศที่เป็นกรรมการมรดกโลกในตอนนี้มีแนวโน้มในการสนับสนุนกัมพูชาเป็นหลัก ผ่านการล็อบบี้ของบรรดามหาอำนาจที่มีผลประโยชน์กับกัมพูชา ตรงนี้จะทำให้ไทยเสียเปรียบในเวทีมรดกโลกทันที เพราะถือเป็นเสียงส่วนน้อยในที่ประชุม หากเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกไม่กระทบเขตแดนไทย ไทยคงยากที่จะคัดค้านได้ ดังนั้นการที่นายสุวิทย์เห็นว่าไม่สมควรขึ้นทะเบียนได้ และกระทรวงการต่างประเทศเองก็จะทำการศึกษาพื้นที่โดยรอบเพื่อเสนอให้ขึ้นทะเบียนร่วมกันนั้น ก็ที่จะชะลอการพิจารณา หรือหากไม่สามารถทัดทานได้ก็ควรที่จะถอนตัวออกจากการเป็นภาคีมรดกโลกเสียก่อน

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีข่าวว่านายวาร์ คิมฮง ประธานคณะกรรมาธิการเขคแดนร่วม (เจบีซี) ไทย-กัมพูชา แสดงความเห็นต่อกรณีที่รัฐสภาไทยถอนร่างบันทึกเจบีซี 3 ฉบับออกจากวาระการประชุมว่าเป็นสิ่งที่ดีที่บันทึกดังกล่าวไม่ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไทยนั้น นายประพันธ์กล่าวว่า น่าแปลกใจ เพราะก่อนหน้านี้ทางกัมพูชาเอง ทั้งนายฮุนเซน นายกฯ กัมพูชา และนายวาร์ คิมฮง เป็นผู้ออกมากดดันให้รัฐบาลไทยพยายามผลักดันให้บันทึกเจบีซี 3 ฉบับผ่านการพิจารณาของรัฐสภาโดยเร็วหากต้องการเจรจาในกรอบทวิภาคี แต่เมื่อไม่ผ่านการรับรองจากรัฐสภาไทย กลับออกมาแสดงความยินดี แสดงว่าน่าจะได้รับการชี้แจงจากไทยรัฐบาลที่รับรองว่า แม้ร่างบันทึก 3 ฉบับจะถูกถอนออกมาก็ไม่กระทบต่อการดำเนินการใดๆตามเอ็มโอยู 2543 ทำให้ฝ่ายกัมพูชารู้สึกพอใจ

เมื่อถามต่อว่า หากเป็นเช่นนี้ถือเป็นสัญญาณไม่ดีต่อปัญหาเขตแดนไทย-กัมพูชาหรือไม่ นายประพันธ์กล่าวว่า การที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ยังยึดแนวทางการดำเนินการเดิมๆที่ไม่ให้ความสำคัญต่อ 3 ข้อเรียกร้องของภาคประชาชน ก็ไม่ส่งผลดีต่อปัญหาอยู่แล้ว อีกทั้งพรรคการเมืองต่างๆก็ไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้ เพราะยังไม่เห็นว่ามีพรรคการเมืองใดนำเสนอเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง ดังนั้น ภาคประชาชนจึงเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองขั้วใดได้รับเลือกตั้งมาเป็นรัฐบาล ปัญหาเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ ดังนั้นจึงมีแนวคิดในการรณรงค์ให้ประชาชนลงคะแนนในช่อง “ไม่ประสงค์ลงคะแนน” หรือโหวตโน

ต่อข้อถามที่ว่าในวันที่ 24 เม.ย.นี้ จะมีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคการเมืองใหม่ ที่สมาคมโผวเล้ง ย่านสาธุประดิษฐ์ ทางพันธมิตรฯ จะมีการเคลื่อนไหวใดๆ เพื่อกดดันหรือไปรับฟังการลงมติของพรรคการเมืองใหม่ในการส่งหรือไม่ส่งผู้สมัครเลือกตั้งหรือไม่ นายประพันธ์กล่าวว่า คาดว่าจะมีพี่น้องประชาชนพันธมิตรฯ ที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใหม่ไปร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็น ซึ่งไม่ว่าผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร ทางพันธมิตรฯ ก็จะเคารพ แต่เท่าที่ได้รับฟังเบื้องต้นทราบว่า สาขาพรรคต่างๆ มีมติออกมา โดยมีทิศทางเดียวกับภาคประชาชนในการเว้นวรรคเลือกตั้ง 1 สมัย เพื่อให้เกิดการปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และจะร่วมรณรงค์โหวตโนกับภาคประชาชน อย่างไรก็ตาม คงต้องรอฟังมติของที่ประชุมพรรคว่าเสียงส่วนใหญ่มีความเห็นว่าอย่างไร โดยส่วนตัวเชื่อว่าแกนนำพรรคจะพิจารณารับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน

“ไม่ว่ามติออกมาเป็นอย่างไร เราก็พร้อมที่จะเคารพ และเชื่อว่าไม่มีความขัดแย้งต่อกัน แต่อย่างไรก็ตามพันธมิตรฯจะเดินหน้ารณรงค์โหวตโน เพื่อเป้าหมายในการปฏิรูปการเมือง เป็นทางออกของวิกฤตในประเทศต่อไป” นายประพันธ์กล่าว

นายประพันธ์ยังได้กล่าวถึงการที่หารออกมาแสดงพลังในการปกป้องขบวนการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วยว่า ประชาชนเห็นด้วยกับการที่รัฐบาล กองทัพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะออกมาดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่เห็นว่ากองทัพควรร่วมเคลื่อนไหวร่วมกับภาคประชาชน และภาคประชาสังคมต่างๆ แทนที่จะออกมาสำแดงกำลังเพียงอย่างเดียว เพราะการจัดการปัญหาเรื่องนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทำให้ที่ผ่านมาไม่มีการจัดการปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ปัญหาลุกลามบานปลาย โดยเฉพาะในอินเทอร์เน็ต ที่หน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างกระทรวงไอซีทีกลับไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง ทำให้ประชาชนรู้สึกว่ารัฐบาลและกองทัพใช้เป็นประเด็นนี้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ไม่ได้มุ่งจัดการปัญหาอย่างจริงจัง

ส่วนกรณีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.... ของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันนี้ (21 เม.ย.) นั้น นายประพันธ์แสดงความเห็นว่า ตนเห็นด้วยกับเครือข่ายภาคประชาชน 38 องค์กรที่เคลื่อนไหวคัดค้านให้สภาฯ ถอนวาระดังกล่าวออก แล้วปล่อยให้สภาฯชุดใหม่มาเป็นผู้ดำเนินการต่อ เพราะถือเป็นกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน อย่างไรก็ดี ตนสนับสนุนให้สภาฯเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.องค์กรอิสระคุ้มครองผู้บริโภค ที่มีประโยชน์ต่อประชาชนทั่วประเทศมากกว่า

กำลังโหลดความคิดเห็น