อดีต ส.ว.สรรหา คาใจผลคัดสรรหลุดโผ ร้อง กกต.คัดค้านกระบวนการสรรหา ตะแบงเข้าข้างตัวเอง เชื่อ คณะกรรมการสรรหา ขาดคุณสมบัติไม่ชอบด้วย รธน.
วันนี้ (18 เม.ย.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา และผู้สมัคร ส.ว.สรรหา เข้ายื่นร้องคัดค้านผลการสรรหา ส.ว โดยกล่าวว่า ตนได้เข้ายื่นร้องคัดค้านผลการสรรหา ส.ว.ต่อ กกต.เพื่อให้ กกต.ดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงใน 3 ประเด็น คือ 1.คณะกรรมการสรรหา มีเพียง 6 คน ทั้งที่ต้องมี 7 คน โดยไม่มีประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินรวมอยู่ด้วย ทั้งที่ศาลปกครองได้มีความเห็นในคำพิพากษา ว่า รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินสามารถทำหน้าที่ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้นั้น แต่คณะกรรมการสรรหาไม่ได้ปฏิบัติตามแนวคำพิพากษา จึงขอให้พิจารณาว่าคณะกรรมการสรรหาทำหน้าที่กันเพียง 6 คนนั้น จะชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 113 หรือไม่
2.ขอคัดค้านอดีต ส.ว.ที่ยังไม่พ้นการดำรงตำแหน่งครบ 5 ปี แต่กลับได้รับการสรรหาเป็น ส.ว.สรรหา โดยมี 2 ส่วน คือ ส.ว.ปี 2543 ที่เลือกตั้งเมื่อวันที่ 4 มี.ค.43 แต่การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นการเลือกตั้งก่อน ส.ว.แต่งตั้งจะครบวาระในวันที่ 21 มี.ค.43 โดยบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 40 มาตรา 315 กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20/2543 ชัดเจนให้นับสมาชิกภาพของ ส.ว.ชุดนี้ในวันที่ 21 มี.ค.2543 กรณีของ นายสัก กอแสงเรือง เริ่มมีสมาชิกภาพในวันที่ 21 มี.ค.2543 เช่นกัน และมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี ถ้านับเวลา 6 ปี ก็จะครบกำหนดวันที่ 21 มี.ค.54 แต่ นายสัก ได้มาสมัคร ส.ว.สรรหา 6 มี.ค.2554 ดังนั้น นายสัก จึงมาสมัครก่อนพ้นวาระ โดยขาดวันไปประมาณ 11 วัน จึงน่าจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 115(9) และบทบัญญัตินี้ได้ใช้บังคับถึงสมาชิกวุฒิสภาด้วย ประกอบมาตรา 296 วรรคสามหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ผู้ที่มีลักษณะต้องห้าม คือ ต้องไม่เคยเป็นรัฐมนตรี หรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นที่พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วยังไม่เกิน 5 ปี
3.กรณีที่ ส.ว.สรรหาชุดแรก ที่ได้รับการสรรหาใหม่นั้น สมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการสรรหาเมื่อวันที่ 12 เม.ย.2554 ซึ่งเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาจากการสรรหาครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2550 บทบัญญัติมาตรา 297 กำหนดให้มีวาระการดำรงตำแหน่งเพียง 3 ปี แต่มีข้อยกเว้นให้สามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินหนึ่งวาระได้นั้น จะได้รับยกเว้นตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 115(9) หรือไม่ เพราะสมาชิก ส.ว.สรรหา 31 คน ที่ได้รับการสรรหาเข้ามาได้ลาออก ซึ่งการลาออกเท่ากับการพ้นสมาชิกภาพ เมื่อพ้นสมาชิกภาพก็ต้องมีการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.เมื่อพ้นตำแหน่ง โดย ส.ว.ทั้ง 31 คน ได้ไปยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อป.ป.ช.ในวันที่ 18 ก.พ.54 ดังนั้น การมาสมัครใหม่และได้รับการสรรหาและได้ปฏิญาณตนเพื่อเข้าปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 18 เม.ย.ซึ่งวันนี้จะต้องเป็นวันที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วย เป็นการยื่นเพื่อเข้ารับตำแหน่ง ซึ่งการยื่นครั้งนี้กับการยื่นครั้งแรกเมื่อ 18 ก.พ.54 ถือเป็นวาระที่ 1 เป็นวาระแรก 3 ปี วาระที่ยื่นครั้งนี้จึงถือเป็นวาระที่ 2 ที่มีวาระ 6 ปี ดังนั้น การยื่นบัญชีทรัพย์สินบ่งบอกว่า เป็นการยื่นที่ไม่ดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ ถ้าใช่ตามนั้น บทเฉพาะกาลมาตรา 297 มิให้นำบทบัญญัติ เรื่อง การดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 1 วาระติดต่อกันก็จะไม่ได้รับสิทธิ์ ดังนั้น ส.ว.สรรหา ทั้ง 31 คนก็ควรจะเข้าหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 115(9)
ดังนั้น ส.ว.สรรหาชุดที่แล้ว และเข้ามาใหม่ก็ห่างกันแค่ 2 เดือน รวมทั้งกรณีสมาชิกวุฒิสภาจากการสรรหาที่พ้นสมาชิกภาพด้วยการลาออกเมื่อดำรงตำแหน่งครบ 3 ปี ซึ่งสิ้นสุดสมาชิกภาพตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 119(3) ไม่ใช่อยู่ครบวาระ 3 ปี อันเป็นการสิ้นสุดสมาชิกภาพตามมาตรา 119(1) โดยไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จะขาดคุณสมบัติตามมาตรา 116 วรรคสอง ประกอบมาตรา 296 วรรคสาม ด้วยหรือไม่ ดังนั้น จึงให้ กกต.วินิจฉัยการทำหน้าที่ของกรรมการสรรหาถูกต้องชอบธรรมหรือไม่
“เป็นประเด็นที่คิดไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าจะดำเนินการร้องคัดค้าน ไม่ใช่ว่า ไม่ได้รับการสรรหาจึงมาร้องคัดค้าน เพราะถ้าได้รับการสรรหาก็คัดค้าน เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้ ผู้ที่มีสิทธิร้องคัดค้านคือ ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหา ส.ว.หรือสมาชิกขององค์กรที่เสนอชื่อ ถ้าผมไม่สมัครก็ไม่มีสิทธิร้องคัดค้านและสังคมก็ไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญที่เขียนไว้มาตรา 296 และ 297 เรื่องการดำรงตำแหน่ง มีเจตนารมณ์อะไร”
นายเรืองไกร กล่าวว่า ถ้า ส.ว.สรรหาชุดนี้อยู่ครบวาระ คือ วันที่ปฏิญาณตนแล้วยังไม่ลาออกถือว่า ยังมีสถานภาพ คือ วันที่ 18 เม.ย.ที่ ส.ว.ชุดใหม่ได้มีการปฏิญาณตน และเป็นการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.ตามกฎหมาย แต่หากลาออกก่อนแล้วไปสมัคร ส.ว.สรรหา ก็ถือว่าอยู่ไม่ครบวาระ