โฆษกพันธมิตรฯ ซัดช่อง 11 ผุดรายการค้านโหวตโน ใช้สื่อรัฐยัดเหยียดข้อมูล ชูธาตุแท้นักการเมืองไม่เป็นที่พึ่ง ลั่นเดินเกมรุกต่อหลังสงกรานต์ จี้ “มาร์ค” รับผิดชอบคำขู่เจบีซี ไม่ผ่านสภาประชุมไม่ได้ ฉะรัฐบาลพล่ามเรื่องเขมรไม่เคยปรึกษาทหาร ชี้ สุดอ่อนทำชาติเสียเปรียบ “ประพันธ์” แนะเริ่มปฏิบัติการไล่เขมรพ้นดินแดนสยาม คาด 2 คนไทยถูกปล่อยตัวช่วงเลือกตั้ง
วันนี้ (7 เม.ย.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงกรณีที่สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ นำเสนอรายการเพื่อคัดค้านการรณรงค์ให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งลงคะแนนในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน หรือ โหวตโน ว่า ถือเป็นการยัดเยียดข้อมูลด้านเดียว และยังสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะพยายามใช้สื่อของตนเองเกลี้ยกล่อมประชาชนให้เชื่อตาม ทำให้เห็นธาตุแท้ว่า นักการเมืองในระบบไม่สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ ฉะนั้น ขอยืนยันว่า พันธมิตรฯจะรณรงค์โหวตโนต่อไป รวมถึงหลังจากเทศกาลสงกรานต์จะมีองค์กรภาคเอกชนต่างๆ ออกมาร่วมรณรงค์โหวตโนเพิ่มมากขึ้น
นายปานเทพ ยังได้กล่าวถึงกรณีที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เคยระบุว่า หากประชุมร่วมรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบผลบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) ทั้ง 3 ฉบับ จะส่งผลให้ไม่สามารถเดินหน้าในการเจรจาในกรอบทวิภาคีระหว่างไทยกับกัมพูชาได้ และอาจจะขยายผลไปเป็นการเจรจาพหุภาคีได้ ว่า ในวันที่ 7-8 เม.ย.นี้ จะมีการประชุมเจบีซีที่ประเทศอินโดนีเซีย แม้จะไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตรงนี้จะพบว่าคำข่มขู่ของนายกฯไม่ได้เป็นความจริงอย่างที่กล่าว ฉะนั้น ส่วนนี้ นายอภิสิทธิ์ จะต้องรับผิดชอบต่อคำพูดของตนเอง อีกทั้งการที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ออกมาระบุว่า ไม่เห็นด้วยที่ไทยและกัมพูชาจะประชุมเจบีซี ที่อินโดนีเซีย รวมถึงจะปล่อยให้มีการนำทหารอินโดนีเซียเข้ามาเพื่อสังเกตการณ์ในพื้นที่ประเทศไทยนั้น ทำให้พบว่าในขณะนี้ทางกองทัพไม่เห็นด้วยกับฝ่ายรัฐบาล และรู้สึกอึดอัดเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคำให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวของนายอภิสิทธิ์ ที่ไม่มองว่าเป็นการถูกแทรกแซงจากประเทศที่ 3 และเห็นดีด้วยที่จะมีผู้เข้ามาสังเกตการณ์เพื่อให้รู้ว่าฝ่ายไทยไม่ได้เป็นฝ่ายยิงก่อน ประเด็นนี้ตนเห็นว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายใดเริ่มยิงก่อนหลัง แต่เป็นปัญหา เพราะกัมพูชารุกรานเข้ามาประเทศอยู่ในขณะนี้ จึงจำเป็นที่ฝ่ายไทยจะต้องใช้กำลังทหาร หรือใช้มาตรการอื่นในการผลักดันทหารกัมพูชาออกไปจากประเทศไทย และถ้านำไปรวมกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่เวทีความมั่นคงสหประชาชาติ ซึ่งฝ่ายไทยไม่ยืนยันในเส้นเขตแดนของตนเอง เป็นเหตุให้ไม่มีสิทธิ์กล่าวอ้างว่าทหารกัมพูชายึดครองแผ่นดินไทยอยู่
“ถือเป็นคำพูดที่อ่อนหัดมากในทางการเมืองระหว่างประเทศ และเป็นคำพูดที่ทำให้ไทยถลำลึกตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา และยิ่งฝ่ายทหารไม่เห็นด้วยขึ้นมาอีก ส่งผลให้อาเซียนเข้าใจผิดว่า ไทยเป็นพวกอันธพาล ไม่ทำตามที่รับปาก ทั้งที่การรับปากเหล่านั้นทั้งรัฐบาล และกระทรวงการต่างประเทศ ไม่เคยปรึกษาหารือกับทหารเลยแม้แต่น้อย” นายปานเทพ กล่าว
ด้าน นายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย กล่าวเสริมว่า ขอชื่นชมจุดยืนของทางกองทัพเป็นอย่างมาก ที่ปฏิเสธไม่ให้ผู้แทนอินโดนีเซียเข้ามาในไทย อย่างไรก็ตาม ทหารจะต้องทำหน้าที่ให้ถึงที่สุดกว่านี้ เพราะถ้าไม่ยอมให้ผู้แทนจากอินโดนีเซีย 15 คนเข้ามาจริง แต่ทำไมจึงยอมให้ทหารกัมพูชายึดครองแผ่นดินไทยอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากการแถลงข่าวลักษณะนี้ของทหาร เหมือนเป็นการเอาดีใส่ตัว และเอาชั่วใส่รัฐบาล ฉะนั้น ทหารจะต้องแสดงปฏิบัติการทางทหารให้กัมพูชา เห็นว่า ดินแดนอธิปไตยของไทยทุกตารางนิ้วจะไม่ยอมให้ใครมารุกรานได้ง่ายๆ
ในส่วนกรณีที่ประเทศกัมพูชาปฏิเสธการขออภัยโทษของ นายวีระ สมความคิด และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูลย์ สองคนไทยที่ถูกศาลกัมพูชาตัดสินจำคุกนั้น นายประพันธ์ กล่าวว่า การที่ออกมาระบุว่า การที่จะขอพระราชทานอภัยโทษจะต้องติดคุก 2 ใน 3 ของโทษที่ได้รับเสียก่อน ตรงนี้ต่างจากกรณี ของนายศิวรักษ์ ชุติพงษ์ วิศวกรชาวไทย ที่ถูกทางการกัมพูชาจับกุมตัวในข้อจารกรรมข้อมูลการบินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องหาก่อการร้ายอย่างสิ้นเชิง โดยครั้งนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ดำเนินการจนนายศิวรักษ์ ได้รับการขออภัยโทษอย่างรวดเร็ว ฉะนั้น กรณีนี้รัฐบาลเหมือนถูกตบหน้าโดยรัฐบาลของกัมพูชาอย่างปฏิเสธไม่ได้ และคาดว่า ทั้งคู่จะได้รับการปล่อยตัวช่วงใกล้เลือกตั้ง เพื่อช่วยเหลือพรรคเพื่อไทย