xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองพลิกขั้ว-ทหาร “เซฟ” ตัวเอง!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์
ผ่าประเด็นร้อน

ต้องยอมรับว่าการออกมายืนเรียงแถวแบบหน้ากระดานเรียงหนึ่งของบรรดาผู้บัญชาการเหล่าทัพ เมื่อวันอังคารที่ 5 เมษายน นำโดย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หรือผู้บัญชาการกองทัพไทย ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และแถมด้วยตัวแทนจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประกาศชัดถ้อยชัดคำว่า “ทหารไม่ยุ่งการเมือง” และเรียกร้องอย่าไปเชื่อ “ข่าวลือปฏิวัติ” เรียกเสียงฮือฮาได้พอสมควร

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เห็นภาพและเข้าใจภูมิหลังของผู้นำเหล่าทัพแต่ละคนก็ต้องไล่เรียงชื่อกันไปทีละคน เริ่มจาก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารอากาศ พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์

หากพิจารณาจากคำพูดของผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนแถลงแทนผู้บัญชาการเหล่าทัพทุกคน นอกจากยืนยันถึงจุดยืนไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง และไม่ปฏิวัติแล้ว แต่ก่อนหน้านั้น พล.อ.ทรงกิตติได้เกริ่นนำให้เห็นถึงการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการชี้ให้เห็นว่าทหารทำหน้าที่ภายใต้กฎหมายกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ และมีผู้บัญชาการทหารบก เป็นรองผู้อำนวยการ กอ.รมน. และบอกว่าทหารเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ทำหน้าที่แก้ปัญหาเท่านั้น ที่สำคัญเป็นการทำตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

ดังนั้น ถ้าให้สรุปความหมายที่พูดก็คือ ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ที่ยังลุกเป็นไฟอยู่ในเวลานี้ ส่วนสำคัญก็มาจากนโยบายอันล้มเหลวของนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั่นเอง

อย่างน้อยก็เป็นการอธิบายให้เห็นว่า หากใครจะวิจารณ์หรือโจมตีความผิดพลาดความล้มเหลวในจังหวัดชายแดนใต้ก็อย่ามาโทษแต่ฝ่ายทหาร ต้องโทษฝ่ายการเมือง นั่นคือ นายกรัฐมนตรี และถ้าลงลึกลงไปอีกก็คือความล้มเหลวของพรรคประชาธิปัตย์นั่นเอง เพราะทหารทำตามนโยบาย

ในส่วนที่สองที่ต้องแยกออกมาพิจารณากันต่อก็คือ คำถามที่ว่า ทำไมบรรดาบิ๊กทหารถึงได้เรียงแถวออกมาแถลงท่าทีกันอย่างพร้อมเพรียงแบบนี้ คำตอบที่ได้ในเบื้องต้นก่อนก็คือ น่าจะเป็นการตอบโต้ระดับ “ขาใหญ่” ในพรรคประชาธิปัตย์ เรียงตัวลงมาตั้งแต่ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคคือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และเลขาธิการพรรค สุเทพ เทือกสุบรรณ

เพราะหากพิจารณากันแบบผิวเผินก็ต้องบอกว่าคนทั้งคู่ทำหน้าที่ปกป้องประชาธิปไตย เดินหน้าสู่การเลือกตั้ง โดยนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ประกาศยุบสภาล่วงหน้านั่นคือในสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม รวมไปถึงคำพูดของรองนายกฯ สุเทพ ที่บอกว่าทหารส่งเสริมประชาธิปไตย เข้าใจบทบาทของตัวเองดี แก้ตัวแทนกองทัพทุกเรื่อง แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้งมันก็อาจเป็น “ตรงข้าม” เพราะการประกาศยุบสภาล่วงหน้านั้น มองอีกด้านหนึ่งมันก็เหมือนกับการ “บล็อก” ความเคลื่อนไหวอะไรบางอย่าง อีกทั้งหากสังเกตให้ดีรัฐบาลก็ได้ไฟเขียวให้มีการ “ปล่อยตัว” บรรดา “หัวโจก” เสื้อแดงออกมา ซึ่งหลายคนมองว่านี่คือ “เกมยืมมือ” ต้านรัฐประหาร

เพราะถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพในระยะหลังเริ่มเดินกันคนละทาง ที่เห็นชัดที่สุดก็คือปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา กรณีการประชุมคณะกรรมาธิการชายแดนไทย-กัมพูชา (เจบีซี) และคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (จีบีซี) ที่ทางกองทัพประกาศชัดเจนว่าจะไม่ยอมไปร่วมประชุมที่อินโดนีเซีย หากจะประชุมต้องเกิดขึ้นที่ไทยหรือกัมพูชาเท่านั้น รวมทั้งไม่ให้อินโดนีเซียเข้ามาสังเกตการณ์ในพื้นที่ชายแดนอย่างเด็ดขาด

นั่นคือท่าทีที่ชัดเจนและแข็งกร้าวของผู้นำเหล่าทัพ เริ่มจากผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และตามมาด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จนทำให้รัฐบาลโดย นายกรัฐมนตรีต้องเสียงอ่อย และกลายเป็นว่าในการประชุมเจบีซีที่อินโดฯ ในวันที่ 7-8 เมษายนไทยส่งแค่ระดับเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชวนนท์ อินทร์โกมลย์สุต และประธานเจบีซี อัษฎา ชัยนาม ไปร่วมเท่านั้น แทนที่จะเป็นระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ

ขณะที่การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาบันทึกเจบีซี 3 ฉบับก็ต้องล่มไม่เป็นท่า และค้างเติ่งอย่างไม่มีกำหนด

ดังนั้น หากพิจารณากันอย่างใกล้ชิดการออกมาแสดงท่าทีว่ากองทัพไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง และไม่มีรายการปฏิวัตินั้น มองอีกมุมหนึ่งมันก็เหมือนกับการชิ่งออกมาให้พ้นจากรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่มี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค ขณะเดียวกันการประกาศให้รับรู้กลายๆว่า เมื่อทหารไม่ยุ่งการเมืองแล้ว “การเมืองก็อย่ามายุ่งกับทหารก็แล้วกัน” การส่งสัญญาณแบบนี้มันก็เหมือนกับการ “เซฟ” ตัวเอง เพราะในสถานการณ์ที่ยังไม่ชัวร์แถมมีแนวโน้มว่า “ขั้วทักษิณ” อาจเข้าวินมันก็ต้องรีบประกาศตัวอยู่ในกรมกองเสียแต่เนิ่นๆ มันก็น่าเหมาะสมที่สุด

เพราะเชื่อว่าในสถานการณ์เริ่มต้นแม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้จัดตั้งรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ได้กลับมาชักใยอำนาจอีกรอบ แต่จากประสบการณ์เจ็บปวดต้องระเหเร่ร่อนอยู่ในต่างแดนไม่ต่างจาก “สัมภเวสี” มันก็คงเป็นบทเรียนสอนใจที่ดี คงไม่อยากจะเข้าไปล้วงลูกจน “ลึก” เกินไปนัก และยิ่งในสถานการณ์ความเป็นจริงถึงแม้อาจจะชนะ แต่ก็คง “ไม่ขาด” เหมือนก่อน ก็คงทำอะไรไม่ได้มากเหมือนกัน

ขณะเดียวกันทางฝ่ายกองทัพ ที่ปัจจุบันหัวขบวนนำโดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่เชื่อมได้ทุกขั้ว รวมไปถึงผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ กับ “เพื่อนแม้ว” ก็น่าจะเข้าใจกันดี ในฐานะเพื่อน ตท.10 ด้วยกัน

แต่ถ้าพิจารณาในภาพรวมทั้งหมดทำให้พอมองเห็นรำไรแล้วว่าการเมืองหลังเลือกตั้งอาจมีโอกาส “พลิกขั้ว” กองทัพจึงต้อง “เซฟ” ตัวเอง โดยเฉพาะผู้นำเหล่าทัพที่อยู่ตรงข้ามกับ ทักษิณ ทำนอง “ขีดวง” เอาไว้ก่อน ประเภทส่งสัญญาณให้เห็นว่าต่างคนต่างอยู่อย่าล้ำเข้ามาก็แล้วกัน!!
 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
กำลังโหลดความคิดเห็น