xs
xsm
sm
md
lg

ม็อบโปแตชเดือด เอ็นอีโจอุดรฯ ปะทะม็อบหนุนอิตาเลียน-ไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ม็อบเหมืองโปแตชอุดรเดือด!! กลุ่มอนุรักษ์อุดร ล้มเวทีปาหี่ส่วนร่วมอิตาเลียน-ไทย เอ็นจีโอแฉวิ่งล็อบบี้ ก.อุตสาหกรรมจนหลุดโครงการรุนแรง จนเกิดเหตุปะทะทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บส่วนที่หนองคาย เอ็นจีโอ ร้อง “มาร์ค” ค้านเขื่อนไซยะบุรี เลิกซื้อไฟฟ้า แฉเวียดนาม-เขมร ไม่เอาด้วย หวั่นผลกระทบ

วันนี้ (5 เม.ย.) ได้เกิดเหตุปะทะระหว่างกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี และกลุ่มสนับสนุน บริษัท เอเชียแปซิฟิค โปแตช คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด บริษัทในเครือบริษัท อิตาเลี่ยนไทย จำกัด (มหาชน) ที่ได้ร่วมกับริษัท ทีมคอนซัลติ้ง เอนจิเนียริง แอนเมเนจเมนท์ จำกัด จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public Scoping) เพื่อกำหนดขอบเขตงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ณ หอประชุมสำนักงานเทศบาลโนนสูง อ.เมือง จ.อุดรธานี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลาประมาณ 07.00 น.กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีกลุ่มแรกราว 30 คน ซึ่งเป็นกลุ่มประชาชนในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี และมีจุดยืนคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตชอย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปีได้เดินทางมาเพื่อเข้าร่วมเวทีดังกล่าว แต่หน่วยอาสาสมัครรักษาความปลอดภัย (อพปร.) พร้อมด้วยกลุ่มชายฉกรรจ์กว่า 50 คนพร้อมโล่และกระบองตั้งแถวกันไม่ให้เข้าโดยอ้างว่า ไม่ได้ลงทะเบียนเข้าร่วมไว้ล่วงหน้า จึงเกิดยื้อยุดกันขึ้นพื่อที่จะเข้าร่วมเวทีสาธารณะดังกล่าวให้ได้ จนเกิดการปะทะกันรุนแรงมากขึ้นในระหว่างชุลมุนได้มีชายฉกรรจ์คนหนึ่งใช้ไม้ยาวฟาดลงมาท่ามกลางกลุ่มชาวบ้านอย่างแรงโดนศรีษะของนางหนูพิณ อันสา อายุ 42 ปีชาวบ้านจากบ้านสังคม หมู่ 11 ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม เข้าอย่างจังจนเป็นลมหมดสติ ต้องเรียกหน่วยกู้ภัยนำตัวส่งโรงพยาบาลกุมภวาปีอย่างเร่งด่วน

เวลาต่อมาชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ซึ่งสวมเสื้อเขียวเป็นส่วนใหญ่ได้ทยอยเดินทางมายังที่ประชุมอย่างต่อเนื่องจนสามารถรวมตัวกันได้กว่า 700 คน และเริ่มตั้งขบวนเพื่อต่อรองขอเข้าไปในที่ประชุมให้ได้จนเวลาประมาณ 08.30 ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ทยอยกันมาเพิ่มขึ้นจนสามารถผ่านด่านรักษาความปลอดภัยของ อปพร. และชายฉกรรจ์ดังกล่าวเข้าไปในห้องประชุมได้จนเต็มห้องประชุม ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งรุดมาควบคุมสถานการณ์เกรงจะบานปลาย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. กลุ่มอนุรักษ์ฯ เข้าไปนั่งในห้องประชุมจนล้นห้องประชุมออกมา เป็นเหตุบริษัทตัดสินใจเคลื่อนย้ายผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนหนึ่งประมาณ 100 คน เข้าไปในสวนหย่อมในเกาะที่มีสระน้ำล้อมรอบทั้งสามด้านมีถนนทางเข้าด้านเดียว และ ให้เจ้าหน้าที่ อปพร.กว่า 50 คนตั้งแถวกันไม่ให้กลุ่มคัดค้านเข้าไปได้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอีกประมาณ 50 นายตั้งแถวป้องกันไว้ในแนวถนนอีกด้านหนึ่ง กลุ่มอนุรักษ์ฯ พยายามต่อรองเพื่อจะเข้าไปร่วม และเคลื่อนขบวนไปประจันหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างมีการเจรจรต่อรองขอเข้าร่วมของกลุ่มอนุรักษ์ บริเวณสวนหย่อมกลางน้ำ ดร.สิรินิมิตร บุญยืน กรรมการบริหารของบริษัททีมฯ ได้นำเสนอขั้นตอนและระยะเวลาในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพซึ่งจะใช้เวลาดำเนินการศึกษา 10 เดือนซึ่งได้มีการคัดกรองข้อมูลเบื้องต้นแล้ว อย่างไรก็ตามบรรยากาศการประชุมในสวนหย่อมกลางน้ำนั้นชาวบ้านที่เข้าร่วมนั่งพื้นที่ยืนและมีอาการละล้าละลังและทยอยกลับออกไปเรื่อย ๆ จนเวลาประมาณ 11.00 น. กลุ่มชาวบ้านที่อยู่รอบๆ ได้พยายามต่อรองกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อขอเข้าไปแต่ไม่เป็นผลสำเร็จจึงพยายามจะยื้อกันอีกครั้งแต่ไม่เกิดเหตุรุนแรงใด ๆ ส่วนผู้เข้าร่วมประชุมภายในเกาะได้สลายตัวไปในที่สุดโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามกันไม่ให้ทั้งสองกลุ่มปะทะกันจึงไม่มีเหตุการณ์รุนแรงอีกแต่อย่างใด

นางมณี บุญรอด รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีเปิดเผยว่า เวทีครั้งนี้เป็นเรื่องการสร้างภาพของบริษัทตามปกติซึ่งทำเช่นนี้มาตลอดสิบปีที่ผ่านมา และบริษัททีมฯ ซึ่งรับจ้างบริษัทอิตตาเลียนไทยฯ ทำอีเอชไอเอ ครั้งนี้ก็เป็นบริษัทเดียวกันที่เคยทำรายงาน อีไอเอ ฉบับเก่าที่ผ่านความเห็นชอบของ คณะกรรมการชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม ของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ไปแล้วเมื่อปี 2543 ซึ่งต่อมาได้ รมต.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้แต่งตั้งกรรมการทบทวน รายงานดังกล่าวและพบว่ามีข้อบกพร่องจนไม่อาจจะยอมรับได้ 26 ประเด็น และทำให้เดือดร้อนขัดแย้งมาจนปัจจุบัน ใช่ว่าเวลาผ่านไปสิบปีแล้วชาวบ้านจะลืม และถึงต้นเหตุของความรุนแรงทั้งหลายที่เกิดขึ้น วันนี้บริษัทก็เริ่มต้นอีเอชไอเอครั้งใหม่โดยการทำให้ชาวบ้านบาดเจ็บไปคนหนึ่ง และวันนี้ผู้เสียหายได้ไปแจ้งความดำเนินคดีที่ สภอ.เมือง อุดรธานี เพื่อเอาผิดกับผู้ก่อเหตุซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทเหมืองแร่ให้ถึงที่สุด

ด้าน นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา กล่าวว่า การจัดเวทีในวันนี้ของบริษัทไม่มีความชอบธรรม เนื่องจากไม่ได้สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง แม้กระทั่งตอนนี้ การดำเนินการปักหมุดรังวัดของ กพร. ก็ยังมีปัญหาอยู่เพราะเกิดความขัดแย้งในพื้นที่ ในขณะที่หน่วยงานราชการเองทั้งในส่วนของจังหวัดก็เมินเฉย มิหนำซ้ำยังร่วมมือกับบริษัท

“ทั้งๆ ที่ผ่านมาบริษัทเองก็เข้าไปล็อบบี้กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ถอนโครงการเหมืองแร่ออกจากโครงการประเภทรุนแรง จนสำเร็จ แต่ในวันนี้กลับมาสร้างภาพ มาอ้างถึงการมีส่วนร่วมทำตามรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ผ่านมาความขัดแย้งก็เกิดขึ้นกันมาอย่างต่อเนื่องของชาวบ้านในพื้นที่” นายสุวิทย์กล่าว

ด้าน นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ (ประเทศไทย) กล่าวว่า เรื่องเหมืองโปแตชอุดรธานีนั้นมันแดงขึ้นมาจาก การทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ที่ทำโดยบริษัททีม คอนซัลติ้ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด ที่ผ่านความเป็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการไปเมื่อปี 2543 แต่ต่อมาได้มีการแต่ตั้งคณะกรรมการทบทวนอีไอเอดังกล่าวซึ่งพบว่ามีข้อบกพร่องจนต้องประกาศยกเลิกไป และมีการทำเพิ่มเติมหลายครั้งโดยหลายบริษัท รวมทั้งสถาบันวิชาการ ครั้งนี้เป็นความพยายามครั้งที่ 4 ในการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

“บริษัท อิตาเลียน-ไทยฯ อ้างว่าเป็นการดำเนินการตาม รัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 แต่ในความเป็นจริงแล้วขณะนี้โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี ไม่ได้จัดเป็นโครงการรุนแรงที่จะต้องทำการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ การทำอีเอชไอเอครั้งนี้จึงเป็นการยอมรับว่าโครงการนี้มีความรุนแรง และตนเห็นว่า บริษัทไม่ได้ยอมรับเช่นนั้นแต่ต้องการอาศัยหลักการรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างความชอบธรรมในการจัดเวทีสาธารณะซึ่งบริษัทไม่เคยจัดได้ หรือได้รับการยอมรับตลอดเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา” นายเลิศศักดิ์กล่าว

นายเลิศศักดิ์กล่าวต่อว่า เรื่องเหมือนวนอยู่ในวงเวียนความขัดแย้ง การปักหมุดรังวัดเขตเหมืองที่ไม่ได้รับการยอมรับ ไม่กล้าจะปิดประกาศ ดังนั้นจึงยังไม่ขอบเขตเหมือง แต่ก็จ้างบริษัทที่ปรึกษามาทำอีเอชไอเอ ซึ่งทำโดยบริษัทเอกชนที่เคยทำรายงานที่บกพร่อง ไม่ได้รับการยอมรับและมีกรณีขัดแย้งกับชาวบ้านมานาน

ขณะที่ เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน กว่า 400 คน รวมตัวกันหน้าวัดหาปทุม เขตเทศบาลเมือง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย เปิดเวทีเสวนาและแสดงเจตนารมณ์คัดค้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรีกั้นแม่น้ำโขง มีความยาว 810 เมตร ที่บริเวณแก่งหลวง ห่างจากตัวเมืองไซยะบุรี สปป.ลาว ประมาณ 30 กม. โดยจะผลิตไฟฟ้า 1,260 เมกะวัตต์ และ 95% ของไฟฟ้าทั้งหมดผลิตส่งขายมายังประเทศไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายภาคประชาชนได้ร่วมกันลงชื่อประชาชนลุ่มน้ำโขงส่งถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ระงับการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี และให้นายกรัฐมนตรีเป็นตัวแทนของภาคประชาชนไทยบอกกับรัฐบาลทุกประเทศในลุ่มน้ำโขงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าประชาชนลุ่มน้ำโขงคัดค้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรี พร้อมกันนี้ทางเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน ได้ร่วมกันตั้งกองทุนอนุรักษ์น้ำโขง โดยการระดมทุนตั้งกองผ้าป่ามาจาก 49 องค์กรสภาชุมชน รวมเงินกองทุนที่รวบรวมได้ในวันนี้ 28,830 บาท และภายหลังจากนี้จะมีการระดมเงินเข้ากองทุนดังกล่าวตลอดสายน้ำโขง เพื่อไปเป็นทุนในการรณรงค์คัดค้านการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขง

นายนิวัต ร้อยแก้ว เครือข่ายรักษ์เชียงของ กล่าวในการจัดงานครั้งนี้ว่า “ในวันที่ 18 เมษายนนี้ ภาคประชาชนลุ่มน้ำโขงจากทุกจังหวัดจะนำรายชื่อของภาคประชาชนลุ่มน้ำโขงกว่า 2 หมื่นรายชื่อไปยื่นกับนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้รัฐบาลระงับการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี และภาคประชาชนไทยคัดค้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรีที่จะส่งผลกระทบกับคนลุ่มน้ำโขงตลอดทั้งสายน้ำ ตอนนี้ในพื้นที่สร้างเขื่อนไซยะบุรีมีการเร่งสร้างโดยระเบิดหินและนำเครื่องจักรกลหนักเข้าไปทำงาน นี่สะท้อนให้เห็นว่าการเร่งสร้างเขื่อนไซยะบุรีเป็นการกระทำที่ไม่ชอบมาพากล ทั้งที่กระบวนการต่างๆ ร่วมในประเทศลุ่มน้ำโขงยังไม่เห็นชอบด้วย”

นายมนัส ปานขาว ประธานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนท่าบ่อ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย กล่าวว่า “ขอเรียกร้องให้ธนาคารไทยทั้ง 4 แห่งที่ให้กู้เงินสร้างเขื่อนทบทวนการให้กู้เงินครั้งนี้ ขอเรียกร้องให้ ช.การช่าง ที่เป็นบริษัทไทยหยุดการก่อสร้างและยุติโครงการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี และขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการลงนามกับรัฐบาลลาวในการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี และสุดท้ายขอเรียกร้องให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นปากเป็นเสียงทำหน้าที่ปกป้องสิทธิของพลเมืองไทยและพลเมืองลุ่มน้ำโขงที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง”

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการจัดการน้ำ กล่าวว่า “ที่ผ่านมามีการประชุมเจซี ร่วมระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งท่าทีของรัฐบาลเวียดนาม เขมรมีความชัดเจนว่าไม่ต้องการให้มีการสร้างเขื่อนไซยะบุรี แต่ท่าทีรัฐบาลไทยโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะไม่นำความเห็นของภาคประชาชนที่เสนอในที่ประชุมการรับฟังความคิดเห็นที่จัดขึ้นมาแล้ว 3 ครั้ง คือทุกเวทีไม่ต้องการให้มีการสร้างเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนอื่นในลุ่มน้ำโขง เพราะผลกระทบตอนนี้จาก 4 เขื่อนในจีนมีปรากฏให้เห็นชัดเจนแล้ว รวมถึงการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำสาขามีมากพอแล้ว แต่ละประเทศจึงไม่สมควรมายุ่งเกี่ยวกับแม่น้ำสายหลักคือแม่น้ำโขง ที่สำคัญคือการรับซื้อกระแสไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบรีที่รัฐบาลไทยจะไปลงนามในครั้งนี้ไม่มีความจำเป็นเพราะไม่ได้อยู่ในแผนพัฒนาพลังงานของประเทศไทย อีกทั้งการสร้างเขื่อนไซยะบุรีไม่มีการเปิดเผยผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้กับแต่ละประเทศได้รับทราบ”
กำลังโหลดความคิดเห็น