อุดรธานี-เหมืองโปแตชอุดรฯ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นชาวบ้าน ด้านกลุ่มอนุรักษ์อุดรธานีรวมพลนักศึกษาประจันหน้ายืนยันต้านโครงการเหมืองโปแตชถึงที่สุด ขณะที่เอ็นจีโอวิ่งล็อบบี้ก.อุตฯ จนหลุดโครงการรุนแรง
วันนี้(5 เม.ย) ที่ สำนักงานเทศบาลเมืองโนนสูง ต.โนนสูง อ.เมืองอุดรธานี นายชยพล ธิติศักดิ์ รอง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ได้ไปเป็นประธานในการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ การกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการเหมืองแร่ โปแตช จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีนายลิขิต จันทนสาร วิศวกรและที่ปรึกษาบริษัทเอเชีย แปซิฟิค โปรแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด, ดร.สิรินิมิตบุญยืน ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม และดร.เบญจภรณ์ บุณยพุกกณะ ผู้ชำนาญด้านสุขภาพบริษัทเอเชีย แปซิฟิค โปรแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ โดยมีประชาชนและข้าราชการในพื้นที่เข้าร่วมประมาณ 500 คน
การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ เป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่อยู่ในรัศมีของการศึกษา 5 กม. จากที่ตั้งโครงการ ครอบคลุมพื้นที่ ต.โนนสูง ต.หนองไผ่ ต.หนองนาคำ ต.ห้วยสามพาด ต.นาม่วง อ.ประจักษ์ศิลปาคม ตามขั้นตอนการศึกษา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลาประมาณ 7.00 น.กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีกลุ่มแรกราว 30 คน ซึ่งเป็นกลุ่มประชาชนในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี และมีจุดยืนคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตชอย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปีได้เดินทางมาเพื่อเข้าร่วมเวทีดังกล่าว แต่หน่วยอาสาสมัครรักษาความปลอดภัย (อพปร.) พร้อมด้วยกลุ่มชายฉกรรจ์กว่า 50 คนพร้อมโล่และกระบองตั้งแถวกันไม่ให้เข้าโดยอ้างว่าไม่ได้ลงทะเบียนเข้าร่วมไว้ล่วงหน้า จึงเกิดยื้อยุดกันขึ้นเพื่อที่จะเข้าร่วมเวทีสาธารณะดังกล่าวให้ได้ จนเกิดการปะทะกันรุนแรงมากขึ้นในระหว่างชุลมุนได้มีชายฉกรรจ์คนหนึ่งใช้ไม้ยาวฟาดลงมาท่ามกลางกลุ่มชาวบ้านอย่างแรงโดนศรีษะของนางหนูพิณ อันสา อายุ 42 ปีชาวบ้านจากบ้านสังคม หมู่ 11 ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม เข้าอย่างจังจนเป็นลมหมดสติ ต้องเรียกหน่วยกู้ภัยนำตัวส่งโรงพยาบาลกุมภวาปีอย่างเร่งด่วน
เวลาต่อมาชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ซึ่งสวมเสื้อเขียวเป็นส่วนใหญ่ได้ทยอยเดินทางมายังที่ประชุมอย่างต่อเนื่องจนสามารถรวมตัวกันได้กว่า 700 คนและเริ่มตั้งขบวนเพื่อต่อรองขอเข้าไปในที่ประชุมให้ได้จนเวลาประมาณ 08.30 ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ทยอยกันมาเพิ่มขึ้นจนสามารถผ่านด่านรักษาความปลอดภัยของ อปพร. และชายฉกรรจ์ดังกล่าวเข้าไปในห้องประชุมได้จนเต็มห้องประชุม ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งรุดมาควบคุมสถานการณ์เกรงจะบานปลาย
อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. กลุ่มอนุรักษ์ฯ เข้าไปนั่งในห้องประชุมจนล้นห้องประชุมออกมา เป็นเหตุบริษัทตัดสินใจเคลื่อนย้ายผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนหนึ่งประมาณ 100 คน เข้าไปในสวนย่อมในเกาะที่มีสระน้ำล้อมรอบทั้งสามด้านมีถนนทางเข้าด้านเดียว และ ให้เจ้าหน้าที่ อปพร.กว่า 50 คนตั้งแถวกันไม่ให้กลุ่มคัดค้านเข้าไปได้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอีกประมาณ 50 นายตั้งแถวป้องกันไว้ในแนวถนนอีกด้านหนึ่ง กลุ่มอนุรักษ์ฯ พยายามต่อรองเพื่อจะเข้าไปร่วม และเคลื่อนขบวนไปประจันหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างมีการเจรจรต่อรองขอเข้าร่วมของกลุ่มอนุรักษ์ บริเวณสวนหย่อมกลางน้ำ ดร. สิรินิมิตร บุญยืน กรรมการบริหารของบริษัททีมฯ ได้นำเสนอขั้นตอนและระยะเวลาในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพซึ่งจะใช้เวลาดำเนินการศึกษา 10 เดือนซึ่งได้มีการคัดกรองข้อมูลเบื้องต้นแล้ว อย่างไรก็ตามบรรยากาศการประชุมในสวนหย่อมกลางน้ำนั้นชาวบ้านที่เข้าร่วมนั่งพื้นที่ยืนและมีอาการละล้าละลังและทยอยกลับออกไปเรื่อย ๆ จนเวลาประมาณ 11.00 น. กลุ่มชาวบ้านที่อยู่รอบ ๆ ได้พยายามต่อรองกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อขอเข้าไปแต่ไม่เป็นผลสำเร็จจึงพยายามจะยื้อกันอีกครั้งแต่ไม่เกิดเหตุรุนแรงใด ๆ ส่วนผู้เข้าร่วมประชุมภายในเกาะได้สลายตัวไปในที่สุดโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามกันไม่ให้ทั้งสองกลุ่มปะทะกันจึงไม่มีเหตุการณ์รุนแรงอีกแต่อย่างใด
นางมณี บุญรอด รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีเปิดเผยว่า เวทีครั้งนี้เป็นเรื่องการสร้างภาพของบริษัทตามปกติซึ่งทำเช่นนี้มาตลอดสิบปีที่ผ่านมา และบริษัททีม ฯ ซึ่งรับจ้างบริษัทอิตตาเลียนไทยฯ ทำอีเอชไอเอ ครั้งนี้ก็เป็นบริษัทเดียวกันที่เคยทำรายงาน อีไอเอ ฉบับเก่าที่ผ่านความเห็นชอบของ คณะกรรมการชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม ของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ไปแล้วเมื่อปี 2543 ซึ่งต่อมาได้ รมต. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้แต่งตั้งกรรมการทบทวน รายงานดังกล่าวและพบว่ามีข้อบกพร่องจนไม่อาจจะยอมรับได้ 26 ประเด็น และทำให้เดือดร้อนขัดแย้งมาจนปัจจุบัน ใช่ว่าเวลาผ่านไปสิบปีแล้วชาวบ้านจะลืม และถึงต้นเหตุของความรุนแรงทั้งหลายที่เกิดขึ้น วันนี้บริษัทก็เริ่มต้นอีเอชไอเอครั้งใหม่โดยการทำให้ชาวบ้านบาดเจ็บไปคนหนึ่ง และวันนี้ผู้เสียหายได้ไปแจ้งความดำเนินคดีที่ สภอ.เมือง อุดรธานี เพื่อเอาผิดกับผู้ก่อเหตุซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทเหมืองแร่ให้ถึงที่สุด นางมณีกล่าว
ด้านนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา กล่าวว่า การจัดเวทีในวันนี้ของบริษัทไม่มีความชอบธรรม เนื่องจากไม่ได้สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง แม้กระทั่งตอนนี้ การดำเนินการปักหมุดรังวัด ของ กพร. ก็ยังมีปัญหาอยู่เพราะเกิดความขัดแย้งในพื้นที่ .ในขณะที่หน่วยงานราชการเองทั้งในส่วนของจังหวัดก็เมินเฉย มิหนำซ้ำยังร่วมมือกับบริษัท
“ทั้งๆที่ผ่านมา บริษัทเองก็เข้าไปล๊อบบี้กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ถอนโครงการเหมืองแร่ออกจากโครงการประเภทรุนแรง จนสำเร็จ แต่ในวันนี้กลับมาสร้างภาพ มาอ้างถึงการมีส่วนร่วมทำตามรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ผ่านมาความขัดแย้งก็เกิดขึ้นกันมาอย่างต่อเนื่องของชาวบ้านในพื้นที่ “ นายสุวิทย์ กล่าว
ด้านนาย เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ (ประเทศไทย) กล่าวว่า เรื่องเหมืองโปแตชอุดรธานีนั้นมันแดงขึ้นมาจากการทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ที่ทำโดยบริษัททีม คอนซัลติ้ง แอนด็ แมเนจเมนท์ จำกัด ที่ผ่านความเป็นชอบ ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการไปเมื่อปี 2543 แต่ต่อมาได้มีการแต่ตั้งคณะกรรมการทบทวนอีไอเอดังกล่าวซึ่งพบว่ามีข้อบกพร่องจนต้องประกาศยกเลิกไป และมีการทำเพิ่มเติมหลายครั้งโดยหลายบริษัท รวมทั้งสถาบันวิชาการ ครั้งนี้เป็นความพยายามครั้งที่ 4 ในการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
“บริษัทอิตตาเลียนไทยฯ อ้างว่าเป็นการดำเนินการตาม รัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 แต่ในความเป็นจริงแล้วขณะนี้โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี ไม่ได้จัดเป็นโครงการรุนแรงที่จะต้องทำการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ การทำอีเอชไอเอครั้งนี้จึงเป็นการยอมรับว่าโครงการนี้มีความรุนแรง และตนเห็นว่า บริษัทไม่ได้ยอมรับเช่นนั้นแต่ต้องการอาศัยหลักการรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างความชอบธรรมในการจัดเวทีสาธารณะซึ่งบริษัทไม่เคยจัดได้ หรือได้รับการยอมรับตลอดเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา”นายเลิศศักดิ์ กล่าว
นายเลิศศักดิ์ กล่าวต่อว่า เรื่องเหมือนวนอยู่ในวงเวียนความขัดแย้ง การปักหมุดรังวัดเขตเหมืองที่ไม่ได้รับการยอมรับ ไม่กล้าจะปิดประกาศ ดังนั้นจึงยังไม่ขอบเขตเหมือง แต่ก็จ้างบริษัทที่ปรึกษามาทำอีเอชไอเอ ซึ่งทำโดยบริษัทเอกชนที่เคยทำรายงานที่บกพร่อง ไม่ได้รับการยอมรับและมีกรณีขัดแย้งกับชาวบ้านมานาน