xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.เสนอยกเครื่อง สตช.ใช้อำนาจเลยเถิด-ฝ่าฝืนจริยธรรม จนสร้างความเกลียดชังให้สังคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศุภชัย ใจสมุทร
ที่ประชุม ครม.เห็นชอบงานวิจัย ป.ป.ช. แก้ปัญหาตำรวจใช้อำนาจเกินขอบเขต พบปัญหาร้อยแปดพันเก้า ทั้งเลือกปฏิบัติ บิดเบือนพยานหลักฐาน ซ้อมผู้ต้องขัง เรียกรับผลประโยชน์ ทุจริตคอร์รัปชันฯ เสนอ 9 ข้อยกเครื่องสถาบันตร.

วันนี้ (4 เม.ย.) นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงผลการประชุมครม.ว่า ครม.เห็นชอบตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอผลการวิจัยเรื่อง การศึกษามาตรการป้องกันเพื่อปรับปรุงกระบวนการใช้อำนาจเกินขอบเขตกรณีเจ้าพนักงานตำรวจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ โดยการศึกษารูปแบบการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าพนักงานตำรวจบางส่วน ประกอบด้วนข้าราชการตำรวจชั้นประทวน และสัญญาบัตรจากทุกหน่วยงาน ดำเนินการศึกษารวม 3 ด้าน คือ ด้านกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับ ด้านการพัฒนาบุคลากร ด้านวัฒนธรรมกับการจัดการโครงสร้างขององค์กร

นายศุภชัยกล่าวว่า จากผลการศึกษาพบว่า ลักษณะการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบมีดังนี้ คือ การทุจริตคอรัปชั่นของตำรวจมีเจตนาแสวงหาผลประโยชน์ที่เป็นทรัพย์สินเงินทองโดยมิชอบ ซึ่งจำแนกรูปแบบพฤติกรรมการทุจริตได้ ดังนี้ 1.การเป็นเจ้าพนักงานอาศัยอำนาจตามกฎหมายในการเลือกปฏิบัติในชั้นจับกุม เรียกสินบนจากผู้กระทำผิดในระดับปัจเจกบุคคล (เช่นการรับสินบนจากคนต่างด้าว บ่อนการพนัน ตู้ม้า หวยใต้ดินเป็นต้น) 2.การเป็นเจ้าพนักงานอาศัยอำนาจตามกฎหมายในการดำเนินคดี ใช้อำนาจหน้าที่เพื่อบิดเบือนพยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริงในคดี (เปลี่ยนข้อหา ลดจำนวนของกลาง เปลี่ยนของกลาง) 3.การทุจริตคอร์รัปชั่นในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐทั่วไป มีลักษณะการทุจริตคอร์รัปชั่นในฐานะเจ้าหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนตน (ยักยอกเงินประกันตัวผู้ต้องหา กิจการยกรถ) 4.การทุจริตคอร์รัปชันระหว่างข้าราชการตำรวจด้วยกัน (ซื้อขายตำแหน่ง หักเงินรางวัลข้าราชการตำรวจจากผู้บังคับบัญชา)

นายศุภชัยกล่าวด้วยว่า ด้านการประพฤติมิชอบของตำรวจ กระทำโดยมิชอบ แต่ไม่มีเจตนาเรียกรับผลประโยชน์จากการกระทำนั้น ได้แก่ 1.ใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขต (ซ้อม ทรมานเพื่อให้ผู้ต้องหารับสารภาพ หรือให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการสืบสวน วิสามัญฆาตกรรม)2. ละเว้นกรปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ (ไม่รับคดีของพนักงานสอบสวน) 3.ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ (ไม่แจ้งสิทธิให้ผู้ต้องหาทราบตามกฎหมาย ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนตรวจค้น จับกุม) 4.ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

นายศุภชัยกล่าวว่า ด้านพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยมีการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากผู้กระทำผิดยาเสพติด เรียกสินบนจากผู้กระทำผิดเมื่อมีช่องโอกาส หรือการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบในการจับกุมและรีดเอาทรัพย์จากผู้กระทำผิด หรือแม้แต่กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดด้วยตนเอง และแม้แต่การลดของกลางเปลี่ยนข้อหา หรือการช่วยเหลือในการดำเนินคดี ส่วนการใช้อำนาจเกินขอบเขตในคดียาเสพติด เช่นการบีบบังคับผู้ต้องหา ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบเพื่อหวังผลในการจับกุม รวมไปถึงพฤติกรรมที่ยังคลุมเครือว่าเป็นการทุจริตหรือไม่ เช่น การรับสินน้ำใจจากร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ เช่น เครื่องดื่มฟรี หรือรับเงินจากห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจร หรือการเก็บเงินค่าตู้แดง(สายตรวจ) หรือการฝ่าฝืนจริยธรรม จรรยาบรรณ

นายศุภชัยกล่าวว่า ข้อเสนอแนะเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือ 1.เร่งแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ2.สนับสนุนแนวคิดกำหนดให้ข้าราชการตำรวจมีทั้งยศและไม่มียศ 3.ในส่วนของพนักงานสอบสวนควรให้มีการศึกษาข้อดี ข้อเสียของการมียศ และไม่มียศ รวมถึงการพิจารณาโครงสร้าง ปรับฐานเงินเดือนค่าตอบแทนให้เหมาะสมกับหน่วยงาน 4.สนับสนุนแนวคิดจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณารับเรื่องราวร้องทุกข์เกี่ยวกับตำรวจ 5.ปรับอัตรากำลังข้าราชกาารตำรวจโดยเฉพาะตำรวจชั้นประทวนให้เพียงพอ 6.กำหนดระยะเวลาการอยู่ในสถานีตำรวจ หรือการหมุนเวียนสับเปลี่ยนกำลัง 7.ปรับอัตราเงินเดือนค่าตอบแทนที่เหมาะสม 8.สนับสนุนโครงการตำรวจบ้าน 9.สนับสนุนแนวคิดกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ให้ชุมชนมีบทบาทไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
กำลังโหลดความคิดเห็น