ผบ.ทร.รับลุ้น ครม.อนุมัติซื้อเรือดำน้ำมือสองเยอรมัน 6 ลำ ปลายเดือน เม.ย.นี้ ระบุอยากทำให้เร็วที่สุดเหตุหลายประเทศต่อคิวซื้อ โอดโอกาสสุดท้ายในรอบ 60 ปี ยันคุ้มค่า รวมแพกเกจทั้งเรือ-อาวุธ-ก่อตั้งหน่วย เผยทำเพื่อชาติให้ นร.นายเรือได้ปฏิบัติ ไม่ใช่เก่งแต่ทฤษฎีเป็นทหารเรือโง่-โบราณ
วันที่ 30 มิ.ย. 2554 พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวระหว่างแถลงข่าวกองทัพเรือช่วยเหลือผู้ประสบภัย ถึงโครงการจัดหาเรือดำน้ำมือสอง 6 ลำจากเยอรมนี วงเงิน 7.7 พันล้านบาทว่า กองทัพเรือมีความต้องการในการจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการมา 60 ปีแล้ว หลังจากที่เราปลดประจำการเรือหลวงมัจฉานุ ซึ่งเป็นเรือดำน้ำลำที่ 2 ในกลุ่มประเทศแถบอาเซียน และเป็นเรือดำน้ำลำแรกของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ กองทัพเรือเคยเสนอโครงการในการจัดซื้อมา 2 ครั้ง โดยครั้งแรกคือการจัดหาจากประเทศญี่ปุ่น แต่เมื่อประเทศญี่ปุ่นแพ้สงครามทำให้ชิ้นส่วนอะไหล่ของเรือดำน้ำหมดไป อีกครั้งคือ การจัดซื้อจากประเทศอิสราเอลแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้วิทยาการของเรือดำน้ำของกองทัพเรือหยุดไปกว่า 50 ปี
“นักเรียนนายเรือเมื่อกลับมาจากการศึกษาต่างประเทศ และนักเรียนจ่าทหารเรือ ไม่มีเรือดำน้ำใช้ จุดประสงค์ของกองทัพเรือมีความเป็นห่วง ทั้งที่เราไม่ต้องการไปแข่งกับใคร แต่วิสัยทัศน์ของกองทัพเรือ ต้องเป็นกองทัพเรือชั้นนำในภูมิภาคนี้ ด้วยการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเพื่อนบ้านเราเรียนรู้มาเป็นสิบปีแล้ว ซึ่งการปฏิบัติการของกองทัพเรือ มีอยู่ 3 มิติ ผิวน้ำ อากาศ และบนบก โดยเฉพาะการปฏิบัติการสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก แต่กองทัพเรือยังขาดวิทยาการอีกหนึ่งสายคือใต้น้ำ เมื่อขาดสิ่งนี้ไปทหารเราก็ไม่ได้เรียนรู้ สมัยก่อนนักเรียนโรงเรียนนายเรือก็ได้แต่ความรู้พื้นฐานว่าเป็นอย่างไร บางครั้งต้องวาดภาพเอาเอง การที่เราศึกษาทฤษฎีแต่ไม่ได้ปฏิบัติงานจริง ก็เหมือนการเรียนรู้ด้านวิทยาการแต่ไม่ได้ปฏิบัติ ผมคิดว่าการที่จะเป็นกองทัพเรือชั้นนำในภูมิภาคนี้ ตามวิสัยทัศน์กองทัพเรือ ทั้งนักเรียนนายเรือและนักเรียนจ่าของเราจะต้องมีความรู้ในด้านนี้ ไม่อย่างนั้นก็โง่ตาย ย่ำอยู่กับที่ เป็นทหารเรือโบราณ ถ้าเปรียบเทียบกับการเป็นทหารม้าแล้วเราขี่ม้าไม่ได้ หรือเพื่อนบ้านขี่ยานเกราะกันแล้ว แต่เรายังขี่ม้าเนื้อ เรายืนยันว่าไม่ได้แข่งกับประเทศใด หรือคุกคามประเทศไหน”
พล.ร.อ.กำธรกล่าวอีกว่า กองทัพเรือเข้าใจดีว่าประเทศเรามีปัญหาเรื่องงบประมาณ ดังนั้น การจัดหาของใหม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ถ้าเป็นเรืออย่างดีราคาไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้าน ถ้าสมมุติว่าเรามีกองเรือดำน้ำจะต้องมีประจำการอย่างน้อย 3 ลำ ราคาประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท ที่ผ่านมา เคยตั้งงบประมาณในการจัดซื้อเรือดำน้ำใหม่ประมาณ 4.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งข้างในไม่มีอะไรเลย ถือว่ามีความเป็นไปได้น้อยมาก เข้าใจว่าประเทศชาติไม่มีงบประมาณขนาดนั้น ตนเกษียณ หรือตายไปแล้ว ก็คงไม่ได้ ทั้งนี้ เข้าใจว่าเรื่องเศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุขก็มีความจำเป็น จะใช้งบประมาณมากมายไม่ได้ ต้องมีการเจียมตัว การซื้อเรือดำน้ำที่ใช้แล้วแต่ดูสภาพแล้วมีความปลอดภัย เราไม่ต้องการเป็นกองทัพเรือที่เป็นที่หนึ่ง แต่ขอเป็นแนวหน้าในประเทศอาเซียน ตนมีความปรารถนาดีต่อประเทศชาติ อย่างน้อยซื้อมาก็ได้เรียนรู้ ทั้งนี้ ก่อนที่จะดำเนินการก็ได้ศึกษาในรายละเอียดและคุณภาพอย่างรอบด้าน แต่เรือเก่า ก็เหมือนงูพิษแก่ กัดใครก็ตายเหมือนกัน
ผู้บัญชาการทหารเรือกล่าวว่า โครงการนี้มีการเสนอขึ้นไป เป็นเอกสารลับ และยังไม่ได้ข้อยุติ อยู่ระหว่างการพิจารณาในระดับของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม ขณะนี้ยังไม่ผ่านการอนุมัติในหลักการ เป็นเพียงการนำเสนอ ถ้าทุกอย่างผ่านขั้นตอนเรียบร้อยแล้ว จะชี้แจงในรายละเอียดอีกครั้ง ส่วนการจัดซื้อจะทันรัฐบาลที่จะยุบสภาต้นเดือน พ.ค.นี้หรือไม่นั้น ตนก็พยายามอยู่จะให้เร็วที่สุด ทำให้ทันปลายเดือน เม.ย.นี้ เพราะถ้าไทยไม่เอาก็มีเจ้าอื่นต่อคิวซื้ออยู่ ทั้งนี้มีคนโจมตีว่าเรือดำน้ำไม่สามารถดำน้ำในบริเวณอ่าวไทยได้เนื่องจากน้ำตื้นนั้น เราก็ต้องดูว่าเรือดำน้ำที่เราซื้อมาใช้ในลักษณะที่เป็นระดับน้ำเหมือนอย่างเราหรือเปล่า ถ้าระดับน้ำใกล้เคียงกันก็ดำได้ ในหลักการด้านยุทธวิธีแล้วก็ต้องไม่อยู่ใกล้เรา ต้องอยู่ในที่ลึก ในแนวหน้า ซึ่งได้มีการศึกษาว่าขณะเรือดำน้ำปฏิบัติการอยู่แม้แต่เครื่องบินก็มองไม่เห็น รวมถึง การปฏิบัติการตอนกลางคืน ก็ไม่สามารถตรวจจับได้ ซึ่งประเทศไทยไม่ได้มีแค่อ่าวไทย มีหลายเส้นทางในการเดินเรือสินค้า โดยเฉพาะฝั่งอันดามัน ซึ่งต้องดูทั้งสองฝั่ง อย่างไรก็ตาม หลายคนโจมตีว่าอย่าให้ซื้อเลย บางคนบอกว่าดำไปแล้วไม่โผล่ ซึ่งทุกอย่างต้องมองให้รอบด้าน
พล.ร.อ.กำธรกล่าวอีกว่า ในการจัดซื้อจะมีการปรับงบประมาณประจำปีที่กองทัพเรือได้รับ และ จะมีการผ่อนชำระในแต่ละช่วง ระยะเวลาก่อหนี้ผูกพัน 5 ปี ซึ่งการผ่อนชำระในแต่ละช่วงจะต้องอยู่ในขีดความสามารถที่กองทัพเรือเจียดจ่ายได้ ไม่ใช่ซื้อเรือดำน้ำแล้วทำให้เกิดผลกระทบ ต่อเรือฟรีเกต และเรือผิวน้ำ รวมถึงเครื่องบิน ในทางที่แย่ลง ตนก็ไม่เอา กองทัพเรือ การจัดซื้อครั้งนี้ทำแบบแพกเกจ มีอาวุธมาให้พร้อมซิมูเลเตอร์ ฝึกกำลังพล รวมถึงการปรับสภาพเรือดำน้ำมาให้ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแบตเตอรี่ชุดใหม่ ซึ่งสามารถใช้ได้ 10 ปี แบตเตอรี่สามารถชาร์จได้ ถ้าแพกเกจดีทุกอย่าง รวมอยู่ในนี้หมด เสียงบประมาณปีละ 200-300 ล้านบาท และสามารถยืดระยะเวลาใช้งานเป็น สิบๆปี ก็ถือว่าคุ้มค่า
“ผบ.ทร.ในอดีตมาถึงปัจจุบันก็มีแนวคิดทางเดียวกัน เพราะการวางยุทธศาสตร์ ทางเรือ มียุทธศาสตร์ หรือ แนวทางปฏิบัติอยู่ เราไม่ได้นั่งเทียน กว่าจะได้ออกมาเป็นรูปร่าง ต้องศึกษาทุกด้าน ทั้งด้านการทหาร การเมือง เศรษฐกิจ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมต่างๆ ความคุ้มค่าในการปฏิบัติ โดยเปรียบเทียบว่า เรือฟรีเกตที่มีกำลังพล 100-200 คน เรือดำน้ำใช้แค่ 30 คน ค่าเบี้ยเลี้ยงก็ถูก เครื่องยนต์ก็ใช้แค่สตาร์ท หลังจากนั้นใช้แบตเตอรี่ ไม่ได้กินน้ำมันหนักหนา โดยสรุปคือการปฏิบัติการของเรือดำน้ำ ถูกกว่าเรือผิวน้ำ”
เมื่อถามว่า หากคณะรัฐมนตรีอนุมัติ และกองทัพเรือนำเข้าประจำการต่อไปอีกสิบปีถือว่ามีความคุ้มค่าใช่หรือไม่ พล.ร.อ.กำธรกล่าวว่า เราคิดที่คุ้มที่สุด เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและกองทัพ เลือกสิ่งที่ดีที่สุด เท่าที่ฐานะเราจะอำนวย คิดว่าคุ้มค่า ตนไม่ได้คิดคนเดียว มีคณะกรรมการ ซึ่งมีผู้มีความรู้ ผู้ทรงคุณวุฒิ ช่วยกันพิจารณา พอซื้อของเก่า ก็อย่ามาถามเรื่องค่าคอมมิชชั่น เพราะไม่มี เราทำเพื่อประเทศชาติ เพื่อส่วนรวม โดยประเทศผู้ขาย ถือว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีกับเรามาก ความจริงราคาสูงกว่านี้ แต่ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีเลยลดลงมา ทุกอย่างเป็นแพ็คเกจ แม้แต่อาคารโครงการ กองบัญชาการกองเรือดำน้ำ ที่พักกำลังพลในเมืองไทย พร้อมทั้งอาวุธด้วย ก็อยู่ในแพ็คเกจวงเงิน 7.7 พันล้านบาท ไม่รู้จะคุ้มอย่างไร ปลายเดือนนี้เป็นโอกาสสุดท้ายที่เราจะมีโอกาสอย่างนี้อีก ถ้าไม่ได้ก็ต้องหาเรือเก่าต่อไป ก็ต้องดูว่ามิตรประเทศไหนจะขายให้เราอีก
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯ ฟังแล้วเห็นความจำเป็นของกองทัพเรือหรือไม่ พล.ร.อ.กำธร กล่าวว่า ไม่เฉพาะแต่ท่านนายกฯ ตนเคยบรรยายสรุปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องฟังมาหลายเดือนแล้ว ตั้งแต่สมัยที่เราประชุม ในกรมทหารราบที่11 รักษาพระองค์ เวลาว่างก็เชิญมาฟังบรรยาย ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานส่งเสริมการลงทุน ทุกฝ่ายเห็นชอบหมด เรือดำน้ำในอาเซียนมีหมดแล้ว ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนามกำลังสั่งซื้อ6 ลำ รวมถึงพม่ากำลังส่งกำลังพลไปเรียนที่อินเดีย ทั้งนี้หากผ่านการอนุมัติแล้วจะใช้ระยะเวลาในการจัดซื้อ 2 ปีก่อนเข้าประจำการ ขณะนี้เป็นเพียงการขออนุมัติในหลักการ ผลออกมาเป็นอย่างไร กองทัพเรือยอมรับ แต่ด้วยความจำเป็นด้านยุทธศาสตร์ และเจตนาดีต่อกองทัพ จึงได้มีแนวคิดในเรื่องนี้
พล.ร.อ.กำธรย้ำว่า เรือชุดนี้ประเทศเยอรมันยังใช้ประจำการอยู่ และยังสามารถใช้ได้ 6-7 ปี เพียงแต่เขาได้ต่อเรือดำน้ำลำใหม่ขึ้นมาแล้ว แต่ไม่อยากเพิ่มกำลังพล จึงนำกำลังพลชุดเก่าไปใช้ที่เรือใหม่ ทำให้เรือดำน้ำชุดเก่านี้ว่างอยู่ แต่มีการบำรุงรักษาต่อเนื่อง มีการรับประกัน ไม่ใช่เรืที่จอดไว้ในอู่เป็นสิบๆ ปี แล้วมาประกาศขายเป็นเศษเหล็ก ซึ่งถือว่าเป็นโชคของกองทัพเรือไทยจึงได้รีบรับเอาไว้ ที่ผ่านมามีการปรับสภาพมิดไลฟ์อัพเกรดใหม่หมด และยังสามารถใช้ได้อีกนาน
“ผมไปเยือนมาเลเซียแล้วเขาบรรยายให้ฟัง ยังสะอื้นอยู่ในอก ทั้งนี้ถ้าเราไม่มีเรือดำน้ำ การปฏิบัติการก็ไม่ครบ 3 มิติ ผมได้ตั้งกองบัญชาการกองเรือดำน้ำ โดยให้ พล.ร.ต.สุริยะ พรสุริยะ เป็น ผบ.กองเรือดำน้ำคนแรก รวบรวมทหารเรือที่จบจากต่างประเทศ มาหาความรู้โดยรวมวิทยาการไว้ที่เดียว แม้ว่าจะไม่ได้เรือดำน้ำก็ไม่เป็นไร แต่อยากให้รวบรวมเอาไว้ เรามีเรือดำน้ำต่อไว้เองเป็นตัวเป้าขนาดเล็ก และเรือดำน้ำขนาดเล็กอีกหนึ่งลำ มีโอกาสดีเมื่อไหร่เราก็สามารถบริหารโครงการได้ และ ตามหลักการการปราบเรือดำน้ำ จะใช้เรือฟรีเกต 3-4 ลำ และเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ ถึงจะเอาอยู่ ดังนั้นเราสู้มีเรือดำน้ำ สู้กับเรือดำน้ำไม่ดีหรือ” พล.ร.อ.กำธรกล่าว