xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” ใกล้อวสานเต็มที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไม่รู้ป่านนี้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะลดละความพยายามหรือยัง กับภารกิจดึงดันให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาให้การเห็นชอบบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา หรือที่เรียกกันติดปากว่า “เจบีซี” หลังจากล้มเหลวไม่เป็นท่ามา 2 ครั้งติด

เพราะไม่ว่าจะใช้กระบวนท่าไหน ที่ประชุมก็ไม่มีทีท่าจะเล่นด้วย จนแสดงออกด้วยการไม่เข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ 25 มี.ค. จนทำให้เกือบจะไม่สามารถเปิดการประชุมได้

ดีที่ได้ “ลูกเก๋า” ของ ชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ที่ดึงเวลารอจนสมาชิกมาครบจำนวน กว่าจะเปิดประชุมได้ก็กินเวลาปาไปถึงช่วงบ่าย

และนายอภิสิทธิ์ก็เปิดเกมทันที โดยหวัง “บลัฟ” ที่ประชุมด้วยการข่มขู่ว่าหากที่ ส.ส.-ส.ว.ไม่ให้ความร่วมมือเห็นชอบบันทึกเจบีซี 3 ฉบับแล้วจะเป็นการทำลายกลไกการเจรจาทวิภาคีกับกัมพูชา และเปิดช่องให้นานาชาติเข้ามาแทรกแซง ซึ่งบรรดาสมาชิกรัฐสภาก็รู้ทันไม่ได้เต้นตามเกมของนายอภิสิทธิ์

จนต้องงัด “ไม้เด็ด” โยนทางเลือกใหม่ให้ที่ประชุมลงมติเพียงแค่ “รับทราบ” บันทึก 3 ฉบับนั้น ซึ่งสร้างความคลุมเครือจนทำให้ ส.ส.-ส.ว.งงกันเป็นไก่ตาแตก ไม่เว้นแม้แต่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เองที่คาดไม่ถึงว่าหัวหน้าพรรคตัวเองจะพลิ้วได้ถึงเพียงนี้

แต่ก็ไม่สามารถลงมติได้ด้วยจำนวนผู้แทนที่อยู่ในห้องประชุมมีอยู่ไม่เกิน 30 คน และเลื่อนมาเพื่อหวังลงมติอีกครั้งในวันที่ 29 มี.ค. โดยระหว่างนั้นก็ไม่ปล่อยเวลาให้สูญเปล่ามีการเดินเกมล๊อบบี้เชิญชวนให้บรรดาพรรคร่วมฯให้การสนับสนุนแนวทางของพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งยังส่งตัวแทนออกทีวีถ่ายทอดสด “แก้ต่าง” ให้กับรัฐบาลอีกต่างหาก

ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นแต่อย่างใด จึงต้องงัด “ไม้ตาย” ที่ชื่อ ศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา คนสนิทของนายกฯ โดยหยิบเรื่องที่นายศิริโชค และ ส.ส.ประชาธิปัตย์อีก 90 คนร่วมกันเข้าชื่อเสนอให้ประธานฯชัย ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า “ร่างบันทึกข้อตกลงชั่วคราว” ที่แนบท้ายรายงานการประชุมเจบีซีทั้ง 3 ครั้งมาด้วยนั้น เข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาที่ต้องผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 หรือไม่

และพยายามเบี่ยงเบนประเด็นให้ที่ประชุมรับทราบเพียงรายงานผลการศึกษาบันทึกเจบีซีของคณะกรรมาธิการรัฐสภา ที่มี เจริญ คันธวงศ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน ที่ได้สรุปออกมาเป็น 5 ข้อสังเกต

เพื่อหวัง “แก้เกี้ยว” ไม่ให้เสียหน้ามากไปกว่านี้

แต่จนแล้วจนรอดที่ประชุมก็เห็นว่า ไม่มีความจำเป็นที่ต้องลงมติรับทราบ เพราะในเมื่อยังมีการตีความค้างอยู่ในสารบบของศาลรัฐธรรมนูญ ก็ควรที่จะรอให้มีผลการวินิจฉัยชี้ชัดออกมาเสียก่อน และมีการโต้เถียงกันไปมาใน 2 มุมความคิดนี้อย่างกว้างขวางกินเวลาร่วม 6 ชม. เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา

สุดท้ายเมื่อพยายามยื้อให้มีการลงมติ เพื่อหวังใช้เสียงข้างมากลากผ่านไปให้ได้ แต่ก็ไม่รอดเมื่อสมาชิกรัฐสภา “ลอยตัว” ไม่ร่วมสังฆกรรมด้วย เลือกที่จะไม่เข้าห้องประชุม จนทำให้องค์ประชุม “ล่ม” ไปในที่สุด

ก่อนที่จะนัดหมายให้มาถกกันอีกครั้งในสัปดาห์หน้าวันที่ 5 เม.ย. เพราะยังหวังให้ทันเพื่อให้มีการเปิดประชุมเจบีซี ที่ประเทศอินโดนีเซีย ในช่วงวันที่ 7-8 เม.ย.ให้ได้

ท่าทีที่ไม่ยอมเลิกราของนายอภสิทธิ์และรัฐบาล สะท้อนให้เห็นถึงความ “ร้อนรน” ที่ต้องการให้ที่ประชุมรัฐสภาผ่านการพิจารณาเห็นชอบบันทึกเจบีซีทั้ง 3 ฉบับให้ได้ จนไม่ได้นึกถึงผลกระทบที่ตามมา

ที่สุดท้ายก็กลายเป็น “รอยร้าว” ระหว่าง “ฝ่ายบริหาร-ฝ่ายนิติบัญญัติ” ที่มีความเห็นต่างกันอย่างสิ้นเชิง แม้กระทั่งพรรคร่วมรัฐบาล หรือในพรรคประชาธิปัตย์เอง หากยังเดินหน้ากระแทกต่อไป “รอยร้าว” ที่ว่าอาจปริแตกได้ทุกเมื่อเช่นกัน

ถึงเวลานั้น “รัฐบาลอภิสิทธิ์” ก็ต้องพบจุดจบ

อวสานเร็วกว่าที่คาด

พรพัฒน์
กำลังโหลดความคิดเห็น