xs
xsm
sm
md
lg

“ชัย” จี้ ครม.แจงเหตุไม่รอศาลวินิจฉัยเจบีซีไทย-เขมร “เทือก” อ้างไม่ขัด รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชัย ชิดชอบ (แฟ้มภาพ)
“ชัย” ให้ ครม.แจงสาเหตุที่ไม่รอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเจบีซีไทย-เขมร ทั้งที่ตามกฎหมายต้องรอการตีความก่อน ด้านประธานวิปวุฒิฯ ไม่เอาด้วยกับรัฐบาล กลัวเกิดปัญหาภายหลัง เชื่อไม่จบวันนี้ เช่นเดียวกับประธานวิปฝ่ายค้านที่เห็นด้วยกับวุฒิสภา ขณะที่ “เทพเทือก” ยังดันทุรัง อ้างเจบีซีไทย-เขมร ไม่เข้าข่ายมาตรา 190 มั่นใจพรรคร่วมฯเห็นตามรัฐบาล


นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณารับรองรายงานผลการศึกษาบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) รวม 3 ฉบับ ซึ่งนายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นให้ศาลรัฐธรรมมนูญตีความเมื่อปีที่แล้วเพื่อพิจารณาว่า เจบีซี 3 ฉบับเข้าข่ายเป็นหนังสือสนธิสัญญาตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตราที่ 190 หรือไม่ว่า การลงมติรับรองรายงานการประชุมดังกล่าวขึ้นอยู่กับเสียงในสภาจะเห็นเป็นอย่างไร โดย ครม.ก็จำเป็นต้องชี้แจงว่าเหตุใดจึงไม่รอคำวินิจฉัยจากศาลก่อน เนื่องจากตามกฎหมายแล้ว เรื่องที่ยังอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ สภาก็ต้องให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาด ทั้งนี้โดยส่วนตัวมองว่า ไม่น่าจะมีปัญหา ซึ่งในวันนี้ ก็ยังมีวาระการประชุมอื่นที่สำคัญกว่าอีกเป็นจำนวนมาก

ด้าน นายนิคม ไวยรัชพานิช วิปวุฒิสภา กล่าวว่า ส.ว.ส่วนใหญ่อาจไม่แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ เนื่องจากยังไม่ทราบว่า ศาลจะมีคำวินิจฉัยอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงไม่อยากให้เกิดปัญหาภายหลัง โดยเชื่อว่าการประชุมจะไม่เสร็จสิ้นในวันนี้ เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญ น่าจะมีการชะลอเรื่องนี้และนำเรื่องอื่นมาพิจารณาก่อน

ด้าน นายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับทางวุฒิสภาที่ต้องรอคำวินิจฉัยจากศาล ไม่สามารถยุติได้ในวันนี้ เพราะเรื่องอยู่ในชั้นศาลแล้ว

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ใน ฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมร่วมของรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้คำรับรองผลการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) จำนวน 3 ฉบับ ที่คณะกรรมการธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว โดยในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ที่ยังไม่มีมติที่ชัดเจนเรื่องการโหวตว่า เป็นเรื่องของผู้ประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล ที่เขาจะปรึกษาหารือกัน ยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้างในเรื่องข้อมูลข้อเท็จจริง เพราะยังมีบางส่วนที่มีความกังวลใจที่จะเดินหน้าต่อหรือไม่ เพราะมีสมาชิกรัฐสภาบางคนไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า บันทึกข้อตกลงจะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 หรือไม่ และบางส่วนก็บอกว่าโดยวิธีปฏิบัติสำหรับกฎหมายทั่วๆ ไป ที่เคยขึ้นในสภาฯ การทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาก็ต้องทำหน้าที่ต่อไป และเมื่อทำไปแล้วถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอย่างไรให้มีผลย้อนหลัง แต่หากจะหยุดเดินอาจให้ทำให้เสียงานได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าดูแล้วขัดรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ตนจะไปวินิจฉัยก่อนศาลรัฐธรรมนูญคงไม่ได้ แต่เท่าที่วิเคราะห์กันมาก่อนนั้นไม่ใช่กรณีที่จะต้องถือเป็นสนธิสัญญาตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 190 แต่เป็นเพียงการรับรองบันทึกการทำงานที่ได้ทำกันมาร่วมกันเพื่อให้ทำงานร่วมกันในอนาคตได้เท่านั้น ส่วนปัญหาเรื่องเสียงโหวตนั้นในพรรคร่วมรัฐบาล ถ้าวิปรัฐบาลมีมติอย่างไรก็ต้องว่าไปตามนั้น และการที่นายกรัฐมนตรีออกมากล่าวว่า ต้องเป็นไปในแนวทางเดียวกันนั้นก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น