ผ่าประเด็นร้อน
แทบไม่น่าเชื่อว่ากระแสไม่เอา “นักเลือกตั้ง” น้ำเน่าที่ปรากฎหน้าตาให้เห็นกันอยู่ดาษดื่น เริ่มแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะต้องยอมรับความจริงกันอยู่แล้วว่า หลังเลือกตั้งเสร็จสิ้นคนพวกนี้ก็จะกลับมา “ชูคอ” กลายเป็นผู้กุมชะตากรรมของบ้านเมืองได้อีกรอบ และตลอดไป หากกระบวนการจัดการทางการเมือง และองค์ประกอบทางการเมืองยังเป็นแบบนี้อยู่
มันก็ไร้ความหวังและไร้ความหมาย !!
เพราะผลจากการเลือกตั้งเราก็จะได้เห็นนักการเมืองที่ชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สุเทพ เทือกสุบรรณ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ฯลฯ รวมไปถึงการจะได้เห็นคนที่ถูกสั่งห้ามยุ่งเกี่ยวทางการเมือง แต่กลับยังมามีอิทธิพล “ชักใย” อยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็น บรรหาร ศิลปอาชา เนวิน ชิดชอบ ไม่เว้นแม้แต่ ทักษิณ ชินวัตร ที่กำลังจะเคาะชื่อ “น้องสาว” ตัวเอง คือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาลงแข่งขันเพื่อชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนใหม่
กลายเป็นว่าคนพวกนี้เป็นฝ่ายกำหนดชะตากรรมของบ้านเมือง ทั้งที่ที่ผ่านมาเต็มไปด้วยเรื่องอื้อฉาว และมีแต่ข่าวทุจริตคอรัปชั่น
เมื่อเป็นแบบนี้มันก็ช่วยไม่ได้ที่จะทำให้ชาวบ้านต้องรู้สึกหมดหวังกับการเมือง และนักการเมืองที่จะมาบริหารบ้านเมืองในอนาคตแทนพวกเขา เพราะรู้ล่วงหน้าแล้วว่า “มันไร้ค่า” เกินกว่าที่จะเหลือบตามอง
ไม่น่าเชื่อว่าบรรยากาศหดหู่แบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ทั้งที่จะเริ่มเข้าสู่การนับถอยหลังเลือกตั้งกันแล้ว เพราะหากเทียบกับเมื่อก่อนหากรู้กำหนดการยุบสภา การเลือกตั้ง ทุกคนก็แทบจะจดจ่อเร่งวันเร่งคืนเพื่อเตรียมตัวไปใช้สิทธิ์ แต่นี่กลายเป็นว่ามีหลายคน “ไม่อยากให้เลือกตั้ง” เพราะเลือกไปก็จะได้นักการเมือง “ขี้โกง” หรือไม่โกงเอง ก็สั่งให้ “คนอื่นโกงแทน” ทำให้กระแส และความหวังในเรื่อง “ไม่มีเลือกตั้ง” เกิดขึ้นมา และแรงขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบและบรรยากาศรอบด้านมันก็เริ่มเดินไปในบรรยากาศและทิศทางนั้นเสียด้วย เริ่มจากข่าว “อุบัติเหตุ” ไม่มีเลือกตั้งเกิดขึ้นมาเป็นอันดับแรก จากนั้นก็เริ่มแรงขึ้นเรื่อยๆ ถัดมาก็มีการปฏิเสธจาก “บิ๊กทหาร” ที่มีศักยภาพทั้ง ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 1 พล.ท.อุดมเดช สีตบุตร ก็ยืนยันหนักแน่นไปในทางเดียวกัน
แต่สิ่งที่สังคมจับอาการได้ก็คือกรณีความขัดแย้งตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาซึ่งถือว่าเป็นท่าทีสวนทางกันอย่างชัดเจนระหว่างนายกรัฐมนตรี กับผู้บัญชาการทหารบก โดยเฉพาะในเรื่องการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป(จีบีซี) ที่ทางผู้บัญชาการทหารบกประกาศชัดว่าจะไม่ยอมไปร่วมประชุมที่อินโดนีเซีย รวมทั้งไม่ยอมให้ทหารอินโดนีเซียเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์ตามแนวชายแดน ซึ่งกรณีนี้หากพิจารณาในสถานการณ์แบบนี้ถือว่า “น่าหวาดเสียว” ยิ่งนัก
หรือก่อนหน้านี้ก็มีการเปิดทางจากฝ่ายรัฐบาลที่ให้มีการปล่อยตัวบรรดา “หัวโจก” คนเสื้อแดงออกมา แม้เป็นข้ออ้างเรื่อง “ปรองดอง” แต่มองให้ดีนี่คือนัยว่าจะเป็นเครื่องมือในการต่อต้านการ “รัฐประหาร” นั่นเอง
อย่างไรก็ดีปรากฎว่าในช่วงเวลาไล่เลี่ยกลับมีความเคลื่อนไหวบางอย่างที่น่าจับตา ทั้งในเรื่องของข่าวการลาออกของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) พร้อมกัน แม้ว่าจะเป็นเพียงข่าวของ สดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองที่กำลังไปสมัครเป็นกรรมการปฏิรูปกฏหมายของกระทรวงยุติธรรม รวมไปถึง เลขาธิการกกต.สุทธิพล ทวีชัยการ ก็มีข่าวว่าจะไปสมัครเป็นคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เสียอีก
ล่าสุด สดศรี แม้ว่าจะบอกว่ายังไม่ได้ลาออก แต่ก็โยนระเบิดใส่ว่ามีความกดดันจากการเมือง พร้อมทั้งทำนายว่า นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะยุบสภาก่อนกำหนด หมายความว่าจะมีการยุบสภาเร็วขึ้นอีก จากเดิมที่เคยกำหนดว่าในสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม ก็น่าจะเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นปลายเดือนเมษายน โดยไม่ต้องรอกฏหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 3 ฉบับที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมาธิการให้เสร็จสิ้นเสียก่อน
อาจจะใช้ประกาศกกต.ออกเป็นระเบียบการจัดการเลือกตั้งมาใช้แทนก็เป็นได้ !!
เมื่อสรุปภาพรวมๆแล้วก็พอมองเห็นได้อย่างชัดเจนแล้วว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไร้ความหวัง ไร้อนาคตอย่างสิ้นเชิง มิหนำซ้ำยังอาจทำให้สถานการณ์หลังจากนี้มีความเลวร้ายลงไปอีก ทั้งระหว่างการเลือกตั้งและหลังการเลือกตั้ง เพราะเมื่อพิจารณาจากผลสำรวจแทบทุกแห่งล้วนออกมาตรงกันว่า ชาวบ้านหมดศรัทธานักการเมือง และเชื่อว่ามีแต่เรื่องซื้อเสียง เกิดความรุนแรง
เมื่อเกิดความรู้สึกแบบนี้ขึ้นมาทำให้มีคำถามขึ้นมาในใจว่าแล้วจะเลือกตั้งไปทำไมือกตั้งไปให้นักการเมืองพวกนี้รวมหัวกันกลับมาโกงชาติกันต่อ สร้างความล้มเหลวกันต่อ ขณะเดียวกันเมื่อเป็นแบบนี้มันก็ช่วยไม่ได้ที่กำลังเกิดมีกระแส “โนโหวต” แรงขึ้นเรื่อยๆ !!