xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ตีกลับ 24 คดีดีเอสไอ ถก สตช.ก่อนชงขึ้นเป็นคดีพิเศษ หวั่นซ้ำซ้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศุภชัย ใจสมุทร
ครม.ตีกลับลักษณะ 24 คดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษ โบ้ยให้ไปหารือร่วม สตช. ก่อนตัดสินใจ เสนอขึ้นเป็นคดีพิเศษ หวั่นการทำงานซ้ำซ้อน ตร.

วันนี้ (28 มี.ค.) นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ว่า ตามที่กระทรวงยุติธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เสนอร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดคดีพิเศษเพิ่มเติมตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ ครม.เห็นว่า การจัดตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้กำหนดแล้วว่า คดีใดบ้างเป็นคดีพิเศษ ส่วนที่มีการขยายเป็นคดีพิเศษ 24 คดี หากมีการขยายเป็นคดีพิเศษเพิ่มเติม ครม.ได้ให้ทางดีเอสไอ และทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พิจารณาร่วมกันก่อน ว่า มีคดีที่มีลักษณะการทำงานซ้ำซ้อน และมีผลกระทบเกี่ยวเนื่องจากการทำงาน และให้หน่วยงานที่รับผิดชอบกลับไปพิจารณา ก่อนนำกลับเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.อีกครั้ง

แหล่งข่าวในที่ประชุม ครม.เปิดเผยว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม ซึ่งได้นำ นาย ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ มาคอยชี้แจงด้วย กำหนดคดีพิเศษเพิ่มเติม จำนวน 24 คดี มีรายละเอียดดังนี้ 1.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า 3.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 4.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต 5.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย 6.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ 7.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี 8.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 9.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ 10.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ

11.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ 12.คดีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน 13.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยแร่ 14.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน 15.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ 16.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด 17.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด 18.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท 19.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน 20.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง 21.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย 22.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยา 23.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร 24.คดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา เฉพาะความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร คดีความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายและคดีความผิดเกี่ยวกับหนังสือเดินทาง

แหล่งข่าวในที่ประชุม ครม.เปิดเผยว่า ตามเอกสารที่ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรมได้เสนอต่อ ครม.นั้น ทางกระทรวงการคลัง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงพาณิชย์ พิจารณาแล้ว เห็นชอบด้วยในหลักการของร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ทั้งนี้ สำนักงานศาลยุติธรรมก็เห็นชอบในหลักการของร่างกฎกระทรวงด้วยเช่นกัน โดยมีข้อสังเกตว่า คดีตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษและคดีตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทได้กำหนดฐานความผิดไว้อย่างกว้างขวาง และจำนวนคดีที่ฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแต่ละปีมีจำนวนมากถึงร้อยละ 40 หากจะกำหนดเป็นคดีพิเศษเฉพาะคดีความผิดที่มีรายละเอียดของลักษณะการกระทำผิดตามที่คณะกรรมการคดีพิเศษกำหนดนั้นควรมีความชัดเจน และต้องมีความผิดที่มีความจำเป็นและสำคัญอย่างแท้จริงที่ต้องใช้การสอบสวน และการรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษ มิฉะนั้นจะมีผลต่อการทำงานของดีเอสไอที่มีบุคลากรจำกัดต่อกระบวนการควบคุม การขัง การค้น หรือการปล่อยตัวชั่วคราว หรือการดำเนินการอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญา ตลอดจนขอบเขตความรับผิดชอบของพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ เจ้าพนักงานของรัฐ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และเจ้าหน้าที่คดีพิเศษ ในการสืบสวนและสอบสวนคดียาเสพติดที่อาจเหลื่อมล้ำและซ้ำซ้อนกัน

รายงานข่าวในที่ประชุม ครม.แจ้งว่า ขณะที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พิจารณาเห็นว่า ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวซ้ำซ้อนกับอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานในสังกัด สตช.ที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับความผิดที่ทางกระทรวงยุติธรรมของเสนอเพิ่มทั้ง 24 ฉบับ เช่น กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด กองบังคับการปราบปราม กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งทาง สตช.มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและมีความเชี่ยวชาญในกฎหมายดังกล่าว ทั้งนี้ การขอเสนอให้เป็นคดีพิเศษนั้นไม่ได้มีความซับซ้อน แต่ความซับซ้อนของคดีเกิดจากลักษณะเฉพาะของการกระทำความผิดในแต่ละเรื่อง เช่น การกระทำในลักษณะองค์กรอาชญากรรม หากทางดีเอสไอต้องการสอบสวนคดีดังกล่าวก็สามารถขอมติที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษได้ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ของดีเอสไอมีจำนวนไม่เพียงพอ และของกำลังจากข้าราชการตำรวจใน สตช.เพื่อไปช่วยปฏิบัติภารกิจ หากกำหนดเพิ่มคดีพิเศษจำนวนมากอาจทำให้เกิดความล่าช้าไม่รอบคอบและเสียหายได้

รายงานข่าวในที่ประชุม ครม.ระบุว่า มีการถกเถียงกันถึงการพิจารณากำหนดให้ความผิดทางอาญาตามกฎหมายใดเป็นคดีพิเศษนั้น ต้องจำกัดเฉพาะคดีความผิดทางอาญาที่มีความซับซ้อนและจำเป็นต้องใช้วิธีการสืบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษ และไม่สามารถดำเนินการในอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาทั่วไปได้ หากกำหนดให้คดีความผิดทางอาญาตามกฎหมายทั่วไปไม่มีเหตุลักษณะของการกระทำผิดที่เข้าข่ายดังกล่าวแล้ว จะทำให้การใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษเป็นการกระทบต่อเสรีภาพของประชาชนมากจนเกินไป

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ขณะที่สำนักงานอัยการสูงสุด มีความเห็นและตั้งข้อสังเกตว่า การกำหนดให้คดีความผิดใดเป็นคดีพิเศษเพิ่มเติมตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษในกฎกระทรวงนั้นจะต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จัดให้มีพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเป็นผู้สืบสวนและสอบสวน เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดอาญาดังกล่าว เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะมีความแตกต่างจากอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนทั่วไป ตามป.วิ อาญา

แหล่งข่าวในที่ประชุม ครม.เปิดเผยว่า ในช่วงท้ายก่อนหาข้อสรุปในประเด็นดังกล่าว นายกฯได้สั่งให้ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปหารือกันอีกครั้ง เพราะไม่อยากให้งานของดีเอสไอ ซ้ำซ้อนกับงานของหน่วยงานอื่นๆ จึงขอให้ทางคณะกรรมการคดีพิเศษไปดูมาใหม่ก่อนเสนอต่อที่ประชุม ครม.
กำลังโหลดความคิดเห็น