ผบ.ทบ.คืบหนั้าปืนหายจากค่ายธนะรัชต์ ติดตามคืนได้เพียง 20 กระบอกหลัง ไล่จับทหารคุมคลังอาวุธได้แล้ว สั่งเค้นสอบเอาผิดลงโทษอาญา-วินัยทหาร พร้อมต้องชดใช้ พร้อมวอนคนไทยอย่างแบ่งพวกเหมือนลิเบีย หวั่นต่างชาติจ้องแทรกแซง
วันที่ 22 มี.ค. 2554 ที่อาคารสงเคราะห์กองทัพบกส่วนกลาง ย่านเกียกกาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีอาวุธปืนหายจากค่ายธนะรัชต์ ศูนย์การทหารราบ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่าขณะนี้ได้ปืนคืนมาแล้วกว่า 20 กระบอก ส่วนที่เหลือต้องติดตามกันต่อไปบางส่วน คงต้องติดตามจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่ในส่วนของพื้นที่กรุงเทพฯ หรือพื้นที่ตอนในยังไม่มีการตรวจพบว่านำมาใช้ในพื้นที่ดังกล่าว สำหรับผู้ที่กระทำความผิดทั้งหมด โดยเฉพาะจ่าสิบเอกที่เป็นเจ้าหน้าที่คุมคลังอาวุธ และนายทหาร สามารถควบคุมตัวได้แล้ว ซึ่งสามารถจับกุมมาจากจังหวัดพัทลุง และขณะนี้มีการสอบสวนอยู่ เพราะกฎหมาย วินัยทางทหารมีอยู่ เราก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ในส่วนของความรับผิดชอบของผู้บังคับบัญชาต้องดำเนินการสอบสวนลงโทษ และสั่งการให้นำอาวุธกลับคืนมาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิดความสูญเสีย เป็นระบบการกระจายอำนาจ เพราะกองทัพบกเป็นหน่วยใหญ่
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ได้กวดขันทางกรมฝ่ายเสนาธิการ ซึ่งต้องลงไปดูรายละเอียดในสายงานการดูแลรักษายุทโธปกรณ์ คลังอาวุธ รวมทั้งระเบียบต่างๆ ในการปฏิบัติคือเจ้าของหน่วย ผู้บังคับหน่วยที่มีคลังอาวุธอยู่ จึงเป็นความรับผิดชอบหลักของเขา โดยหลักการหากเกิดความบกพร่องตรงไหนก็มีสองระดับที่ต้องรับผิดชอบ ในส่วนของคลังอาวุธคนที่รับผิดชอบคือนายสิบและเจ้าหน้าที่คลังอาวุธ และผู้บังคับกองร้อย ผู้บังคับกองพัน ซึ่งต้องดูว่าใครผิดมากผิดน้อย แต่ต้องลงโทษทั้งคดีอาญา และวินัยทหาร รวมถึงการชดใช้ต่างๆ
พล.อ.พิเชษฐ์ วิสัยจร ผู้ช่วย ผบ.ทบ.กล่าวว่า เท่าที่ทราบขณะนี้คดีมีความคืบหน้าไประดับหนึ่ง เรารู้ตัวผู้กระทำผิดและได้อาวุธคืนมามากสมควร ซึ่งเราได้ทำการสอบสวนอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายความจริงสู่สังคม ทั้งนี้ การกำกับดูแลคลังอาวุธ ผบ.ทบ.ได้กำชับมาตลอด เพราะถือว่าเป็นกฎระเบียบของกองทัพที่มีอยู่ แต่ที่ผ่านมาเป็นเรื่องของตัวบุคคล คือ เจ้าหน้าที่ทุจริตและผู้บังคับบัญชาขาดการกำกับดูแล
ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงสถานการณ์ในประเทศลิเบียว่า เป็นเรื่องของรัฐบาลซึ่งค่อนข้างไกลจากประเทศไทย เป็นเรื่องของยูเอ็น และรัฐบาลโดยกระทรวงการต่างประเทศ เราในฐานะผู้ปฏิบัติก็แล้วแต่ว่ารัฐบาลจะมีความเห็นชอบอย่างไร สิ่งที่เราต้องดูคือจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้นมา คนไทยจะทำอย่างไรไม่ให้มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ทำอย่างไรให้มีกฎกติกาและไม่ให้ใครเข้ามาสังเกตการณ์ในบ้านของเรา เพราะในบ้านเราเองน่าจะพูดจากันได้รวมทั้งภูมิภาคอาเชี่ยนด้วยกัน เราสามารถพูดคุยกันได้ ก็ไม่อยากให้คนอื่นเข้ามายุ่ง เพราะจะเห็นว่าจะเกิดความวุ่นวายหากมีหลายๆ ประเทศเข้ามา