พันธมิตรฯ โวย จนท.ตร.จ้องแต่จะขับไล่แต่ดูแลความปลอดภัยผู้ชุมนุม ปล่อยให้รถวอลโว่วิ่งชนผู้ชุมนุมจนได้รับบาดเจ็บ ย้ำการเจรจาเพื่อขอเปิดเส้นทางทางการจราจรมีแต่ผลเสีย สับรัฐประกาศตรึง พ.ร.บ.ความมั่นคงไม่กระทบการชุมนุมเพื่อเรียกร้องอธิปไตย ด้าน “ปานเทพ” ยื่นฟ้องนายกฯ กับพวก ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ อุ้ม MOU 43 อัปยศไม่เลิก
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง ประพันธ์ คูณมี ให้สัมภาษณ์
วันนี้ (22 มี.ค.) ที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ นายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย ได้กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อช่วงเย็นเมื่อวานนี้ (21 มี.ค.) ที่มีรถเก๋งยี่ห้อวอลโว่ สีเทาดำ ทะเบียน กก 423 สงขลา บีบแตรและวิ่งด้วยความเร็วจากสะพานมัฆวานรังสรรค์ เข้ามาบริเวณถนนราชดำเนินนอก ฝั่งกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเหตุให้มีการเฉี่ยวชนผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งทราบชื่อภายหลังว่าชื่อนายหมี อาชีพพ่อค้า ซึ่งเป็นอดีตการ์ดอาสาพันธมิตรฯ จนได้รับบาดเจ็บที่สะโพกว่า ทราบว่าภายหลังรถเก๋งคันดังกล่าวก่อเหตุเรียบร้อยแล้ว ได้มีการขับรถไปจอดอยู่ภายในร้านสวัสดิการทหารบก จึงได้มีการถ่ายรูปไว้ โดยขณะนี้ได้แจ้งความไว้เป็นหลักฐานเพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีต่อไป
นายประพันธ์กล่าวอีกว่า จากเหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า วิธีคิดของรัฐบาลที่จะเปิดเส้นทางการจราจรในพื้นที่เกิดเหตุดังกล่าว ไม่มีเหตุผลที่สมควร และไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรให้ดีขึ้น รวมไปถึงทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้ชุมนุมด้วย โดยไม่มั่นใจว่าจะเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้อีกหรือไม่ เพราะการกระทำดังกล่าวมาจากผู้ไม่หวังดีต่อพันธมิตรฯ หรืออาจเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะว่าจากการสังเกตพบว่า รถคันดังกล่าวได้วิ่งเข้ามาในพื้นที่นี้หลายครั้งแล้ว
“ขอเรียกร้องไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล อยากให้เจ้าหน้าที่คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนด้วย ไม่ใช่แต่จะหาทางขับไล่สลายการชุมนุม หรือคุกคามสิทธิของประชาชน เพราะว่าตำรวจอยู่ในฐานะของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” นายประพันธ์กล่าวในส่วนกรณีการประกาศขยายการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงอีก 30 วันนั้น นายประพันธ์กล่าวว่า ภาคประชาชนขอประณามรัฐบาลที่ยังคงให้มีการประกาศใช้อย่างไม่มีความชอบธรรม แต่ขอยืนยันว่าไม่รู้สึกหวั่นต่อการบังคับใช้กฎหมายแต่อย่างใด และยืนยันจะยังคงชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาปกป้องอธิปไตยอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เปิดเผยว่า ในวันนี้ (22 มี.ค.) ตนและคณะจะไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ดำเนินคดีอาญาต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะนายกรัฐมนตรีกับพวก ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานที่งดเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 119, 120 และ 157 กรณีการนำเอ็มโอยู 2543 มาใช้ ทั้งที่เอ็มโอยู 2543 นั้นขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2540 โดยที่ไม่ยกเลิก ไม่ถอนตัวออกจากภาคีมรดกโลก และไม่ผลักดันทหารและชุมชนกัมพูชาออกจากพื้นที่ไทย ตามข้อเรียกร้องของภาคประชาชน