โฆษกพันธมิตรฯ เผยยื่น ป.ป.ช.ฟันนายกฯ ผิด ม.157 ใช้ พ.ร.บ.มั่นคงมิชอบ กลั่นแกล้งประชาชน เตือนตำรวจสลายม็อบไร้คำสั่งนักการเมืองระวังซวย แฉบิ๊กกากีชงนายกฯ ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินปราบ ซ้ำเสนอตัวนั่งรักษาการแทน “วิเชียร” เพื่อสลายม็อบ จี้รัฐรับผิดหากเกิดเหตุ
วันนี้ (17 มี.ค.) ที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เปิดเผยว่า ในวันนี้ (17 มี.ค.) ตนจะเข้ายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ดำเนินคดีอาญาต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษษความมั่นคงในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และพวก ว่าได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ในกรณีที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคง) โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่พบเหตุการณ์ความไม่มั่นคงในการประกาศใช้กฎหมายที่เกินกว่าเหตุนี้ เป็นเพียงการออกประกาศกฎหมายเพื่อป้องกันความมั่นคงของรัฐบาล ไม่ใช่ความมั่นคงของรัฐ
นายปานเทพกล่าวต่อว่า ทั้งยังเป็นการใช้กฎหมายเพื่อกลั่นแกล้งประชาชนที่มาชุมนุมโดยสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ที่ไม่ผ่านมติคณะรัฐมนตรี ไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งขัดต่อมาตรา 18 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงเอง อีกทั้งการประกาศพื้นที่ความมั่นคงที่เลือกปฏิบัติ บังคับใช้เฉพาะกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ ซึ่งขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญหลายมาตรา ตั้งมาตรา 6, 26-29, 34, 45, 63, 70-71 และมาตรา 87(2-4) รวมทั้งขัดมาตรา 3 และ 7 (4) ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงอีกด้วย ที่สำคัญการออกหมายเรียก 10 แกนนำก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากผู้ที่ออกหมายเรียกไม่ได้มีหน้าที่ตามมาตรา 5 (7) ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ความมั่นคง
“ขอให้ ป.ป.ช.ดำเนินคดีความอาญาต่อนายกฯ และพวกทั้งหมดที่กระทำการลุแก่อำนาจ ทำเกินกว่าเหตุ และใช้กฎหมายละเมิดสิทธิ ขัดขวางการทำหน้าที่ของภาคประชาชนที่ออกมาปกป้องอธิปไตยของชาติโดยสุจริต” นายปานเทพกล่าว
ในส่วนของการดำเนินคดีต่อผู้ที่เกี่ยวข้องนั้น นายปานเทพกล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการดำเนินคดีต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในระดับสั่งการ ยังไม่มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับปฏิบัติการที่เข้ามาปิดล้อมพื้นที่การชุมนุม แต่หากยังมีความพยายามใช้กำลังสลายการชุมนุมอีก จะเริ่มดำเนินคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่เหล่านั้น จึงขอเตือนว่าหากไม่ได้รับคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรจากฝ่ายการเมือง ผู้ปฏิบัติต้องรับผิดทางอาญาในอนาคตด้วย
โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้มีกระแสข่าวว่ามีนายตำรวจระดับสูงคนหนึ่งเสนอต่อนายกฯถึงการจัดการกับผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ โดยมาตรการที่เด็ดขาดคือ การประกาศใช้พระราชกำหนดรักษาความสงบเรียบร้อยในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) โดยตนทราบมาว่านายกฯจะพิจารณาในวันพรุ่งนี้ (18 มี.ค.) เพื่อหวังใช้สำหรับเพิ่มโทษทางอาญาแก่ผู้ชุมนุม แกนนำ หรือผู้ปราศรัย ที่สำคัญเจ้าหน้าที่สามารถใช้กำลังจับกุมได้ทันที ซึ่งทำให้ตนมีความเป็นห่วงเนื่องจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องมีการอ้างเหตุที่มีระดับสูงกว่า พ.ร.บ.ความมั่นคง แต่ขณะนี้ยังไม่มีเหตุอันสมควร จึงเกรงว่าจะมีขบวนการสร้างสถานการณ์ให้เกิดความเชื่อว่าสถานการณ์เข้าสู่การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ใดๆ รัฐบาลต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะวันนี้รัฐบาลได้เป็นคนเปิดพื้นที่การจราจรเข้ามาในพื้นที่การชุมนุม โดยไม่มีการตรวจสอบอาวุธหรือความปลอดภัย
“ดังนั้น หากเกิดสถานการณ์ใดจนเป็นเหตุอ้างในการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว” นายปานเทพกล่าว
นายปานเทพกล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบเพิ่มเติมยังทำให้ได้ทราบอีกว่า หลังจากที่ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบแห่งชาติ (ศอ.รส.) ไม่สามารถไล่ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ได้ตามกำหนดวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา จึงได้มีนายตำรวจระดับนายพลเสนอตัวต่อฝ่ายการเมือง เพื่อให้โยกย้าย พล.ต.อ.วิเชียรไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี และนายตำรวจผู้นั้นจะทำหน้าที่รักษาการ ผบ.ตร.แทน โดยอ้างสิ่งตอบแทนในการสลายการชุมนุมของพันธมิตรฯ ให้ได้ ทั้งยังอ้างถึงความสัมพันธ์อันดีกับแกนนำพันธมิตรฯ ที่สามารถเจรจาให้ยุติการชุมนุมได้
โฆษกพันธมิตรฯ เปิดเผยอีกว่า นายพลตำรวจคนนี้ยังอ้างอีกว่า หากมีการเลือกตั้งจะทำหน้าที่ดูแลเอื้ออำนวยความสะดวกให้แก่พรรคการเมืองบางพรรคทั่วทั้งประเทศ และมีการเสนอการสนับสนุนทางการเงินให้แก่พรรคการเมืองดังกล่าวเพื่อใช้เป็นทุนในการหาเสียงเลือกตั้งอีกด้วย จึงขอให้จับตาว่ามีขบวนการในการตั้งรักษาการ ผบ.ตร.หลังจากนี้หรือไม่
ด้าน นายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามสร้างสถานการณ์เพื่อให้เห็นว่ามีผู้ไม่หวังดีต้องการก่อเหตุความรุนแรง โดยเฉพาะการจับกุมกลุ่มบุคคลที่พกพาอาวุธสงครามก่อนการชุมนุมเพียง 1 วัน ที่อ้างว่าจะมาก่อเหตุวุ่นวายต่อการชุมนุมของพันธมิตรฯ แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีผลทางคดีใดๆ ออกมา จึงอยากสอบถามว่าคดีดังกล่าวดำเนินการไปถึงไหนแล้ว ซึ่งนายตำรวจที่เข้ามามีบทบาทในครั้งนั้นก็เป็นผู้เสนอตัวกับฝ่ายการเมืองที่จะมาทำหน้าที่จัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ ด้วย
“พวกเราได้ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นความพยายามในการเลื่อยขาเก้าอี้ ผบ.ตร.คนปัจจุบัน เป็นเกมชิงอำนาจในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยการอาสาตัวรับใช้ฝ่ายการเมืองของนายตำรวจที่มีความใฝ่ฝันจะขึ้นมาเป็น ผบ.ตร. แม้จะเป็นเพียงแค่รักษาการก็ตาม” นายประพันธ์กล่าว