xs
xsm
sm
md
lg

กสม.แนะรัฐทบทวน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ชี้ขัดเจตนารมณ์ รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อมรา  พงศาพิชญ์
“กสม.” สรุปรายงานคู่ขนานประเมินสถานการณ์สิทธิฯไทย ยก 5 ปัญหาหลักสำคัญ แนะรัฐต้องยกเลิกกฎหมายพิเศษใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ หลังสถานการณ์ไม่ดีขึ้น พร้อมแนะทบทวนร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ติง อย่าประกาศใช้พร่ำเพรื่อ และกำหนดกรอบการใช้อำนาจเจ้าหน้าที่ให้ชัดเจน

วันนี้ (11 มี.ค.) นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) พร้อมด้วย นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ กรรมการสิทธิมนุษยชน และ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการ กสม.ร่วมกันถึงรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยที่ กสม.จัดทำขึ้นเพื่อส่งให้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติตามกระบวนการตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศต่างๆ โดย นางอมรา กล่าวว่า ภาพรวมสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยแบ่งประเด็นปัญหาที่สำคัญ 5 เรื่อง คือ 1.ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2.ปัญหาเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง 3.ปัญหาสิทธิชุมชนและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและที่ดินที่เป็นธรรมและยั่งยืน 4.ปัญหาการค้ามนุษย์ และ 5.ปัญหาสิทธิและสถานะบุคคลของคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ผู้อพยพ คนไทยพลัดถิ่น และผู้หนีภัยการสู้รบ พร้อมกับข้อเสนอแนะเพื่อหาทางปรับปรุงปัญหา ให้คลี่คลายลง แต่จะหวังว่าจะแก้โดยเด็ดขาดไม่ได้ เพราะเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเกี่ยวข้องกับบุคคลหลายฝ่าย

นางอมรา กล่าวว่า สำหรับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความรุนแรงมากขึ้นตั้งแต่ปี 47 แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศใช้กฎหมายพิเศษ 3 ฉบับทั้งกฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แต่กฎหมายเหล่านั้นไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ทาง กสม.จึงอยากให้รัฐพิจารณาถึงความเหมาะของการใช้กฎหมายทั้ง 3 ฉบับ นอกจากนี้ ในส่วนเรื่องการชุมนุมทางการเมืองในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค.53 ของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่มีการกล่าวหาว่าเป็นการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงและละเมิดกฎหมาย แม้รัฐบาลได้ชี้แจงว่าเจ้าหน้าที่ได้ใช้มาตรการจากเบาไปหาหนักในการควบคุม และสลายการชุมนุม แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม และมีกลุ่มบุคคลที่ไม่ทราบฝ่ายใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตามรัฐบาลต้องงทบทวนร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยปรับร่าง พ.ร.บ.ให้ส่งเสริมและคุ้มครองการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธเพื่อประกันสิทธิขั้นพื้นฐานตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งใช้กฎหมายพิเศษเพื่อดูแลการชุมนุมจะต้องเป็นไปเท่าที่จำเป็นตามความฉุกเฉินของสถานการณ์ ไม่ใช่ประกาศใช้เป็นการทั่วไป และมีการกำหนดกรอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ที่ชัดเจน
กำลังโหลดความคิดเห็น