xs
xsm
sm
md
lg

ประธาน กสม.เรียกร้องเขมรให้ประกัน 5 คนไทย จี้เร่งเคลียร์เขตแดน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อมรา พงศาพิชญ์  (แฟ้มภาพ)
ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรียกร้องกัมพูชาให้ประกัน 5 คนไทยที่เหลือ พร้อมจี้รัฐบาลยกหลักกติกาสากลถกเขมรช่วยคนไทย ขณะเดียวกัน ให้รีบดำเนินการทำความชัดเจนในเรื่องเขตแดน

วันนี้(13 ม.ค.) นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงกรณี 7 คนไทยถูกทางการกัมพูชาควบคุมตัว ว่า การที่ กสม.ออกแถลงการณ์ขอให้รัฐบาลไทยเร่งช่วยเหลือ 7 คนไทย เนื่องจากเรื่องดังกล่าวต้องมีการนำกติกาสากลมาเป็นหลักพิจารณา โดยรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศต้องดูแลผู้ถูกจับกุมไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิ แต่กรณีดังกล่าวก็มีปัญหาเรื่องของเขตแดนมาเกี่ยวข้อง จึงจำเป็นที่รัฐบาลต้องเร่งทำความชัดเจนเสียก่อนที่จะตัดสินว่าคนไทยทั้ง 7 คน รุกล้ำเขตแดนหรือไม่

“แต่ระหว่างรอการตัดสินของศาลกัมพูชา คนไทยทั้ง 7 คน ต้องได้รับการดูแล และไม่ให้มีการละเมิดสิทธิ รวมไปถึงต้องได้รับสิทธิในเรื่องของการประกันตัว สิทธิการดูแลจากทนายหรือล่ามที่ผู้ถูกคุมขังสามารถเลือกได้เอง ซึ่งถือเป็นสิทธิการดูแลพลเมืองทั่วไปตามกระบวนการยุติธรรม ประกอบกับขณะนี้คดียังไม่ถึงที่สุด จึงควรได้รับการดูแลในส่วนนี้”

ผู้สื่อข่าวถามว่า ห่วงกรณี นายวีระ สมความคิด ระบุว่า ถูกยัดข้อหาหรือไม่ นางอมรา กล่าวว่า เรื่องทั้งหมดอยู่ที่กัมพูชา จึงต้องใช้กฎหมายของกัมพูชาในการพิจารณา แม้บางส่วนจะไม่ตรงกับกติกาสากล ทำให้เกิดความยากลำบากในการดำเนินการ ซึ่งกติกาสากลกำหนด ว่า ไม่มีกระบวนการที่จะลงโทษ เพราะฉะนั้นคงต้องมีการพูดคุยและต่อรองในเรื่องของกติกาสากลว่า เราควรได้รับการปฏิบัติตามหลักสากลหรือไม่ แต่หากประเทศกัมพูชาอ้างหลักกฎหมายภายในประเทศ ทางประเทศไทยก็คงต้องใช้กติการะหว่างประเทศมาเป็นข้อโต้เถียง ว่า สิ่งไหนมีความสำคัญกว่า

ส่วนกรณีที่กลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ จะเดินทางไปปิดด่านชายแดน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ซึ่งอาจจะเป็นการกระทบสิทธิประชาชนในพื้นที่นั้น ประธาน กสม.เห็นว่า สิทธิการชุมนุมมักจะถูกอ้างว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญที่สามารถทำได้ แต่การชุมนุมนั้นต้องไม่ไปกระทบกับสิทธิของผู้อื่น หรือสิทธิสาธารณะ ซึ่งถ้ามีการกระทำที่กระทบกับสิทธิของผู้อื่น หรือสิทธิสาธารณะ ก็ต้องมีการตรวจสอบเป็นกรณีไป แต่ที่ผ่านมาผู้ชุมนุมก็มักจะชอบอ้างสิทธิการชุมนุม ซึ่งเป็นประเด็นที่สามารถอ้างได้ แต่เป็นเรื่องยากที่จะนำมาเป็นประเด็นโต้เถียงกับสาธารณะได้

นางอมรา ยังกล่าวถึงการที่ศาลกัมพูชายังไม่ให้ประกันตัว 5 คนไทย ที่เหลือว่า ถ้าถูกจับกุมและยังไม่มีการตัดสินว่า ผิดหรือไม่ผิด ก็ควรได้รับการประกันตัว แต่ต้องขึ้นกับกฎหมายภายในประเทศกัมพูชาด้วย เพราะถือเป็นกติกาของประเทศกัมพูชา ประกอบกับบริเวณชายแดนเป็นพื้นที่ที่ยังไม่มีความชัดเจน ดังนั้น ควรรีบดำเนินการให้เกิดความชัดเจน ส่วนตัวคิดว่า ปัญหาเขตแดนใน จ.สระแก้ว ที่เป็นข้อพิพาทระหว่าง 2 ประเทศ คงทำให้เกิดความชัดเจนได้ไม่ยาก หากเปรียบเทียบกับกรณีปราสาทพระวิหาร อย่างไรก็ตาม กสม.คงไม่เดินทางไปตรวจสอบในพื้นที่ดังกล่าว เพราะไม่ใช่หน้าที่ เนื่องจากมีหน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น