ตุลาการศาล รธน.นัดชี้ชะตา เก้าอี้ รมช.มท. “ถาวร เสนเนียม” 8 มี.ค.นี้ เหตุเมียใช้ชื่อตั้งเป็นคณะบุคคลทำธุรกิจรับสอบบัญชีโดยไม่หวังผลกำไร แต่เปิดบริษัทบังหน้าเพื่อลดฐานภาษี โดยไม่ต้องแจง ป.ป.ช.
วันนี้ (4 มี.ค.) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนพยานกรณีประธานวุฒิสภา ส่งคำร้องขอให้พิจารณาความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ของคุณหญิงกัลยา โสภณพานิช รมว.วิทยาศาสตร์ และนายถาวร เสนเนียม รมว.มหาดไทย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 (7) ประกอบมาตรา 269 ที่ห้ามนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทฯ โดยการไต่สวนพยานครั้งนี้เป็นในส่วนที่กล่าวหานายถาวร รวม3 ปากประกอบด้วย น.ส.พรรณอร สุนทรามงคล นักวิชาการสรรพกรชำนาญการ ในฐานะผู้แทนอธิบดีกรมสรรพากร พล.ต.หญิง จันทิมา เสนเนียม ภรรยา และพล.ต.หญิง ชกานาฎ จันทรวงศ์ น้องภรรยาของนายถาวร
ทั้งนี้ คณะตุลาการฯสนใจซักถามในประเด็นเรื่องการจัดตั้งคณะบุคคลตามกฎหมายของกรมสรรพากร ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไรมีลักษณะเป็นการยืมชื่อบุคคลมาร่วมเพื่อทำการลดการจ่ายภาษีใช่หรือไม่ ซึ่ง น.ส.พรรณอรกล่าวชี้แจงว่า ความหมายของคณะบุคคล คือ 2 คนขึ้นไปมาร่วมทำกิจการที่ไม่หวังผลกำไร แต่เมื่อมีรายได้ก็ต้องเสียภาษี ที่ผ่านมากรมสรรพากรไม่เคยไปตรวจสอบว่ามีการประกอบกิจการที่ไม่หวังผลกำไรจริงหรือไม่ แต่จะดูว่า คณะบุคคลมีการเสียภาษีอย่างถูกต้องหรือไม่เท่านั้น ซึ่งส่วนตัวเท่าที่สังเกตบุคคลทั่วไปจะตั้งคณะบุคคลในกรณีต้องเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝากจำนวนมาก หรือต้องถือโฉนดรวมกันแล้วเกรงว่าในอนาคตจะมีการขายจะต้องเสียภาษีจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ในปี 52 อธิบดีรมสรรพากรมีนโยบายให้ยกเลิกการจัดตั้งคณะบุคคล เพราะพบว่าส่วนใหญ่ ไม่ได้มีการประกอบกิจการที่ไม่หวังผลกำไรจริง แต่กลับขอคืนภาษีเท็จจำนวนมาก ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ แต่ปัจจุบันยังมีผู้ขอจดจัดตั้งคณะบุคคล แต่กรมสรรพากรก็จะตรวจสอบวัตถุประสงค์ หากพบมีลักษณะในการแสวงหาผลกำไร ก็จะให้ไปจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดแทน
ด้าน พล.ต.หญิง จันทิมา กล่าวชี้แจงว่า ขณะที่รับราชการทหารก็ทำหน้าที่เป็นผู้สอบบัญชีรับใบอนุญาตด้วย จนปี 2545 พบว่าตนเองมีรายได้สูงทำให้ฐานภาษีที่ต้องเสียนั้นสูงไปด้วย จึงได้จัดตั้งเป็นคณะบุคคลเพื่อที่จะได้แยกการเสียภาษีออกมา โดยไปจดทะเบียนคณะบุคคลจันทรวงศ์ กับกรมสรรพากร ร่วมกับ พล.ต.ชกานาฎ มีเงินลงทุนคนละ 1 แสนบาท แต่ไม่ได้มีการลงทุนจริง เพราะใช้บ้านเป็นสำนักงาน โดยตลอด7 ปี มีรายได้ปีละ1แสนเศษ ซึ่งตนไม่ได้แบ่งรายได้ให้กับ พล.ต.ชกานาฎ เพราะเป็นการยืมชื่อมาตั้งคณะบุคคลเฉยๆ เพื่อลดฐานภาษีเท่านั้น และยอมรับว่าหากไม่ทำเช่นนี้รายได้ที่ได้รับก็จะต้องตกเป็นของสามีด้วย ซึ่งต้องแจ้งต่อ ป.ป.ช. แต่หลังนายถาวรถูก กกต.ตรวจสอบเรื่องนี้ในปี 52 นั้น ก็ไม่อยากให้เข้าใจผิดว่าเราต้องการหลบเลี่ยงภาษี และรู้สึกรำคาญใจจึงไปขอยกเลิกการจดทะเบียนเป็นคณะบุคคลแล้ว
ส่วน พล.ต.หญิง ชกานาฎ ยอมรับว่า ไม่ได้มีส่วนร่วมกับการตรวจสอบภาษี แต่เป็นการให้ชื่อกับพี่สาวไปก่อตั้งคณะบุคคล เและเมื่อมีรายรับเข้ามาก็ไม่เคยได้รับการแบ่งหรือตอนเลิกก็ไม่ได้รับทรัพย์สินอะไรคืน เพราะไม่ได้ร่วมลงทุนจริงตามที่แจ้ง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการไต่สวนแล้วศาลได้นัดให้คู่กรณีกฟังคำวินิจฉัยในวันอังคารที่ 8 มี.ค.นี้