เก้าอี้ มท.3 ยังไม่กระเด็น ศาล รธน.ชี้ “ถาวร” ไม่พ้นคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี เหตุ “คณะบุคคลวรจันทร์” ของเมียไม่เข้าข่ายเป็นห้างหุ้นส่วนที่ต้องห้ามตาม รธน.ม.269 แต่การดำเนินกิจการอาจเข้าข่ายผิด กม.อื่น ด้าน “เรืองไกร” เตรียมเช็กบิลต่อเหตุเลี่ยงภาษี
วันนี้ (8 มี.ค.) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำวินิจฉัยกรณีประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ที่ขอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายถาวร เสนเนียม รมช.มท.สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรค 1 (7) ประกอบมาตรา 269 เนื่องจากเห็นว่าการที่ พล.ต.หญิง จันทิมา เสนเนียม ภรรยาของนายถาวร ร่วมกับ พ.อ.หญิง ชกานาฏ วรจันทร์ (ขณะนั้น) ร่วมกันจัดตั้งคณะบุคคลวรจันทร์ กับกรมสรรพากร เพื่อรับตรวจสอบบัญชีนั้น คณะบุคคลที่ตั้งขึ้นมีลักษณะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 269 ห้ามมิให้คู่สมรสของรัฐมนตรีมีหุ้นหรือเข้าไปมีส่วนในกิจการของห้างหุ้นส่วน เนื่องจากอาจเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลง
ดังนั้น จึงมีประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัย ว่า คณะบุคคลวรจันทร์ มีลักษณะเป็นห้างหุ้นส่วนตามความหมายของรัฐธรรมนูญมาตรา 269 หรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า มาตรา 269 เป็นบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญกำหนดเป็นมาตรการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เพื่อไม่ให้เกิดการขัดกันในผลประโยชน์ แต่ทั้งนี้ ก็ไม่ได้มีการบัญญัติความหมายของ “ห้างหุ้นส่วน” ไว้ แต่เมื่อพิจารณาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ได้กำหนดในเรื่องของห้างหุ้นส่วนไว้ว่าหมายถึงการที่บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ตกลงเข้าร่วมเพื่อทำกิจการ และมีการแบ่งผลกำไรที่ได้จากกิจการนั้น ขณะที่ความหมายของคำว่า “คณะบุคคล” ตามประมวลกฎหมายรัษฎากร และการให้ถ้อยคำของผู้แทนอธิบดีกรรมสรรพากรต่อศาล ระบุว่า หมายถึงการเข้าร่วมกันของบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเพื่อทำการงานที่ไม่ได้แสวงหาผลกำไร และเมื่อนำมาพิจารณากับข้อเท็จจริงที่ พล.ต.หญิง จันทิมา และ พ.อ.หญิง ชกานาฏ เบิกความต่อศาลระบุว่า การจัดตั้งคณะบุคคลวรจันทร์ เป็นเพียงการแยกฐานภาษีที่ต้องชำระของ พล.ต.หญิง จันทิมา ออกมาเท่านั้น โดย พล.ต.หญิง จันทิมา เป็นผู้ลงทุนตั้งแต่จัดตั้งและกระทั่งเลือกคณะบุคคล และการรับประโยชน์ก็ไม่ได้มีการแบ่งปันให้กับ พ.อ.หญิง ชกานาฏ รวมทั้งไม่ปรากฏหลักฐานว่า ทั้งสองคนร่วมกิจการกันทำเป็นคณะบุคคล แต่กิจการคณะบุคคลวรจันทร์ เป็นของ พล.ต.หญิง จันทิมา เพียงผู้เดียว
“จากการกระทำดังกล่าว จึงไม่เป็นการกระทำในลักษณะคณะบุคคลและมีลักษณะเป็นห้างหุ้นส่วน ที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 269 ส่วนการดำเนินการของคณะบุคคลวรจันทร์จะเป็นการผิดกฎหมายอื่นหรือไม่ ไม่อยู่ในอำนาจที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย อาศัยเหตุดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า การจัดตั้งคณะบุคคลวรจันทร์ ของ พล.ต.หญิง จันทิมา ไม่เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของ นายถาวร เสนเนียม สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรค 1 (7)”
ด้าน นายเรืองไกร กล่าวภายหลังการรับฟังคำวินิจฉัยว่าจะรอคำวินิจฉัยกลางที่จะออกมา และจะทำการตรวจสอบว่านายถาวรแจ้งเท็จต่อ ป.ป.ช.หรือไม่ เพราะการตั้งคณะบุคคลของภรรยา เท่ากับว่าเป็นการหลบเลี่ยง ที่จะแจ้งรายได้ของภรรยา ซึ่งถือเป็นรายได้ของสามีที่ต้องแจ้งต่อ ป.ป.ช.ด้วย