คสป.เสนอรูปแบบ 1 จังหวัด 2 ระบบ ให้จังหวัดจัดการตนเองรวบ อบจ.รวมกับการบริหารราชการท้องถิ่น พร้อมเสนอเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทางตรง เบื้องต้นช่วงเปลี่ยนผ่านให้นายก อบจ.เป็นผู้ว่าฯ
นายสมพร ใช้บางยาง อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป ในคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป กล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องกระจายอำนาจและการถ่ายโอนภารกิจจากส่วนกลางไปยังท้องถิ่นว่า การกระจายอำนาจคืนกลับไปสู่ท้องถิ่นและชุมชนในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมารุดหน้าเร็วกว่ายุค 60 ปีก่อนหน้านี้ แต่ยังถือว่าล่าช้าจนทำให้เป็นชนวนทำให้เกิดปัญหาทางการเมืองที่เป็นผลมาจากการรวมศูนย์อำนาจรัฐ ดังนั้นนอกเหนือจากภารกิจการเร่งกระจายอาจ ทั้งด้านบุคลากรและการเงินการคลังแล้วยังต้องคิดถึงเรื่องการให้ท้องถิ่นได้ปกครองตัวเองด้วย ที่ผ่านมาเราได้ระดมสมองกับภาควิชาการและผู้นำท้องถิ่นจนได้ข้อสรุปว่า ควรให้จังหวัดสามารถจัดการตัวเองได้ด้วยแนวคิด 1 จังหวัด 2 ระบบ
นายสมพรกล่าวว่า การจะให้จังหวัดจัดการตัวเองตัวเองได้จะต้องเกิดจากการรวมองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และหน่วยบริหารราชการส่วนภูมิภาคเข้ามาเป็นองค์เดียวกันให้มีอำนาจหน้าที่และขีดความสามารถในการจัดการพื้นที่ของตนเองได้อย่างเบ็ดเสร็จ มีโครงสร้างทางการเมืองการบริหารใหม่ ระบบบริหารงานบุคคลใหม่และระบบการเงินการคลังและงบประมาณใหม่ โดยมีอำนาจหน้าที่จัดการพื้นที่ของจังหวัดได้อย่างกว้างขวางและเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ ทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาเมืองและโครงสร้างพื้นฐาน สวัสดิการสังคม ความปลอดภัยและการจัดทรัพยากรธรรมชาติ
“สำหรับโครงสร้างองค์กรของจังหวัดจัดการตัวเองนั้น ประกอบด้วยสภาจังหวัด ผู้ว่าการจังหวัด ปลัดจังหวัด ส่วนราชการประจำจังหวัด ข้าราชการจังหวัด โดยสภาจังหวัด ประกอบด้วย สมาชิกจำนวนไม่เกิน 50 คน มาจากทั้ง อปท.2 ใน 3 นอกนั้นมาจากภาคประชาสังคม โดยอนาคตควรให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านควรให้นายกฯ อบจ.เป็นผู้ว่าฯ” นายสมพรกล่าว
อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า สำหรับปลัดจังหวัดให้มีการสรรหาจากข้าราชการของจังหวัดที่มีความรู้ฯ โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านให้ ปลัด อบจ. หรือปลัดจังหวัดทำหน้าที่เป็นปลัดจังหวัด สำหรับหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดให้สรรหาจากหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด หัวหน้าส่วนงานของ อบจ.ในสายงานที่เกี่ยวข้องหรือจากภายนอก ในช่วงเปลี่ยนผ่านให้หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าส่วนราชการจังหวัด ส่วนข้าราชการจังหวัดให้โอนข้าราชการส่วนส่วนภูมิภาคและข้าราชการ อบจ.ไปเป็นข้าราชการจังหวัด เป็นต้น
นายสมพรกล่าวว่า สำหรับงบประมาณควรมีระบบการคลังและงบประมาณที่เป็นอิสระของตนเอง โดยใช้ระบบบัญชีตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐที่กระทรวงการคลังกำหนด และจังหวัดหนึ่งๆ ควรมีขนาดวงเงินรายได้ประมาณปีละ 13,000 ล้านบาทต่อจังหวัดต่อปี ถือว่าใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของวงเงินรายจ่ายรวมของทุกส่วนราชการและ อบจ.ในจังหวัดหนึ่งๆ ในปัจจุบัน
นอกเหนือจากนั้น ควรมีรายได้มาจาก 3 แหล่ง คือ 1.รายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2.เงินปันผลจากการร่วมทุนกับรัฐวิสาหกิจและหน่วยธุรกิจเอกชนและ 3.รายได้จากเงินอุดหนุนจากรัฐบาล โดยให้สำนักงบประมาณจัดสรรเงินงบประมาณของหน่วยราชการส่วนภูมิภาคเดิมให้แก่จังหวัดโดยตรงอย่างไม่ผ่านกรม
นายสมพรกล่าวว่า สำหรับการบริหารรายจ่ายนั้นให้จังหวัดมีระบบงบประมาณจังหวัดของตนเองในลักษณะเดียวกับ อบจ.เดิม แต่ให้ยกเลิกระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการจัดทำงบประมาณและการใช้จ่ายเงินที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกำหนดไว้ และให้มีระบบปฏิบัติการด้านการบริหารงบประมาณในลักษณะเดียวกับระบบ GFMIS ของกระทรวงการคลัง