“มาร์ค” เย้ยพันธมิตรฯ หลังสั่งตำรวจบุกรื้อเต็นท์ชุมนุม บอกขอบคุณที่เปิดช่องจราจรให้ เผยเป้าหมายต่อไปคือม็อบถนนพิษณุโลก ส่วนข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมต้องพูดคุยกัน
วันนี้(28 ก.พ.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ตำรวจนำกำลังกว่า 700 นายเข้ารื้อเต้นท์ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่กำลังชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก MOU 43 บริเวณเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ จนสามารถเปิดล่องทางจราจรได้ 2 ช่องบริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการว่า เท่าที่ทราบการดำเนินการก็เรียบร้อยดี ต้องขอขอบคุณผู้ชุมนุมที่ช่วยเปิดการจราจรให้ประชาชนได้สัญจรไปมาผ่านได้ เป็นความพยายามมาโดยตลอด และแนวที่เราพยายามใช้คือการอยากที่จะพูดคุยเจรจาให้เรียบร้อย ซึ่งตนเองหวังว่าจะเรียบร้อย ขณะนี้ก็ยังมีการดำเนินการอยู่
ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่าจะมีการเปิดพื้นที่การจราจรได้อย่างถาวรหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า หวังว่าจะอย่างนั้น เพราะทางเจ้าหน้าที่ก็ต้องการอย่างนั้น และตนเองคิดว่าผู้ชุมนุมเองก็ควรให้โอกาสกับพี่น้องประชาชนในการที่จะสัญจรไปมา ซึ่งการดูแลพื้นที่ทางตำรวจต้องเป็นผู้ดูแลให้
ส่วนการชุมนุมของกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ บริเวณถนนพิษณุโลก หน้าทำเนียบรัฐบาลเป็นเป้าหมายต่อไปที่ต้องดำเนินการหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ฉะนั้น จึงพยายามที่อยากจะเปิดเส้นทางให้ได้หมด เมื่อถามต่อว่า จากการที่นายกรัฐมนตรีอยากจะเจรจา หมายความว่ามีสัญญาณที่ดีขึ้นจากทางฝ่ายแกนนำที่จะพูดคุยกัน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หมายถึงเจรจาเรื่องพื้นที่ แต่ประเด็นที่เขาเรียกร้องอยู่นั้น มันก็ยังมีความเข้าใจที่แตกต่างกันมาก ซึ่งเป็นเรื่องในเชิงนโยบาย เพียงแต่ว่าตนยืนยันว่าข้อกล่าวหาที่ไปพูดถึงว่าการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในขณะนี้มีเจตนาที่จะนำไปสู่ความเสียหายและความสูญเสียต่างๆ ซึ่งตนเองยืนยันว่าไม่มี และดูทุกอย่างด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ
"ขณะนี้มีในเรื่องของผู้สังเกตการณ์ของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งจะดูให้รัดกุม ไม่ให้มีปัญหา ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้กำหนดพื้นที่ที่จะลง และเราคิดว่าขณะนี้ควรจะไปที่กลไกทวิภาคีก่อน เพราะว่าตามที่ทางฝ่ายไทยหรือทางฝ่ายกัมพูชาจะไปกำหนดพื้นที่กันฝ่ายเดียว ในแต่ละฝ่ายคงสร้างปัญหามากกว่า ฉะนั้น น่าที่จะไปใช้กลไกทวิภาคีในการที่จะพูดคุยเรื่องนี้ เพื่อที่จะให้ทางประเทศอินโดนีเซียได้สามารถปฏิบัติได้"
ผู้สื่อข่าวถามว่รา แต่ถ้าในวันที่ 7-8 มีนาคมนี้ การประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (เจบีซี)ไม่สามารถได้ข้อสรุป นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็อาจจะมีตัวประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา (จีบีซี) หรือคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาคไทย-กัมพูชา (อาร์บีซี) เป็นตัวพิจารณาก็ได้
ต่อข้อถามว่า ถ้าเช่นนั้น การส่งผู้สังเกตการณ์มาก็ต้องทอดเวลาออกไปก่อน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้เขายังต้องได้ข้อยุติในเรื่องของขอบเขตของพื้นที่ ซึ่งทางประเทศอินโดนีเซียเองก็รับทราบปัญหา เขาเองก็ได้ส่งหนังสือมาเมื่อวันที่ 25-26 ก.พ. ที่ผ่านมาขณะนี้ทางฝ่ายไทยได้ตอบไปแล้วว่าเราเห็นว่าถ้าหากต่างฝ่ายต่างไปกำหนดพื้นที่หรือแนวปฏิบัติ มันไม่สอดคล้องกันหรือไปส่งผลต่อการอ้างศึกอะไรต่างๆ จะทำให้เป็นปัญหามากขึ้น ฉะนั้น ก็ขอให้มีกลไกในลักษณะทวิภาคีเป็นตัวช่วยกำหนด
ผู้สื่อข่าวถามว่าถ้าส่งจากฝั่งไทย ในส่วนนี้จะถูกมองจากทางฝั่งกัมพูชาหรือไม่ว่า เราพยายามจะถ่วงเวลา นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่หรอกครับ เพราะไม่มีเจตนาถ่วงและเราก็จะเร่งรัดให้สามารถที่จะมีข้อยุติ ซึ่งยังไม่ทราบว่าทางฝ่ายอินโดนีเซียเห็นอย่างไร เพราะเพิ่งส่งกลับไป เมื่อถามต่อว่า ขณะนี้มีปฏิกิริยาจากทางฝั่งประเทศกัมพูชาบ้างหรือไม่ หลังจากผู้แทนเสนอเข้าร่วมสังเกตการณ์ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังเลยครับ