xs
xsm
sm
md
lg

“กษิต” รายงาน “มาร์ค” ให้อาเซียนประสานงานเจรจาทวิภาคีไทย-เขมร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กษิต ภิรมย์ (แฟ้มภาพ)
“กษิต” รายงานแนวทางเจรจาไทย-เขมรมายัง “มาร์ค” แล้ว โดยยืนยันจุดยืนจะร่วมมือกับอาเซียนในการเป็นผู้ประสานการเจรจาแบบทวิภาคี ชี้อียูก็เห็นด้วยกับการพูดคุยแบบทวิภาคี ส่วนทูตทหารที่ลงพื้นที่ดูความเสียหายบ้านภูมิซรอล เชื่อเป็นผลดีต่อไทยเพราะต่างเป็นห่วงราษฎรในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โวข้อเสนอผู้สังเกตการณ์อาจได้รับการตอบรับเพื่อประโยชน์ของไทย

นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฎิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ได้รายงานความคืบหน้าสถานการณ์ไทย-กัมพูชาต่อนายกรัฐมนตรีแล้วว่า พร้อมที่จะปรึกษาหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน อย่างไม่เป็นทางการในบ่ายวันนี้ (22 ก.พ.) ที่ประเทศอินโดนีเซีย โดยประเด็นที่ไทยจะยืนยัน คือ เราจะทำงานร่วมกับอาเซียนในฐานะผู้ประสานงานในการแก้ไขปัญหาไทย-กัมพูชา เพื่อให้สะท้อนเจตนารมณ์ความกังวลของสหประชาชาติ ซึ่งทางสหภาพยุโรป หรืออียู ได้แสดงความกังวลในเรื่องการหยุดยิง และการแก้ไขปัญหาที่อยู่ในกรอบไทย-กัมพูชา และการดูแลการใช้พื้นที่ที่เป็นมรดกโลกที่ไม่ใช้เป็นพื้นที่ตั้งทางการทหาร ซึ่งคิดว่าการประสานงานทางอาเซียนจะได้ทิศทางที่ดีขึ้น

ส่วนที่คณะทูตทหารลงไปในพื้นเมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา มีความเข้าใจประเทศไทยมากน้อยแค่ไหนนั้น นายปณิธานกล่าวว่า จากที่ทางคณะทูตทหารรายงานเข้ามาในเรื่องการลงพื้นที่หมู่บ้านภูมิซรอล และผามออีแดง จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นค่อนข้างมาก และมีความเป็นกังวลในเรื่องนี้ และได้สะท้อนถึงการไม่ใช่กำลังในการปะทะ โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้อาวุธหนักบริเวณพื้นที่ ซึ่งเรายืนยันว่านโยบายไทยคือการป้องกันตัวเอง

ทั้งนี้ ประเทศอาเซียนที่เข้าไปในพื้นที่มีครบทุกประเทศ ยกเว้นกัมพูชา และมีตัวแทนประเทศที่เป็นคณะมนตรีถาวร และเพื่อนบ้านเช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ รวมทั้งต้องมีการประสานงานให้มีการยุติการใช้กำลังในพื้นที่ ซึ่งมีความสอดคล้องกับความต้องการของไทย ซึ่งเรื่องการตกลงเบื้องต้นกัมพูชาขณะนี้อยู่ในการเตรียมตัว และเข้าใจว่าคณะทูตทหารที่ไปพูดคุยกับกัมพูชาจะรายงานให้ รมต.ต่างประเทศเพื่อรายงานในที่ประชุม

นายปณิธานกล่าวว่า จุดยืนของไทยแสดงให้เห็นแล้วว่า กลไกในพื้นที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ภายใต้กรอบ คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) และการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา (จีบีซี) เป็นกลไกที่ยืนยันเดินหน้าและพร้อม ซึ่งเรื่องนี้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะรายงานอาเซียนให้ทราบ และจะมีการสะท้อนไปที่สหประชาชาติ และสหภาพยุโรป

ผู้สื่อข่าวถามว่า สหภาพยุโรปต้องการให้มีการเจรจาแบบทวิภาคี นายปณิธานกล่าวว่า ก็มีความสอดคล้องกับสหประชาชาติที่ต้องการให้อาเซียน เป็นผู้ประสานงาน ซึ่งไทยก็ยินดี และการประสานงานก็จะทำให้ไทยสามารถแจ้งต่ออาเซียนทราบถึงเรื่องความคืบหน้า เช่นการที่ไทยเสนอให้มีการประชุมเจบีซี ซึ่งข้อเสนอของไทยก็จะมีความเดินหน้า ซึ่งข้อเสนอก็จะมีการรายงานต่อที่ประชุมนานาชาติเป็นระยะ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ากรอบที่ต้องการให้ไทยเดินหน้าในกรอบอาเซียนและทวิภาคียังทำงานได้อยู่ ซึ่งจะส่งผลให้กัมพูชากลับเข้ามาอยู่ในกรอบดังกล่าว

เมื่อถามว่า ในเวทีนานาชาติไทยถือว่ามีความก้าวหน้ากว่ากัมพูชาหรือไม่ นายปณิธานกล่าวว่า ไทยทำงานกับนานาชาติมาโดยตลอด และไทยเป็นประเทศที่เปิดกว้างและร่วมงานกับสหประชาชาติมาอย่างต่อเนื่อง จึงไม่มีปัญหาในเรื่องการประสานงาน หรือการให้ข้อมูล เพราะคิดว่าก็เป็นประโยชน์หากจะมีการตรวจสอบในการใช้อาวุธในพื้นที่ของไทย และการตรวจสอบก็ไม่ใช่แบบกองกำลังที่กัมพูชาต้องการ แต่เป็นผู้สังเกตการณ์ ซึ่งวันนี้นายกษิตจะไปหารือและดูความเหมาะสม โดยจะมีการปรึกษาหารือ ซึ่งคนที่เข้ามาจะต้องเป็นที่ยอมรับทั้งสองฝ่าย ซึ่งหากทำได้ก็จะทำให้กัมพูชาไม่สามารถโจมตีไทยได้ เพราะอาจจะมีคนรายงานอยู่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับเราและไม่มีหน้าที่หรือบทบาทในการเจรจา ส่วนคนที่เข้ามาสังเกตการณ์จะเข้าอยู่ทั้งสองฝั่ง

ผู้สื่อข่าวถามว่ากระแสข่าวที่กัมพูชาให้นักกฎหมาย 3 คน ที่มาจากฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ในการต่อสู้คดีนั้น นายปณิธานกล่าวว่า คิดว่าเรื่องการจะให้ใครเข้ามาเป็นเรื่องที่จะต้องมีการพูดคุยกันในกรอบของบรรดาประเทศสมาชิก ถ้าเป็นการทำงานในอาเซียนก็ต้องมีการหารือกันก่อนเพื่อดูความเหมาะสม แต่หลักการคงเป็นเรื่องการประสานงานเท่านั้น การที่จะเข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจาและไกล่เกลี่ยนั้นไม่มี เพราะเรื่องนี้ทางสหประชาชาติและอาเซียนก็เห็นพ้องตรงกันว่าจะต้องกลับไปใช้กลไกที่มีอยู่ก่อน

ต่อข้อถามว่า ทางกัมพูชาจ้างให้ฝรั่งเศสไปรื้อคำพิพากษาของศาลโลก นายปณิธานกล่าวว่า เป็นเรื่องของกัมพูชา ซึ่งไทยก็พร้อมที่จะดูว่าทิศทางที่เหมาะสมของไทยคืออะไร และกระทรวงการต่างประเทศเองก็มีที่ปรึกษา ซึ่งมีการพิจารณาข้อกฎหมายอยู่แล้ว ซึ่งจุดยืนของเราก็ต้องดูเรื่องนี้อีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น