xs
xsm
sm
md
lg

ทูตทหารอาเซียนลงพื้นที่บ้านภูมิซรอล รับฟังเหตุปะทะไทยเขมร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาพโรงเรียนภูมิซรอลวิทยาที่ได้รับความเสียหายจากเหตุปะทะไทยเขมร
ผู้ช่วยทูตทหารอาเซียนประจำไทย นำทูตทหาร 7 ประเทศ-6 ประเทศคู่เจรจาอาเซียน เว้นกัมพูชา ลงพื้นที่ชายแดนพิพาทไทย-กัมพูชา หมู่บ้านภูมิซรอล รับฟังหน่วยทหารชี้แจงเหตุปะทะสองฝ่าย เชื่อช่วยให้นานาชาติเข้าใจไทยต้องการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี ขณะที่ทัพภาค 2 ยืนยันไม่มีการลงนามหยุดยิงไทย-กัมพูชา แจงแค่คุยกันลดตึงเครียด ปัดข่าวเพิ่มกำลังพลประชิดชายแดน



วันนี้ (21 ก.พ.) พล.ท.ศิริชัย ดิษฐกุล รองเสนาธิการทหารบก ในฐานะผู้ช่วยทูตทหารอาเซียนประจำประเทศไทย นำผู้ช่วยทูตทหารอาเซียน 7 ประเทศ ยกเว้นประเทศกัมพูชา ได้แก่ อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า สิงคโปร์ เวียดนาม และบรูไน พร้อมด้วยผู้ช่วยทูตทหารจากประเทศคู่เจรจาอาเซียนอีก 6 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย และสหรัฐฯ ทั้งหมดจะเดินทางไปยังหมู่บ้านภูมิซรอล พื้นที่ทับซ้อนและพื้นที่พิพาทชายแดนไทย-กัมพูชาที่ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ

พล.ท.ศิริชัย ให้สัมภาษณ์ว่า เหตุการณ์ปะทะกันระหว่างทหารไทย-กัมพูชา ช่วงที่ผ่านมาเป็นที่สนใจของบรรดาผู้ช่วยทูตทหารต่างประจำประเทศไทย โดยเมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้มีการชี้แจงให้กับผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศไปแล้วครั้งหนึ่ง และครั้งนี้พาผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศรับฟังคำชี้แจงจากหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ และได้เห็นภาพต่าง ๆ จะได้เข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ รวมถึงจะพาไปดูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายที่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่กัมพูชายิงจรวดเข้ามาในบริเวณพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของประชาชน

พล.ท.ศิริชัย กล่าวว่า คณะผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศประจำประเทศไทยที่ลงไปในพื้นที่ 14 ประเทศ คือ กลุ่มประเทศอาเซียน 8 ประเทศ อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และ บูรไน ส่วนอีก 6 ประเทศ คือ จีน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย และ สหรัฐอเมริกา ยกเว้นเพียงประเทศกัมพูชา ทั้งนี้การลงพื้นที่ก็เพื่อต้องการทำความเข้าใจกับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอาเซียน และประเทศที่เกี่ยวข้องที่เป็นประเทศคู่เจรจากับประเทศอาเซียน ทั้ง จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เพื่อให้เข้าใจว่าการปฏิบัติของฝ่ายไทยนั้นมีหลักการที่ชัดเจนว่า การแก้ไขปัญหาของกองทัพไทยต้องการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี และเป็นฝ่ายริเริ่มในเรื่องนี้มาโดยตลอด รวมถึงข้อตกลงต่าง ๆ เพื่อทำอย่างไรในการปฏิบัติงานในชายแดนจะไม่เกิดการปะทะกันขึ้น ทั้งนี้การลงพื้นที่ดังกล่าวจะไม่เกี่ยวข้องกับการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอาเซียน ที่ประเทศอินโดนีเซีย ในวันที่ 22 ก.พ.นี้

ด้านพ.อ.ชินกาจ รัตนจิตติ ผู้อำนวยการกองกิจการพลเรือน กองทัพภาคที่ 2 เปิดเผยว่า สถานการณ์ชายแดนไทย - กัมพูชา ด้าน จ.ศรีสะเกษ ตั้งแต่เมื่อคืน เหตุการณ์ยังปกติ ไม่มีการเสียงปืนใหญ่ หรือ เหตุปะทะแต่อย่างใด หลังจากที่เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2554 ได้มีเสียงระเบิดดังขึ้นจากฝ่ายกัมพูชาถึง 2 ครั้ง ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าวนั้น ทำให้เกิดกระแสข่าวจากฝั่งกัมพูชา ว่า ทางทหารไทยได้เพิ่มกำลังพลประชิดชายแดนร่วมหมื่นนาย ตั้งแต่ จ.ศรีสะเกษ ไปถึง จ.ตราด ซึ่งตนขอปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง

ส่วนกรณีที่ผู้บังคับหน่วยทหารในพื้นที่ ทั้ง 2 ฝั่งชายแดนเข้าพบปะกันตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ เป็นเพียงการพูดคุยกันในระดับทหาร ที่ต้องการเจรจาให้หยุดยิงทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อลดการสูญเสียกำลังพล และลดความตึงเครียดแก่ประชาชนบริเวณชายแดน ไม่ใช่เป็นการเซ็นเอกสารลงนามข้อตกลงหยุดยิงถาวร
กำลังโหลดความคิดเห็น