ผ่าประเด็นร้อน
ยังแปลกใจไม่หายต่อผลสำรวจของชาวบ้านของ “เอแบคโพลล์” กลับออกมาว่ารัฐมนตรีที่อยากให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจมากที่สุดได้แก่ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงควบประธานนโยบายน้ำมันปาล์มแห่งชาติ สุเทพ เทือกสุบรรณ กับ นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 78.2 และ 71.1 ขณะที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พรทิวา นาคาศัย มีเพียงร้อยละ 43.4
แม้ว่าถ้าวัดจากผลงานที่ผ่านมาถือว่า “ห่วยแตก” พอกัน แต่ชาวบ้านเขามองออกว่าในกรณีปัญหา “น้ำมันปาล์ม” สมควร “ชี้หน้า” ด่าไปที่ใครก่อนตามลำดับ ซึ่งก็ถือว่า “ไม่ผิดตัว” เสียด้วย
เพราะถ้าสังเกตให้ดีไม่ว่าเรื่องไหนก็ตาม ถ้าลอง สุเทพ เข้าไปดูแลรับรองว่า “หายนะ” เมื่อนั้น ทั้งในเรื่องความปลอดภัย ความมั่นคงทั้งในชายแดนใต้ ชายแดนด้านกัมพูชา ผลงานที่ประจักษ์แก่สายตาอย่างไรก็เห็นกันอยู่ไม่ต้องสาธยายกันอีกแล้ว
กรณีปัญหาน้ำมันปาล์มขาดแคลน และราคาแพง ชาวบ้านเขาสงสัยกันมาตลอดว่า เป็นเพราะ “กลุ่มทุน” ในรัฐบาล โดยเฉพาะกลุ่มทุนที่ใกล้ชิดกับ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้ที่ทำธุรกิจปาล์มน้ำมัน “กักตุน” แสวงหากำไรบนความเดือดร้อนของชาวบ้านนานกว่า 3 เดือน เพราะนอกจากต้องซื้อน้ำมันปาล์มในท้องตลาดราคางแพงแล้ว ยังส่งผลทำให้ราคาสินค้าอื่นๆมีราคาแพงตามไปด้วย
อีกทั้งในช่วงที่ขาดตลาดอย่างรุนแรง จนหาซื้อไม่ได้ ทำให้บรรดาพ่อค้าแม่ค้าต่างต้อง “ปิดร้าน” เป็นการชั่วคราว หรือบางรายก็เลิกถาวรไปเลย “เจ๊ง” กันเป็นลูกโซ่
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาวิธีแก้ไขของรัฐบาลชุดนี้ทั้งนายกฯ อภิสิทธิ์ และรองนายกฯ สุเทพ ก็คือการ “สร้างภาพ” ด้วยการไล่บี้ในลักษณะของการ “โยนบาป” ให้กระทรวงพาณิชย์รับไปคนเดียวก่อน แต่เมื่อถูกสวนกลับและข่มขู่จาก เนวิน ชิดชอบ “ขาใหญ่” จากพรรคภูมิใจไทย โดยยกตัวอย่างเปรียบเทียบกรณี “ตัดจู๋” และ “ฟันหัวผัว” หรือแม้กระทั่ง “หนีไปมีชู้” เพียงแค่นี้ทุกอย่างก็ “หยุดกึก” ท่าทีอ่อนเป็นขี้ผึ้งลนไฟ
ขณะที่ผลการตรวจสอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตามคำสั่งของ สุเทพ ผลก็ออกมาตามคาด ไม่ต่างจากการ “ฟอกขาว” ให้เสร็จสรรพ เพราะก่อนหน้านี้หากสังเกตให้ดีจะพบว่า โรงงานกลั่นน้ำมันปาล์มบรรจุขวด “ยี่ห้อมรกต” ได้ถูกเข้าไปตรวจสอบเป็นบริษัทแรก โดยนำตัวอย่างน้ำมันปาล์มที่บรรจุขวด พร้อมเอกสารการจัดสรรโควตานำเข้าน้ำมันปาล์มจากกระทรวงพาณิชย์ มีการสอบสวนผู้บริหารทำเหมือนกับว่าบริษัทดังกล่าวมีการกระทำผิด ทั้งในเรื่องการกักตุน กลั่นน้ำมันปาล์มไม่ตรงกับปริมาณที่ได้รับการจัดสรรโควตา เป็นต้น
อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นปรากฏว่า ผู้ที่รับผิดชอบเป็นหัวหน้าคดี คือ พ.ต.อ.ณรัช เศวตนันท์ รองอธิบดีดีเอสไอ ได้รายงานผลเบื้องต้นต่อสุเทพว่า ผลการสอบสวนโรงงานทั้ง 10 แห่งที่ได้รับโควตาจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และอีก 3 โรงในจังหวัดสุราษฎร์ธานี พื้นที่ของ สุเทพ ซึ่งไม่ได้รับโควตาไม่พบการกระทำผิดแต่อย่างใด กลายเป็นว่าทุกโรงงานได้รับการ “การันตีความบริสุทธิ์” จากดีเอสไอไปเรียบร้อยแล้ว
สรุปว่าปัญหาการขาดแคลน-แพงของน้ำมันปาล์ม ไม่ได้เกี่ยวกับ 13 โรงงานเหล่านี้
แต่คำถามก็คือ ถ้าไม่มีการกักตุนกระทำผิดจากโรงงานที่ว่า อย่างนั้นมันก็หมายความว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นล้วนมาจากการบริหารที่ไร้ประสิทธิภาพของฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ผู้นำสูงสุดคือ นายกฯ อภิสิทธิ์ ที่ตั้ง สุเทพ เข้ามาเป็นประธานนโยบายปาล์มน้ำมัน และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พรทิวา นาคาศัย ใช่หรือไม่ ไม่ใช่พอผลสรุปจากดีเอสไอบอกว่าโรงงานไม่ได้กักตุนเรื่องก็จบ หาใช่ไม่
อีกทั้งการที่ นายกฯ อภิสิทธิ์ เดินทางไปเยี่ยมชม (ไม่ใช่ไปตรวจสอบ) โรงงานน้ำมันพืชมรกตที่จังหวัดสมุทรปราการเมื่อวันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มันก็เหมือนกับว่าเป็นการ “เล่นปาหี่” ไปการันตีให้กับโรงงานดังกล่าว แตกต่างจากท่าทีขึงขังก่อนหน้านี้ที่สั่งให้ ดีเอสไอเข้าไปตรวจเหมือนกับสงสัยว่าพบการกระทำผิด นาทีนี้เหมือนหนัง “คนละม้วน” ยังไงยังงั้น
นอกจากนี้ การเข้าไปเยี่ยมชมโรงงานยังมีการจัดรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยฯ” ที่นั่น พร้อมกับประกาศว่า “การขาดแคลนน้ำมันปาล์ม” ได้ผ่านไปแล้ว ถ้ามองเผินๆ เหมือนกับเป็นท่าทางของ “พระเอก” ใน “ละครน้ำเน่า” ไม่มีผิด ทั้งที่ประเด็นข้อเท็จจริงก็คือ ทำไมถึงต้องปล่อยให้ชาวบ้านต้องเดือดร้อนมานานกว่า 3 เดือน แต่มาถึงตอนนี้ทำเหมือนกับว่าตัวเองเป็น “ฮีโร่” หน้าตาเฉย ลงมาแก้ปัญหาให้ผ่านลุล่วงไปได้
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาวิกฤตน้ำมันปาล์มในครั้งนี้ หากเปรียบให้เห็นภาพมันก็ไม่ต่างจากกรณีปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา ปัญหาชายแดนใต้ หรือแม้แต่กรณีเกิดเหตุจลาจลเผาเมืองของคนเสื้อแดงเครือข่ายทักษิณ ที่นายกฯอภิสิทธิ์รอให้เกิดความเสียหายแทบจะย่อยยับขึ้นมาเสียก่อนแล้วถึง “ตาลีตาเหลือก” เข้าไป และลักษณะก็ออกมาในทาง “สร้างภาพ” บิดเบือน โดยปกปิดความจริงเอาไว้ และหากพูดกันแบบภาษาชาวบ้านก็คือ ต้องรอให้ “ชิ..หาย” ก่อนนั่นแหละ!!