ผ่าประเด็นร้อน
ไม่น่าเชื่อว่าในยุคนี้ ยุคที่พรรคประชาธิปัตย์ครองเมือง จะเกิดปัญหาน้ำมันปาล์มขาดแคลนและราคาแพงอย่างมหาโหด ทั้งที่เป็นประเทศผลิตปาล์มน้ำมันแหล่งใหญ่ของโลก
ภาพชาวบ้านต้องเข้าแถวยาวเหยียดเพื่อต่อคิวรอซื้อน้ำมันปาล์มบรรจุขวดที่จำกัดให้ซื้อได้ไม่เกินครอบครัวละ 2 ขวด ช่างเป็นภาพที่ต้องบอกว่าแปลกประหลาด
อย่างไรก็ดี หากย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน เหตุการณ์ในทำนองเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศไทย แต่คราวนั้นเป็นปัญหากรณีข้าวสารขาดแคลน ทั้งที่เป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็น “อู่ข้าวอู่น้ำ”
สำหรับปัญหาการขาดแคลนและมีราคาแพงของปาล์มน้ำมันในครั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาความแห้งแล้ง อุทกภัย แต่ส่วนสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือเกิดการ “กักตุน” เพื่อฟันกำไร ซึ่งกลุ่มที่ได้ประโยชน์ในครั้งนี้ก็เป็น “กลุ่มทุนการเมือง” ล้วนๆ ซึ่งนาทีนี้มีการพุ่งสายตาไปที่พรรคประชาธิปัตย์ เพราะเป็นความเข้าใจโดยอัตโนมัติว่ามีความเกี่ยวข้องกัน
ดังนั้น อย่าได้แปลกใจที่มีการปล่อยข่าวตามมาว่า มีนักการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์อักษรย่อ ส.-พ.-อ.อยู่เบื้องหลัง ได้ประโยชน์จากการกักตุนและนำเข้าน้ำมันปาล์มที่เกิดขึ้น
ขณะเดียวกัน หากพิจารณาจากสภาพความจริงก็ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นฐานเสียงหลักของพรรคประชาธิปัตย์เป็นแหล่งปลูกปาล์มน้ำมันแหล่งใหญ่ที่สุดของประเทศ และก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นเดียวกันว่ามีกลุ่มทุนที่ทำธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันปาล์มมีความเชื่อมโยงกับ ส.ส.และผู้มีอำนาจในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์อยู่ในขณะนี้อีกด้วย
สำหรับอักษรย่อดังกล่าวถูกปล่อยออกมาจากพรรคเพื่อไทยเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ดี ล่าสุดเมื่อวานนี้ (22 กุมภาพันธ์) นางอัญชลี วานิช เทพบุตร เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งในอดีตเคยมีเรื่องอื้อฉาวในกรณีที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ได้ออกมาปฏิเสธว่าเธอไม่มีผลประโยชน์กับธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม เป็นแค่การทำธุรกิจสวนปาล์ม ซึ่งเป็นต้นน้ำเท่านั้น พร้อมกันนี้ยังประกาศว่ากำลังตรวจสอบดูว่าจะสามารถฟ้องร้องเอาผิดได้หรือไม่ด้วย
ก่อนหน้านี้ สุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายน้ำมันปาล์มแห่งชาติ ก็ได้ออกมา “ตัดเกม” ย้ำว่าอักษรย่อ ส.เสือ ที่ว่านั้นไม่ใช่ตนเอง พร้อมกับกล่าวให้เห็นเป็นเรื่องตลกว่า ส.เสือดังกล่าวอาจจะเป็น พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย หรือ จ. ที่หมายถึง จตุพร พรหมพันธุ์ เป็นได้
ปัญหาการขาดแคลนและมีราคาแพงของน้ำมันปาล์มในปัจจุบันได้เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องนานนับเดือนแล้ว ถอืว่าสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านทั่วประเทศ เพราะน้ำมันปาล์มถือว่าวัตถุดิบพื้นฐานสำหรับการประกอบอาหาร รวมไปถึงสินค้าอุปโภคบริโภคอีกมาก เช่น บะหมี่สำเร็จรูป สบู่ ผงซักฟอก เป็นต้น หากน้ำมันปาล์มที่เป็นองค์ประกอบหลักมีราคาแพงมันก็ย่อมส่งผลให้ราคาอาหาร และสินค้าอุปโภคดังกล่าวต้องมีราคาแพงขึ้นไปด้วย มันก็ยิ่งสร้างความเดือดร้อนไปทั่ว
ที่ผ่านมาหากสังเกตให้ดีจะพบว่ามีความพยายามโยนบาปให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พรทิวา นาคาศัย จากพรรคภูมิใจไทยโควตากลุ่ม สมศักดิ์ เทพสุทิน ในทำนองว่าไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความล่าช้า มิหนำซ้ำพยายามชี้ให้เห็นเป็นนัยว่ามีความ “ไม่ชอบมาพากล”
ทั้งนี้ หากจะทบทวนเพื่อความเข้าใจกันอีกครั้งว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ที่มีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นประธาน ได้อนุมัติให้นำเข้าน้ำมันปาล์มดิบล็อตแรกจำนวน 3 หมื่นตัน ซึ่วเวลานี้กำลังทยอยออกมาจำหน่ายในรูปแบบทั้งบรรจุถุงและบรรจุขวดฝาจุกสีฟ้า ในราคาควบคุม 45-47 บาทตามแต่ประเภท ส่วนล็อตที่ 2 อนุมัติให้นำเข้าอีก 1.2 แสนตัน แต่ในความเป็นจริงกระทรวงพาณิชย์ยังไม่มีการนำเข้ามา โดยอ้างว่าติดปัญหาในเรื่องราคาที่เพิ่มสูงขึ้น จนไม่มีเอกชนรายใดเข้ามาประมูลขอนำเข้า
ทำให้ปัญหาการขาดแคลนน้ำมันปาล์มในตลาดยังคงมีอยู่ต่อไป ประกอบกับมีข่าวว่าจะมีการปรับราคาน้ำมันปาล์มขึ้นมาอีกขวดละ 9 บาท มันก็ยิ่งส่งผลให้มีการ “กักตุน” เพื่อรอนำออกขายในราคาใหม่ ทำให้เกิดความขาดแคลนมากขึ้นไปอีก
ปัญหาที่เกิดขึ้นมันยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าการบริหารจัดการตั้งแต่ระดับบนสุดคือ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่เข้ามาดูแลปัญหาน้ำมันปาล์มอย่างพิลึกพิลั่น รองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจ ไตรรงค์ สุวรรณคีรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ธีระ วงศ์สมุทร รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พรทิวา นาคศัย มีความล้มเหลว ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ใช่เอาตัวรอดโยนความผิดให้กับคนอื่นรับเคราะห์เพียงฝ่ายเดียว ขณะเดียวกันฝ่ายที่ถูกกระทำจะต้องกล้าหาญออกมาเปิดโปงให้หมดว่าใครบ้างที่มีผลประโยชน์บนความเดือดร้อนของประชาชนจากวิกฤติน้ำมันปาล์มครั้งนี้ให้สังคมได้รับรู้
สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ก็สมควรหยุดใช้ “วิชามาร” ในการทำลาย ฝ่ายตรงข้าม หรือเพื่อ “กลบเกลื่อน” ความไม่ชอบมาพากลของตัวเองที่ทำเอาไว้ เพราะกรณีสั่งการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้ามาตรวจสอบ โดยเข้าไปตรวจสอบโรงงานน้ำมันปาล์มหลายแห่ง ถูกมองว่าไม่ต่างจากการ “ฟอกผิด” ให้กับนักการเมือง และที่น่าสังเกตก็คือการเข้ามาดูแลของดีเอสไอดังกล่าวยังถูกตั้งคำถามว่ามีการอนุมัติจากคณะกรรมการคดีพิเศษแล้วหรือไม่ เพราะมีการรับรู้กันว่าเป็นแค่การรับคำสั่งจากสุเทพ เทือกสุบรรณ เท่านั้น
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน จนมีเสียงก่นด่ารัฐบาลภายใต้การนำของ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กันรอบทิศ ดังเสียงสะท้อนจากชาวบ้านผ่านผลสำรวจจากสำนักต่างๆ รู้สึกไม่พอใจและเชื่อว่ามีการทุจริตจากปัญหาดังกล่าวกว่าร้อยละ 72 และยังเร่งเร้าให้ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในเรื่องปาล์มน้ำมันโดยเร็วที่สุด และยิ่งมีข้อมูลอักษรย่อนักการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์ ที่ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจในรัฐบาลเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ มันก็ยิ่งน่าจับตา เพราะคนพวกนี้ล้วนแต่เคยอื้อฉาวในกรณี ส.ป.ก.4-01 มาแล้วทั้งสิ้น
แม้ว่าปัญหาในปัจจุบันจะต่างกันกับอดีต แต่เมื่อเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกัน มันก็ย่อมเกิดคำถามว่าตามมาทันทีว่าความ “หายนะ” กำลังจะมาเยือนอีกครั้งหรือไม่!!