xs
xsm
sm
md
lg

“หญิงหน่อย” จับโกหก “มาร์ค-เทือก” ซัดบิดเบือนโครงสร้าง ท้า DSI สอบต้นทาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย (แฟ้มภาพ)
“สุดารัตน์” ซัด “มาร์ค” แก้น้ำมันปาล์มพลาดซ้ำซาก ถามไร้ความสามารถ หรือจงใจปั่นราคา จับโกหก “นายกฯ-สุเทพ” ยกสถิติชี้พื้นที่ปลูกเพิ่ม แต่สต๊อกน้ำมันลดตั้งแต่ ก.ย. จงใจทำให้สินค้าขาด ฉะให้ขึ้นราคาไม่มีทางลง ชี้ ดีเอสไอปราบแค่ปลายน้ำ ท้าไปสอบต้นทาง ฉะบิดเบือนโครงสร้างราคา แนะ ส.ส.-ส.ว.ลากไส้

วันนี้ (21 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานมูลนิธิไทยพึ่งไทย และอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย กล่าวถึงการแก้ปัญหาราคาน้ำมันปาล์มแพงของรัฐบาล ว่า จะเห็นว่าการแก้ปัญหาของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น และจนถึงขณะนี้ก็ยังคงแก้ปัญหาผิดพลาดซ้ำซากอีก แต่จะผิดพลาดด้วยความไร้ความสามารถ หรือจะจงใจทำให้เกิดปัญหาวิกฤติน้ำมันปาล์มเพื่อปั่นราคาก็ยังเป็นคำถามของสังคมอยู่ แต่ไม่ว่าจะเป็นเพราะทำงานไม่เป็นหรือจงใจปั่นราคาก็เป็นการปล้นเงินในกระเป๋าของประชาชน 60 ล้านคน กลไกการแก้ปัญหาปาล์มน้ำมันในอดีตจะมีกลไกแก้ไขอยู่ 2 อย่างเหมือนวอลลุ่มปรับซ้ายขวาให้สมดุล ซึ่งโดยปกติรัฐบาลจะมีสต๊อกน้ำมันปาล์มอยู่ 2 แสนตันเป็นตัววัด ถ้าสต๊อกลดถึงจุดที่น่ากลัวจะต้องนำเข้าก่อนเป็นช่วงสั้นๆ เพื่อรักษาระดับราคา ไม่ให้ราคาน้ำมันปาล์มที่ประชาชนบริโภคพุ่งสูง อีกกลไกคือ การผลิตไบโอดีเซลเมื่อผลผลิตปาล์มดิบมีมากก็ให้ส่งเข้าผลิตไบโอดีเซล เพิ่มขึ้น เพื่อไม่ให้ราคาผลผลิตปาล์มสดที่เกษตรกรขายราคาตกต่ำ จนขาดทุน ในอดีตที่รัฐบาลก่อนทำมาใช้กลไกดังกล่าวทั้งสองขาช่วยได้ทั้งประชาชนและเกษตรกร

คุณหญิง สุดารัตน์ กล่าวว่า ต้องขอจับโกหกนายกรัฐมนตรีและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ที่ท่องคาถากันอยู่อย่างเดียวว่าผลผลิตปาล์มปีนี้ขาดแคลนเพราะน้ำท่วมผลปาล์มเสียหายนั้นไม่เป็นความจริงเลย ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรพบว่าปี 52 พื้นที่ผลิตปาล์มมี 3.1 ล้านไร่ ผลผลิต 8.1 ล้านตัน ปี 53 พื้นที่ผลิต 3.5 ล้านไร่ ผลผลิต 8.2 ล้านตัน มากกว่าปี52 ด้วยซ้ำเพราะพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น และความจริงตัวเลขสต๊อกน้ำมันปาล์มปี 53 เริ่มมีปัญหาตั้งแต่เดือน ก.ย.จาก 2 แสนตันเหลือ 1.8 แสนตัน จนมาถึงเดือน ต.ค.หายไปครึ่งหนึ่งเหลือแค่ 1.3 แสนตัน จน พ.ย.เหลือ 9 หมื่นตัน ธ.ค.53 และ ม.ค.54 ไม่มีเหลือ แต่รัฐบาลทิ้งเวลาไป 5 เดือนตั้งแต่เห็นสัญญาณในเดือน ก.ย.53 โดยไม่ทำอะไร เพิ่งมาประชุมคณะกรรมการปาล์มน้ำมันกลางเดือน ม.ค.ซึ่งก็ยังแก้ไขผิดวีธีอีกแบบที่ไม่มีใครเขาทำกัน ราคาสินค้าเมื่อขึ้นไปแล้วไม่มีทางจะลง เพราะ ครม.กลับไปอนุมัติให้ขึ้นราคาน้ำมันปาล์มขวดก่อน แล้วถึงจะมาอนุมัติให้นำเข้าในครั้งแรกแค่ 3 หมื่นตัน ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการ แต่ตอนหลังกลับมาอนุมัติให้นำเข้า 1.2 แสนตัน ในช่วงที่เดือน มี.ค.ผลปาล์มสดจะออกสู่ตลาดแล้ว

คุณหญิง สุดารัตน์ กล่าวว่า 1.2 แสนตัน ที่อนุมัติให้นำเข้า แสดงให้เห็นว่า ปล้นจากชาวบ้าน 67 ล้านคนไม่พอ คุณกำลังจะเตรียมแผนปล้นจากเกษตรกรอีก ที่จริงเกษตรกรก็ปลูกปาล์มเยอะถึง 80% อยู่แถว จ.สุราษฎร์ธานี กระบี่ ชุมพร เมื่อผลผลิตปาล์มน้อยกรรมการนโยบายปาล์มฯต้องคอยกำกับควบคุม แต่ตั้งแต่เดือน ก.ย.53 กลับไม่ได้ทำกลับปล่อยให้ยังปล่อยให้ส่งออกน้ำมันปาล์มในปริมาณมาก และยังให้ผลิตไบโอดีเซลจาก 2 แสนตัน เป็น 4 แสนตัน ในปี 53 เหมือนมีความจงใจที่จะเอาน้ำมันปาล์มออกนอกระบบ ทำให้ขาดสต๊อกจนเกิดปัญหาแล้ว ครม.ต้องอนุมัติให้เพิ่มราคา ไม่เคยมีรัฐบาลไหนที่เห็นแก่ประชาชนเขาทำกัน วันที่นายกฯอนุมัติให้ครม.ขึ้นราคาน้ำมันปาล์มขวดอีก 9 บาท แล้วบอกว่าจะไม่กระทบสินค้าอื่น เพราะสั่งกำชับแล้วไม่ให้สินค้าอื่นขึ้นราคาตาม แล้วตอนนี้ราคาปาล์มขวดละ 47 บาทก็ซื้อไม่ได้ สินค้าอื่นไม่เว้นก๋วยเตี๋ยว ข้าวแกงก็พาเหรดขึ้นราคาไม่ต่ำกว่า 20 % การให้ดีเอสไอมาปราบมันปลายน้ำ

“สิ่งที่เกิดขึ้น คือ การบิดเบือนโครงสร้างราคา ต้นเหตุจากครม.อนุมัติให้ขึ้นราคาลิตรละ 9 บาท แล้วไปกำหนดราคาปาล์มสด กก.ละ 11-15 บาท แต่โรงหีบไปซื้อจากเกษตรกรแค่ กก.ละ 6 บาท ส่วนต่างอย่างน้อย กก.ละ 5 บาท ซึ่งต้องใช้ปาล์มสดถึง 7 กก.ถึงจะได้น้ำมันปาล์ม 1 กก.ดังนั้น คิดเป็นเงิน 35 บาทต่อน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 1 ขวดลิตร เป็นต้นทุนที่ถูกเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ว่าไปเข้ากระเป๋าใคร ตรงนี้เป็นต้นน้ำที่มีคนรวยกันเยอะ เมื่อปลายน้ำเห็นอยากรวยบ้างก็กักตุนบ้างไม่ร้ายแรงเท่าต้นน้ำ ดีเอสไอถ้าแน่จริงควรไปดูที่ต้นทาง และเรื่องนี้ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนหนักหนา ส่วนจะเป็นการสมรู้ร่วมคิดกันของใคร ทำให้เกิดวิกฤตหรือไม่ก็ต้องตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่าเป็นวิธีการบริหารงานที่ผิดปกติ เป็นหน้าที่ ส.ส.และ ส.ว.ต้องเอาคนที่ทุจริตออกมาให้ได้” คุณหญิง สุดารัตน์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น