หน่วยสื่อและตอบโต้เร็วของกัมพูชา ปฏิเสธข้อกล่าวหา “มาร์ค” และ “กษิต” ที่ระบุว่ากัมพูชาโจมตีก่อน และใช้ปราสาทพระวิหารเป็นฐานทางทหาร ยอมรับมติ UNSC ที่ให้อาเซียนช่วยไกล่เกลี่ย โดยอยากให้อาเซียนระบุว่าใครก่อเหตุโจมตีก่อน และร่วมเป็นพยานว่ากัมพูชาไม่มีศักยภาพในการโจมตีไทย
หน่วยสื่อและตอบโต้เร็วของสำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ออกแถลงการณ์ปฏิเสธข้อกล่าวหาของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ระบุว่ากัมพูชาเป็นฝ่ายโจมตีก่อน และการใช้ปราสาทพระวิหารเป็นฐานการยิงอาวุธหนัก และระบุว่ากัมพูชาอ่อนด้อยกว่าไทยในหลายๆ ด้าน เช่น จำนวนประชากร ขนาดของเศรษฐกิจ กำลังทหาร และความทันสมัยของอาวุธ พร้อมทั้งระบุว่าไทยพยายามกีดกันการเข้ามาของประชาคมนานาชาติในการพิสูจน์ข้อเท็จจริง โดยกัมพูชายอมรับต่อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และยินดีที่ประชาคมอาเซียนจะเข้ามาไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้ง เนื่องจากการเจรจาทวิภาคีนั้นล้มเหลว โดยต้องการให้อาเซียนระบุตัวผู้ก่อเหตุ และร่วมเป็นพยานว่ากัมพูชาไม่มีศักยภาพในการโจมตีไทย
เว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟ ได้แปลเอกสารแถลงการณ์ดังกล่าว ดังนี้
——————————————–
แถลงการณ์
หน่วยสื่อและตอบโต้เร็ว สำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธข้อกล่าวหาของนายกรัฐมนตรีไทย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐมนตรีต่างประเทศไทย กษิต ภิรมย์ ตีพิมพ์ในเดอะเนชั่น และเอเอสทีวี แมเนเจอร์ออนไลน์ ตามลำดับ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2011 ว่ากัมพูชาเริ่มการปะทะใกล้ปราสาทพระวิหาร และปราสาทถูกใช้เป็นฐานการโจมตี
ข้อกล่าวหาของนายกรัฐมนตรีไทยขัดต่อหลักเหตุผลและสามัญสำนึก กัมพูชาไม่ได้พยายามเปลี่ยนสถานการณ์พรมแดน ซึ่งเป็นที่ยอมรับของนานาชาติมาเป็นศตวรรษ และ โดยเฉพาะนับแต่การตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ปี ค.ศ. 1962 เป็นประเทศไทยที่พยายามเปลี่ยนความจริงนี้ ปราศจากฐานทางกฎหมายสำหรับการเปลี่ยนแปลง และตอนนี้กำลังพยายามสร้างโดยใช้วิธีทางทหาร
ยิ่งกว่านั้น กัมพูชาขาดหนทางที่จะท้าทายประเทศไทยในทางทหาร ประชากรกัมพูชาน้อยกว่าหนึ่งในสี่ของประเทศไทย ขนาดจีดีพีประมาณหนึ่งในยี่สิบของจีดีพีไทย จำนวนกำลังทหารของกัมพูชาประมาณหนึ่งในแปดของประเทศไทย และประเทศไทยติดอาวุธทันสมัยเป็นอย่างดี รวมถึงกำลังทหารอากาศและทหารเรือ ซึ่งประเทศไทยได้ข่ม ขู่อย่างเปิดเผยว่าจะใช้กับกัมพูชา
ในเรื่องการสู้รบที่พรมแดน เป็นรัฐบาลไทยซึ่งพยายามจะเก็บความเห็นของประชาคมนานาชาติไว้ในที่มืด นายกรัฐมนตรีไทยได้พยายามที่จะกีดกันผู้สังเกตการณ์ที่เป็นกลาง และพยายามแม้กระทั่งจะกีดกันตัวแทนของยูเนสโกที่จะเข้าไปยังปราสาทพระวิหารเพื่อตรวจสอบความเสียหายที่เกิดจากทหารไทย ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลไทยหาหนทางปิดประตู เพื่อซุกซ่อนอดีตของตนและการรุกรานที่กำลังดำเนินอยู่
กัมพูชาประทับใจความพยายามของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่จะป้องกันการต่อสู้รอบใหม่ ที่จะป้องกันความสูญเสียต่อมนุษย์ในอนาคต และเพื่อปกป้อง แหล่งมรดกโลกในกัมพูชา ปราสาทพระวิหาร
ในการสนับสนุนให้อาเซียนเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ยุตินโยบายของรัฐบาลไทยในการที่จะปิดประตูประชาคมภูมิภาคและนานาชาติ ที่มีเป้าหมายจะใช้ความแข็งแกร่งทางทหารเพื่อให้สมความใฝ่ฝันในดินแดนที่วางแผนมายาวนาน ดังที่รัฐบาลไทยก็ทราบว่าการเจรจาสองฝ่ายไม่มีความคืบหน้า แต่สนอง เจตนาที่จะตีกัมพูชาเบื้องหลังฉาก ขณะที่การพบหารือทวิภาคีระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของสองประเทศเกิดขึ้นที่เสียมราฐ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2011 กองทัพบกไทยได้ โจมตีกัมพูชาเช่นกัน
กัมพูชายินดีต้อนรับการสนับสนุนอาเซียนของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ในความพยายามไกล่เกลี่ยอย่างจริงจังเพื่อสร้างกลไกที่จะช่วยป้องกันการโจมตีรอบ ใหม่โดยประเทศไทย ยิ่งกว่านั้น กลไกอาเซียนนี้สามารถสร้างสถานการณ์ที่โปร่งใสและสร้างความเชื่อมั่นต่อกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้มั่นใจว่าการยุติการสู้รบจะเกิดขึ้น กลไกอาเซียนนี้ควรได้ระบุผู้ก่อเหตุ และเพื่อเป็นพยานว่ากัมพูชามีฐานทหารที่มีความสามารถเปิดการโจมตีประเทศไทยหรือไม่ กลไกดังกล่าวควรเป็นไปได้ที่จะดำเนินการได้ ทันเวลา สันติและเป็นทางออกถาวร
พนมเปญ, 15 กุมภาพันธ์ 2011
หน่วยสื่อและตอบโต้เร็ว